by Jitta
วันที่ 5 เม.ย. 2560 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 12 ม.ค. 2566
# 1 : Portfolio Management

ตามที่ผมได้สัญญาไว้นะครับว่า จะมาเขียนอธิบายเกี่ยวกับหลักการมองภาพรวมการลงทุนของเราในเชิง Portfolio เพื่อให้เราวิเคราะห์การลงทุนได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น และพร้อมกันนี้จะได้เข้าใจที่มาที่ไปและวิธีการใช้งาน Jitta Portfolio ไปด้วยในตัวครับ

(ใครที่ยังไม่ได้เข้าไปลองใช้งาน Jitta Portfolio สามารถเข้าไปใช้งานได้ที่ www.jitta.com/portfolio)

ทั้งนี้ตัวอย่าง Portfolio ที่ผมนำมาใช้อธิบายในครั้งนี้ คือ พอร์ตการลงทุนตาม Jitta Ranking Top 5 หรือ Jitta Ranking Top 10 ตั้งแต่สิ้นปี 2008 เป็นต้นมานะครับ (เลือกแบบ random นะครับ ไม่ได้มีหลักการว่าทำไมปีนี้เลือก Top 5 ทำไมปีนี้เลือก Top 10) และทำการซื้อขายแค่ปีละ 1 ครั้ง ตามหลักการของ Jitta Ranking ปรกติครับ

ซึ่งภาพ Portfolio ตัวอย่างนั้นก็คือ Portfolio ณ ปัจจุบัน โดยเลือกซื้อตาม Jitta Ranking Top 10 ของสิ้นปี 2013 โดยซื้อเฉลี่ยทุกตัวเท่าๆกันตัวละ 10% และถือมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน (10 Nov 2014) ซึ่งโดยหลักการลงทุนที่ดีแล้ว มีเรื่องที่เราควรจะต้องเรียนรู้ดังนี้ครับ

1. ให้มองผลตอบแทนรวมของพอร์ตการลงทุนแบบ YTD (Year To Date)

จะเห็นว่าในหน้า Summary ของ Jitta Portfolio นั้น ในส่วนของ Tab Performance นั้น หน้าตาก็จะคล้ายๆกับพอร์ตที่เราเห็นได้ทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบของพอร์ตพื้นฐาน ที่ให้เราเห็นว่า หุ้นแต่ละตัวที่เราลงทุนไปนั้นได้ผลตอบแทนกลับมาเท่าไหร่บ้าง และโดยรวมทั้งพอร์ตนั้น เรากำไรขาดทุนอยู่เท่าไหร่ (ตรง Gain และ Gain %)

ซึ่งจะเห็นว่าจากทั้งหมด 10 ตัวในพอร์ตนั้น มีหุ้นที่กำไรเกิน 20% อยู่ 6 ตัว หุ้นที่กำไรน้อยกว่า 20% อยู่ 3 ตัว และหุ้นที่ขาดทุน 4.28% อยู่ 1 ตัว

ข้อมูลเพียงแค่นี้บอกอะไรเราไม่ได้มากเกี่ยวกับความสามารถในการลงทุนของเรา เพราะสิ่งที่ขาดไปคือ ช่วงเวลาที่เราลงทุนในหุ้นแต่ละตัวครับ เพราะอย่าลืมว่าเวลาเราวัดผลตอบแทนการลงทุนนั้น เราจะต้องคิดเป็นรายปี และ นำไปเทียบกับ ผลตอบแทนรายปีของการลงทุนอื่นๆ เช่น ฝากธนาคาร หรือ ซื้อพันธบัตร หรือ ผลตอบแทนรวมของตลาด เป็นต้น

เช่น สมมติว่า หุ้นตัวที่เราได้กำไร 55.42% นั้น เราซื้อและถือมานาน 5 ปีแล้ว เท่ากับว่าเราได้ผลตอบแทนทบต้นต่อปีเพียงแค่ 9.22% เท่านั้นเอง หรือ ถ้าหากว่าถือมานาน 3 ปี ผลตอบแทนทบต้นก็จะเท่ากับ 15.83% ต่อปี (ซึ่งถ้าเป้าหมายการลงทุนของเราอยู่ที่ 20% ต่อปี ก็ถือว่า เราทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายพอสมควร)

ดังนั้นการที่รู้แค่ Total Gain ว่าได้กำไรนั้น เป็นเพียงภาพลวงให้เราดีใจว่าเราได้กำไร แต่ไม่ได้บ่งบอกความสามารถที่แท้จริงว่า เราลงทุนได้ดีแค่ไหน และ ผลตอบแทนที่ได้รับ เป็นไปตามแผนการลงทุนของเราหรือเปล่า เมื่อวัดผลไม่ได้ ก็ ไม่สามารถทำให้เราเรียนรู้อะไรจากการลงทุนได้เลย

