by Trawut Luangsomboon
วันที่ 22 ธ.ค. 2563 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 12 ม.ค. 2566
Jitta เวอร์ชั่นใหม่ แม่นยำมากขึ้น พร้อมลงทุนในยุค New Normal

อีกแค่ 9 วัน เราจะผ่านพ้นปี 2563 กันแล้ว 

ปีนี้เป็นอีกปีที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนมาก ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ตลาดหุ้นตกหนักสุดๆ ทั่วโลก เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 และการล็อกดาวน์ทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก

เมื่อคลายล็อกดาวน์ ตลาดหุ้นก็ฟื้นตัวขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงกลางปี บางประเทศตลาดหุ้นฟื้นกลับมาเกือบเท่าเดิม แต่บางประเทศก็ทำจุดสูงสุดใหม่ในช่วงปลายปี

หากคุณลองมองภาพใหญ่ทั้งปี โดยไม่ใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น จะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นปี 2563 ไม่ได้เป็นปีที่ผิดปกติแต่อย่างไร อาจจะมีการปรับลดลงบ้าง แต่ก็ไม่ถึงจุดที่เรียกว่าวิกฤตเท่าไร 

การที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบระดับ 10-20% ในบางปีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

แต่แม้ว่าภาวะตลาดหุ้นโดยรวมของปี 2563 ไม่ค่อยดีนัก แต่เชื่อว่า นักลงทุนที่มีมุมมองระยะยาว คอยหมั่นทำการบ้านและลงทุนในกิจการที่แข็งแกร่ง มีรายได้และกำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ปีนี้น่าจะเป็นปีที่สามารถทำผลตอบแทนได้อย่างงดงาม เพราะในช่วงที่ราคาหุ้นตกหนักๆ ตอนต้นปีนั้น ถือเป็นโอกาสการเข้าลงทุนหรือเพิ่มทุนที่ดีมากๆ ในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว

สำหรับ Jitta Ranking ที่เน้นการวิเคราะห์และเลือกลงทุนใน ‘หุ้นที่มีกิจการที่ดี ในราคาที่เหมาะสม’ นั้น ปี 2563 ถือว่าเป็นปีที่สร้างผลตอบแทนได้ดี สามารถเอาชนะผลตอบแทนของตลาดหุ้นในหลายๆ ประเทศไปได้เยอะมาก ทั้งๆ หุ้นที่เลือกมาทั้งหมดนั้น เลือกมาตั้งแต่ต้นปี และไม่ได้มีการปรับพอร์ตใดๆ ในระหว่างปีเลย 

โดยผลตอบแทนของ Jitta Ranking ปี 2563 จะรายงานทั้งหมดในช่วงต้นปี 2564 เหมือนเช่นเคย

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ทำให้ทุกคนได้เห็นตรงกันว่า หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น สามารถช่วยให้คุณลงทุนผ่านความผันผวน ผ่านวิกฤตต่างๆ ของตลาดหุ้นไปได้อย่างแน่นอน 

คุณอาจจะเห็นพอร์ตลงทุนของคุณปั่นป่วนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง แต่ในระยะยาวแล้วพอร์ตลงทุนจะแข็งแกร่งและเติบโตขึ้นตามกิจการที่คุณลงทุนไป

และเชื่อว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า แนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และ Jitta Ranking น่าจะยังทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดหุ้นพอสมควร เพราะโดยทั่วไปแล้ว หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะทำผลตอบแทนได้ดีมากๆ ในช่วงปีแรกๆ หลังเกิดวิกฤต

แม้ว่าตัวอัลกอริทึมปัจจุบันของ Jitta นั้นจะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่แล้ว แต่ทางทีมงาน Jitta ของเรา ก็ไม่เคยหยุดพัฒนา ปรับปรุง ให้การวิเคราะห์ของ Jitta ทั้ง Jitta Score และ Jitta Line รวมไปถึง Jitta Ranking นั้นดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

ซึ่งสิ้นปี 2563 เราก็จะอัปเดตอัลกอริทึมของ Jitta ให้ดีขึ้นไปอีกขั้น เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์หุ้นต่างๆ มากขึ้น โดยสิ่งหลักๆ ที่เราจะอัปเดต มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ปรับการคำนวณ Jitta Line ให้ละเอียดแม่นยำมากขึ้น

การคำนวณ Jitta Line นั้น คือ การประเมินมูลค่าของบริษัท โดยมองเสมือนกับว่า ถ้าหากคุณลงทุนซื้อทั้งบริษัทแล้ว ด้วยกระแสเงินสดที่บริษัทสร้างขึ้นมาได้ คุณจะคืนทุนในเวลา 10 ปี