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ Jitta Portfolio จึงมีตัวเลข YTD (Year To Date) Return อยู่ทางด้านซ้ายบนเสมอ เพื่อให้เราได้เห็นผลตอบแทนการลงทุนของเราชัดเจนขึ้นว่า ตั้งแต่ต้นปีมานั้นผลตอบแทนการลงทุนของเราอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ อย่างในกรณีตัวอย่าง YTD Return ของปี 2014 ของพอร์ตนี้อยู่ที่ 28.19%

เมื่อเทียบกับดัชนี SET 50 ที่มีผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 18.98% ก็ถือว่าเราทำได้ดีว่าตลาดเกือบๆ 10% ซึ่งถือได้ว่าค่อนข้างดีทีเดียวครับ

ถ้าเป้าหมายการลงทุนของเราอยู่ที่ 20% ต่อปี ก็ถือว่าเราทำได้ดีกว่าเป้าหมายเกือบๆ 10% เช่นเดียวกัน ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีเช่นเดียวกัน

การคิดตัวเลขผลตอบแทน YTD Return นั้น ก็คิดโดยวัดจากต้นปีว่ามี Total Asset เท่าไหร่ (นับจากราคาหุ้นสุดท้าย ณ วันสิ้นปีที่แล้ว) และปัจจุบันมี Current Asset เท่าไหร่ (ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน) ก็จะทำให้เราเห็นภาพการลงทุนของปีนี้ได้ทันที โดยไม่เกี่ยวข้องว่า ถือหุ้นแต่ละตัวมากี่ปี หรือ กี่เดือนแล้วครับ

ซึ่งการที่เรามีตัวเลข YTD Return นี้ จะทำให้ชีวิตเราไม่ตื่นเต้นวุ่นวายกับการลงทุนมากจนเกินไป เพราะเราจะไม่ไปวุ่นวายกับราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นลงในแต่ละวันของหุ้นแต่ละตัวมากมายนัก หุ้นตัวไหนได้กำไรมาก หุ้นตัวไหนขาดทุนมาก ก็ไม่ค่อยมีผลอะไรกับสภาวะอารมณ์เราเท่าไหร่ เพราะตราบเท่าที่ตัวเลข YTD Return ยังคงชนะเป้าหมายที่เราตั้งไว้ในแต่ละปี เราก็ยังคงมีความสุขเสมอครับ

และเมื่อสภาวะทางอารมณ์ของเรานิ่งแล้ว เราจะมองการขาดทุนในหุ้นบางตัวเป็นเรื่องปรกติ และเป็นบทเรียนให้เราได้เรียนรู้และค้นหาว่า ทำไมเราถึงขาดทุน มีอะไรที่เราทำพลาดไปบ้าง เพื่อใช้ในการพัฒนารูปแบบกลยุทธ์การลงทุนของเราต่อไปครับ

2. ให้แยกเงินสดเพื่อการลงทุน (Cash for investment) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุนเสมอ

สำหรับนักลงทุนนั้น สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำให้ชัดเจนก็คือ การแยกบัญชีใช้จ่ายส่วนตัว ออกจากบัญชีการลงทุนให้ชัดเจนครับ เพื่อที่เราจะได้สามารถคำนวณผลตอบแทนการลงทุนของเราได้ถูกต้อง

จะเห็นว่าด้านล่างของ Jitta Portfolio จะมี Cash อยู่ด้วยเสมอ และ Total Portfolio ก็จะรวม Cash เข้าไปด้วย เพราะถือเป็นทรัพย์สินหนึ่งที่เราถือไว้ด้วยนอกจากหุ้นครับ ดังนั้นเวลาคำนวณผลตอบแทนการลงทุนก็ต้องคิดรวมจากทรัพย์สินทั้งหมดครับ

สมมติว่า เรามีเงินลงทุนทั้งหมด 1,000,000 บาท แล้วเรานำเงิน 300,000 บาทไปซื้อหุ้น และได้กำไรกลับมา 150,000 บาท เราอาจจะดีใจว่าได้กำไรกลับมา 50% จากการซื้อหุ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อมองในรูปผลตอบแทนรวมของทรัพย์สินทั้งหมด เราทำกำไรได้เพียงแค่ 15% เท่านั้นเอง

ดังนั้นการวม Cash เข้าไปอยู่ใน AUM (Asset Under Management) ด้วย ก็จะทำให้ผลตอบแทนรายปีตรง YTD Return นั้น แม่นยำและสะท้อนภาพของความเป็นจริงของการลงทุนได้มากขึ้นครับ

ทาง Jitta Portfolio ก็จะมีให้เราทำการ Deposit/Withdraw เงินสด เข้าออกจากพอร์ตการลงทุนเสมอ เพื่อให้สามารถคิดผลตอบแทนที่เราทำได้ทุกปีอย่างถูกต้อง และในหน้า Transaction เองก็จะแสดงรายการ Deposit/Withdraw เอาไว้เสมอ เพื่อให้เราย้อนกลับมาดูได้ว่า เราใส่เงินเพิ่มหรือถอนออกไปเท่าไหร่ เมื่อไหร่ครับ

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ ด้วยการวางแผนการลงทุนและการกำหนดรูปแบบเงินเข้าออกที่ชัดเจน จะทำให้เราสามารถนำเงินกำไรที่ทำได้ออกไปใช้จ่ายส่วนตัวได้ง่ายขึ้นครับ เช่น ถ้าหากปรกติเราตั้งเป้าหมายการลงทุนที่ 20% ต่อปี ถ้าหากปีไหนทำได้ 35% ก็เท่ากับว่า ตอนสิ้นปีเราสามารถนำกำไร 15% ที่ทำเกินกว่าเป้าหมายออกไปใช้ได้ครับ และเราก็บันทึกใน Note ว่า เป็นเงินโบนัสจากกำไรที่ทำได้มากกว่า 20%

เมื่อทำดังนี้แล้ว เราก็จะลงทุนอย่างมีความสุข อีกเช่นเคยครับ และก็จะสนุกกับการท้าทายให้ตัวเองลงทุนชนะเป้าหมายการลงทุนทุกปีครับ

3. มองความแข็งแกร่งของพอร์ตการลงทุนแบบนักธุรกิจ

ตามที่ Warren Buffett บอกไว้ครับว่า “อะไรที่สมเหตุสมผลในธุรกิจ ก็จะสมเหตุสมผลในการลงทุน” ดังนั้นเวลาที่เราจะทำการปรับเปลี่ยนการลงทุนใดๆก็ตาม ควรจะทำด้วยมุมมองทางธุรกิจเสมอๆครับ

คนส่วนมากที่ขาดทุนจากตลาดหุ้นนั้นก็เพราะ เวลาขายหุ้นก็มักจะขายหุ้นดีๆที่มีกำไรสูงในพอร์ตออกไปก่อนเสมอๆ และทำการเก็บหุ้นแย่ๆที่ขาดทุนๆเอาไว้ ทำให้สุดท้ายแล้วเงินก็จะจมอยู่ในหุ้นที่แย่ๆที่ราคาลดลงเรื่อยๆครับ (และหุ้นดีๆที่ขายออกไป ราคาก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างน่าเจ็บใจ T_T)

ที่เป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า คนทั่วไปจะเห็นเพียงแค่ราคาหุ้น ต้นทุน กำไร ในพอร์ตของตนเพียงแค่นั้น แต่ไม่ได้มีข้อมูลที่สำคัญอื่นๆมาช่วยให้วิเคราะห์การลงทุนได้ดีขึ้นครับว่า จะซื้อ ถือ หรือ ขาย หุ้นตัวไหนออกไปดี

ดังนั้น Jitta Portfolio จึงมีการแสดงข้อมูลทางคุณภาพและมูลค่าที่เหมาะสมของทั้งพอร์ตและของหุ้นแต่ละตัวให้เราได้รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะต้องพิจารณาปรับพอร์ต และ ควรจะต้องปรับพอร์ตโดยการขายหุ้นตัวไหนออกไปครับ

จากรูปของพอร์ตตัวอย่าง จะเห็นว่า ในหน้า Summary ทางด้านขวาบนจะมีบอก Jitta Score ของพอร์ตโดยรวมว่าเท่ากับ 7.07 และ มูลค่าตลาดโดยรวมของพอร์ตอยู่ต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมที่แท้จริงอยู่ 37.48% (37.48% Below Jitta Line)

ซึ่งหลักการคิดวิเคราะห์ Jitta Score, Jitta Line ของพอร์ตนั้น ก็ใช้หลักการประหนึ่งว่า เราคือ บริษัทแม่ที่ถือหุ้นในบริษัทลูกอยู่หลายๆแห่ง ในสัดส่วนที่แตกต่างกันครับ

ดังนั้นเราก็จะสามารถเห็นความแข็งแกร่งโดยรวมของพอร์ตการลงทุนเราได้ง่ายๆเลยครับ และเราควรจะพยายามปรับพอร์ตโดยให้ Jitta Score, Jitta Line ของเราอยู่ในเกณฑ์ความแข็งแกร่งที่เราต้องการ เช่น Jitta Score มากกว่า 7 และ Below Jitte Line มากกว่า 10% อยู่ตลอดเวลา