ซึ่งถ้าหากว่าบริษัทที่คุณวิเคราะห์ สามารถสร้างกระแสเงินสดที่เท่ากันทุกปีได้ การวิเคราะห์ก็จะง่ายมาก เพราะมูลค่าที่เหมาะสมในที่นี้ก็จะเท่ากับ 10 เท่าของกระแสเงินสดนั่นเอง 

เช่น บริษัทมีกระแสเงินสดปีละ 1 ล้านบาท มูลค่าที่คุณควรจะลงทุนก็ไม่ควรเกิน 10 ล้านบาท นั่นเอง

แต่ในความเป็นจริงนั้น บริษัทในตลาดหุ้นทั้งหมด มีคุณภาพของกระแสเงินสดที่แตกต่างกันอย่างมาก บางบริษัทที่ยอดเยี่ยมมาก ก็สามารถขยายกิจการและสร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี แต่บางบริษัทที่ย่ำแย่อาจจะมีกระแสเงินสดน้อยลงทุกๆ ปี หรือ บางบริษัทก็มีกระแสเงินสดขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอนในแต่ละปี

ในอดีตที่ผ่านมา Jitta จะวิเคราะห์แนวโน้มของกระแสเงินสดย้อนหลังว่า กระแสเงินสดในช่วง 10 ปี 5 ปี และ 3 ปีล่าสุด เป็นอย่างไร เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณ Jitta Line ซึ่งอาจจะทำให้บางบริษัทที่มีแนวโน้มของกระแสเงินสดที่ใกล้เคียงกัน มีมูลค่าใกล้กันได้

แต่อัลกอริทึมที่เราจะอัปเดตนั้น จะวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินสดของทุกบริษัทแยกเป็นรายปี เพื่อให้เห็นความสม่ำเสมอและความผันผวนของหุ้นแต่ละตัวชัดเจนมากขึ้น 

จากนั้นค่อยนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการคำนวณ Jitta Line ทำให้การคำนวณมีความละเอียดและแม่นยำมากขึ้น บริษัทที่กระแสเงินสดเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีมูลค่าสูงกว่าบริษัทที่กระแสเงินสดไม่มีความสม่ำเสมอ

ยกตัวอย่าง บริษัท A บริษัท B และบริษัท C แต่ละบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดในช่วง 10 ปีหลังสุดได้ดังนี้

ถ้ามองดูกระแสเงินสดของทั้งบริษัท A บริษัท B และบริษัท C จะเห็นว่า มีแนวโน้มการเติบโตที่ใกล้เคียงกัน ทั้งในช่วง 10 ปี 5 ปี และ 3 ปีล่าสุด 

แต่ถ้าลองดูการเติบโตในแต่ละปีแบบละเอียดแล้ว จะเห็นคุณภาพของกระแสเงินสดที่แตกต่างกันอย่างมาก

โดยบริษัท A จะเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่ดีที่สุด เพราะสามารถสร้างกระแสเงินสดให้เติบโตได้อย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปี พอๆ กับการเติบโตในระยะยาว ซึ่งมองได้ว่าบริษัท A มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงมาก ไม่ค่อยมีปัญหาในการตั้งราคาสินค้าหรือรับมือกับวิกฤตต่างๆ

รองลงมาก็คือ บริษัท B ที่แม้กระแสเงินสดจะเป็นบวกทุกปีและเติบโตได้ดีในระยะยาว แต่ก็มีความผันผวนของกระแสเงินสดในแต่ละปีมากพอสมควร

และสุดท้ายคือ บริษัท C ที่กระแสเงินสดมีความผันผวนสูงมาก บางปีอาจจะมีกระแสเงินสดที่ติดลบได้ ในขณะที่บางปีกระแสเงินสดอาจจะพุ่งสูงได้

ดังนั้นถ้าสมมติให้ตัวแปรอื่นๆ เท่ากันหมด มูลค่าที่เหมาะสม หรือ Jitta Line ของ A ควรจะสูงกว่า B และ B ควรจะสูงกว่า C เสมอ 

จำง่ายๆ ก็คือ ยิ่งกระแสเงินสดเติบโตอย่างสม่ำเสมอได้มากเท่าไหร่ มูลค่าก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทแบบ C จะมีน้อย เพราะบริษัทที่กระแสเงินสดบวกๆ ลบๆ ไปมาในแต่ละปีนั้น จะมีความสามารถในการแข่งขันน้อยมาก กำไรของบริษัทเป็นไปตาม Demand และ Supply ของสินค้าในแต่ละปี 