เมื่อไหร่ที่ Jitta Score ของพอร์ตเราลดลงเหลือแค่ 6.1 หรือว่า มูลค่าพอร์ตเรา 5% Above Jitta Line ไปแล้ว นั่นเป็นสัญญาณเตือนง่ายๆว่า ถึงเวลาที่เราควรจะต้องมาพิจารณาปรับพอร์ตได้แล้วครับ

แล้วจะปรับพอร์ตยังไงล่ะ ด้วย Jitta Portfolio ก็ง่ายมากครับ เพราะว่าเรามี Tab Fundamental ที่ให้เราใช้ดูพื้นฐานของหุ้นแต่ละบริษัท (Jitta Score, Jitta Factor) และราคาถูกแพงของหุ้นแต่ละตัว (Above/Below Jitta Line) ได้ง่ายๆเลยครับ

ดังนั้นจากตัวอย่างด้านบน ถ้าหากว่าพอร์ตเรากลายเป็น Jitta Score 6.1 และ 5% Above Jitta Line ถ้าหากเราอยากปรับพอร์ตให้กลับมาอยู่ในกลยุทธ์ที่เราต้องการคือ Jitta Score มากกว่า 7 และ Below Jitta Line มากกว่า 10% เราก็แค่ขายหุ้นที่ Jitta Score ต่ำๆและราคาสูงกว่า Jitta Line แล้วออกไป พร้อมทั้งไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่ Jitta Score มากกว่า 7 และราคาต่ำกว่า 10% Below Jitta Line เข้ามานั่นเองครับ

ฟังดูแล้วเหมือนง่ายนะครับ แต่สมัยก่อนที่ไม่มี Jitta งานนี้เป็นงานที่หนักเอาการทีเดียวครับ และต้องใช้จินตนาการขั้นสูงมากเลยทีเดียว (บวกกับต้องนั่งทำ visualize ตัวเลขต่างๆใน excel เองด้วยนะครับ)

นอกจากนี้จะเห็นว่า ต่อให้พอร์ตของเราไม่มีสัญญาณร้ายใดๆให้ปรับพอร์ตตามแนวทางด้านบน เราก็สามารถพิจารณาปรับหุ้นรายตัวออกไป เพื่อปรับพอร์ตให้แข็งแกร่งในมุมที่เราต้องการก็ได้ เพราะ Jitta Portfolio จะแสดงค่า Jitta Score, Jitta Factor, Jitta Line ของหุ้นรายตัว ให้เราดู 3 ช่วงเวลาด้วยกันคือ วันที่เราเริ่มลงทุน ไตรมาสที่ผ่านมา และ ณ ปัจจุบัน

ดังนั้นถ้าหากเราเห็นหุ้นตัวไหนที่ Jitta Score หรือ Jitta Factor เริ่มลดลง และราคาเริ่มแพงแล้ว เราก็อาจจะพิจารณาขายหุ้นตัวนั้นออกไปก็ได้ครับ

หรือถ้าหากเราอยากจะเน้นให้บริษัทแม่ (พอร์ตรวมของเรา) มีการเติบโตและมีความสามารถในการแข่งขันที่สูง เราก็ควรจะเลือกปรับพอร์ต โดยพยายามขายหุ้นที่มี Growth Opportinity และ Competitive Advantage ต่ำๆออกไป แล้วซื้อหุ้นที่ค่าทั้งสองตัวนี้สูงว่า 70 เข้ามาแทนครับ

(แต่ทั้งนี้ภาพรวมของพอร์ตควรจะต้องอิงกับความแข็งแกร่งของ Jitta Score, Jitta Line ที่เราต้องการเป็นหลักด้วย ไม่ใช่ปรับไปแล้ว Jitta Score เหลือต่ำกว่า 7 แบบนี้ก็ไม่ดีนะครับ)

ด้วยแนวทางดังนี้ ก็จะทำให้การปรับพอร์ตของเราสมเหตุสมผลขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากการสร้างธุรกิจดีๆขึ้นมาธุรกิจนึงเลยทีเดียว และในวันนึงข้างหน้าพอร์ตการลงทุนของเราก็จะแข็งแกร่ง เหมือนกับ บริษัทที่ยอดเยี่ยมทั้งหลายบนโลกนี้ และ ทำให้เราที่เป็นเจ้าของสุขสบายไปชั่วชีวิตครับ

4. จัดสรรเงินลงทุนอย่างมีแบบแผน (Asset Allocation)

เดี๋ยวเอาไว้ต่อครั้งหน้านะครับ รู้สึกว่าชักจะยาวไปละครับ เพราะเรื่องนี้ก็น่าจะอีกยาวครับ 555