บริษัทประเภทนี้ กระแสเงินสดมักจะเป็นวัฏจักรขึ้นๆลงๆ และกลับมาที่เดิมในระยะยาว ไม่ได้ผันผวนและเพิ่มขึ้นเหมือนในตัวอย่าง

นอกจากนี้ เรายังมีปรับให้น้ำหนักกับการเติบโตของกระแสเงินสดในช่วง 3 ปีหลังมากขึ้น เพื่อให้ Jitta Line สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่รวดเร็วขึ้นด้วย

ให้น้ำหนักของรายได้และกระแสเงินสดในการวิเคราะห์หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมากขึ้น

สำหรับบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่สร้าง Software ขึ้นมาให้บริการในรูปแบบแพลตฟอร์มต่างๆ นั้น ถ้าหากคุณดูงบการเงิน มักจะเห็นว่า บริษัทเหล่านี้มีรายได้ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่กำไรสุทธิกลับต่ำ หรือขาดทุนติดต่อกันหลายๆ ปี

ที่เป็นแบบนี้เพราะมาตรฐานบัญชีในปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ เน้นบันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายสำหรับบริษัทที่มีการขยายธุรกิจผ่านการลงทุนในทรัพย์สินมีตัวตนต่างๆ เช่น วัตถุดิบ เครื่องจักร โรงงาน เป็นหลัก 

ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีนั้นจะขยายธุรกิจผ่านทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน เช่น แพลตฟอร์มที่ผู้ใช้งานต้องใช้เป็นประจำทุกวัน

ทำให้บริษัทเทคโนโลยีดีๆ หลายแห่ง มีผลขาดทุนสุทธิในงบกำไรขาดทุน แต่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวกและโตขึ้นทุกๆ ปี 

เมื่อบริษัทมีเงินสดในมือมากขึ้นเรื่อยๆ ก็สามารถนำเงินนั้นไปใช้ขยายฐานผู้ใช้งาน และเพิ่มรายได้ขึ้นอีกเรื่อยๆ ผิดกับบริษัทยุคดั้งเดิมที่เวลาขาดทุนแล้ว มักจะขยายธุรกิจไม่ได้เลย

ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักของบริษัทเทคโนโลยี ที่บริษัทในยุคก่อนๆ ไม่ค่อยมี คือ Stock-Based Compensation หรือการออกหุ้นเป็นค่าตอบแทนให้พนักงาน เพราะพนักงานถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญของบริษัทในการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ

มูลค่าของหุ้นที่ออกให้พนักงานในแต่ละปีเหล่านี้ จะถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนด้วย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว รายจ่ายส่วนนี้ไม่ได้เป็นการจ่ายเงินสดจริงๆ ออกไปจากบริษัทแต่อย่างใด จึงทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ถูกบวกกลับเข้ามาเป็นกระแสเงินสดที่บริษัททำได้จริงๆ เลยทำให้กระแสเงินสดกลับเป็นบวกได้อย่างมหาศาล

แล้วค่าใช้จ่ายด้านหุ้นนี้ รวมถึงกระแสเงินสดที่บริษัทเทคโนโลยีทำได้ สูงกว่ากำไรสุทธิแค่ไหน

ลองยกตัวอย่างหุ้น AMZN ในช่วง 5 ปีล่าสุดมาดู คุณจะเห็นตัวเลขกำไรสุทธิ ค่าใช้จ่ายเรื่องหุ้น และกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ดังนี้

จะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับหุ้นนี้เป็นตัวฉุดกำไรของ AMZN มาโดยตลอด 

อย่างในปี 2558 ถ้าคุณลองดูกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีการบวกค่าใช้จ่ายด้านหุ้นกลับเข้าไป รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เป็นเงินสดอื่นๆ จะเห็นว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ AMZN นั้นกลับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ากำไรสุทธิอยู่ถึง 20 เท่าเลยทีเดียว 

ในปี 2559-2562 เช่นเดียวกัน ที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ AMZN มากกว่ากำไรสุทธิอยู่หลายเท่าตัว 

ในขณะที่บริษัทในธุรกิจดั้งเดิม ต่อให้เป็นบริษัทที่กิจการแข็งแกร่งมากๆ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก็มักจะไม่ค่อยมากกว่ากำไรสุทธิสักเท่าไหร่ ส่วนมากอยู่ประมาณ 30-100% เท่านั้น

หรืออีกตัวอย่างนึงคือ หุ้น CRM หรือ Salesforce ถ้าคุณลองดูข้อมูลช่วง 5 ปีล่าสุด ก็จะเห็นตัวเลขดังนี้

จะเห็นได้ว่าหุ้น CRM เอง เมื่อบวกค่าใช้จ่ายด้านหุ้นและอื่นๆ กลับเข้าไป จะทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานนั้นสูงกว่ากำไรสุทธิอย่างมาก 

ในปี 2558 ที่บริษัทแสดงขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานกลับเป็นบวกถึง 1,672 ล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน 

ใน 5 ปีที่ผ่านมากำไรสุทธิอาจจะมีความผันผวนระดับนึง แต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ CRM กลับเติบโตขึ้นทุกปีอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับบริษัทเทคโนโลยี คุณไม่สามารถให้ความสำคัญกับกำไรเหมือนบริษัทแบบดั้งเดิมได้ เพราะรูปแบบการบันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน 

ทาง Jitta จึงได้ปรับอัลกอริทึมในการคำนวณ Jitta Score และ Jitta Line โดยให้น้ำหนักกับการเติบโตของรายได้ และกระแสเงินสดมากขึ้น และลดความสำคัญของกำไรสุทธิลง เมื่อเทียบกับการวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทประเภทอื่นๆ ทำให้สะท้อนความสามารถในการแข่งขัน และความแข็งแกร่งของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ดีขึ้น

อัลกอริทึมใหม่ พร้อมใช้งานปี 2564

การอัปเดตอัลกอริทึมใหม่นี้ จะเกิดขึ้นหลังตลาดหุ้นไทยปิดทำการในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 เพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดพร้อมใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2564 คุณจะได้ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นใหม่เพื่อเริ่มลงทุนเลยในต้นปีหน้า

สำหรับการแสดงผลการทดสอบผลตอบแทนย้อนหลังของ Jitta Ranking บน https://library.jitta.com/th/ranking ที่เราอัปเดตรายชื่อหุ้นเลือกตอนต้นปี และผลตอบแทนที่ได้รับในแต่ละปีนั้น 

ในปี 2564 เราจะเปลี่ยนข้อมูลรายชื่อหุ้นและผลตอบแทนย้อนหลังใหม่ทั้งหมด ให้ตรงกับข้อมูลที่วิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึมใหม่นี้

และเนื่องจากข้อมูลบน https://library.jitta.com/th/ranking เป็นข้อมูลที่เราอัปเดตมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ Jitta เวอร์ชันแรกที่เปิดตัวให้ใช้กันในปี 2557 

ตอนนี้ก็ผ่านมา 7 ปี แล้ว และเราเองก็ได้อัปเดตอัลกอริทึมไปหลายครั้ง ทางทีมงานจึงมองว่าควรจะปรับข้อมูลรายชื่อหุ้นและผลตอบแทนในแต่ละปีให้อัปเดตมากที่สุด เพื่อให้คุณนำรายชื่อหุ้นไปศึกษา และดูข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta อย่างมั่นใจ

อย่างไรก็ตาม เราจะเก็บรายชื่อหุ้นและผลตอบแทนของเดิมไว้ให้คุณย้อนมาดูได้เป็นระยะเวลา 1 ปี เผื่อคุณอยากศึกษา เปรียบเทียบข้อมูลอย่าง โดยเข้าไปดูได้ที่ https://library.jitta.com/th/archive/ranking

นอกจากอัลกอริทึมใหม่ที่เราเปิดให้นักลงทุนทั่วโลกใช้กันได้แบบฟรีๆ แล้ว เรายังได้ทลายข้อจำกัดด้านการลงทุนหลายๆ อย่างผ่านบริการ Jitta Wealth ทำให้นักลงทุนไทยสามารถเริ่มต้นลงทุนต่างประเทศด้วยต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ต่ำมากถึงมากที่สุด ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียงแค่ 100,000 บาท เป็นที่แรกของไทยที่เปิดให้บริการกองทุนส่วนบุคคลด้วยเงินเริ่มต้นที่ต่ำขนาดนี้

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณที่คุณให้การสนับสนุน Jitta มาโดยตลอด Jitta เกิดมาเพื่อนักลงทุน เราจะทำทุกสิ่งที่ทำให้นักลงทุนได้ประโยชน์มากที่สุด

เราสัญญาว่า เราจะพัฒนาบริการของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนทุกคนได้ใช้บริการของเรา และลงทุนในกิจการดีๆ ทั่วโลกอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน