สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราพัฒนาการลงทุนได้ดีขึ้นเรื่อยๆก็คือ การเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะการเรียนรู้และหาคำตอบให้ได้ว่า การลงทุนของเราที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น ทำไมถึงกำไร ทำไมถึงขาดทุน องค์ประกอบ ปัจจัยแต่ละอย่างที่ทำให้เรากำไรหรือขาดทุน มีอะไรบ้าง เพื่อนำมาปรับปรุงให้การลงทุนครั้งใหม่ของเราดีขึ้น มีโอกาสขาดทุนน้อยลง และ มีโอกาสได้กำไรมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเองครับ
ผมเคยมีพูดไว้ใน Jitta 101 แล้วครับว่า ถ้าหากเราต้องการสร้างความมั่งคั่งจากการลงทุนแล้วล่ะก็ เราจะต้องหาวิธีหรือรูปแบบในการทำกำไรให้ได้ และ วิธีนั้นจะต้อง
- Repeatable : คือ เมื่อเงื่อนไขเหมือนเดิม ควรจะต้องทำกำไรซ้ำได้ทุกครั้ง (หรือเกือบทุกครั้ง)
- Scalable : คือ เมื่อมีเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังสามารถใช้วิธีเดิมในการทำกำไรได้ ทำให้ความมั่งคั่งเติบโตได้เรื่อยๆ
ฟังดูง่ายครับ แต่นี่คือ สิ่งที่หลายๆคนไม่เคยได้ทำและคิดทบทวนเลย เพราะคนจำนวนมากมองตลาดหุ้นเป็นเรื่องของการเสี่ยงโชค หรือ เรื่องของการเล่นตามข่าววงใน ทำให้เมื่อมีกำไรก็ดีใจ เมื่อขาดทุนก็เสียใจ แค่นั้น แต่ไม่เคยมานั่งวิเคราะห์เลยว่า จะทำยังไงให้ได้กำไรตลอด
ดังนั้นใน Jitta Portfolio จึงได้มีฟังค์ชั่นที่เน้นออกแบบมา เพื่อให้เราได้เรียนรู้และพัฒนากลยุทธ์การลงทุนของเราให้ดีขึ้นได้เสมอ ดังนี้
1. Gainer/Loser
เป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่อยู่ในหน้า Statistic จะแสดงให้เราเห็นว่า ตั้งแต่ที่เราลงทุนมาทั้งหมดนั้น เราได้กำไรกี่ครั้ง ขาดทุนกี่ครั้ง และเมื่อคิดเป็น % แล้ว เรามีโอกาสได้กำไร (Winning Chance) กี่ครั้ง และขาดทุน (Loss Chance) กี่ครั้ง จากการลงทุน 100 ครั้ง (นับเฉพาะการลงทุนที่มีการซื้อขายจบหมดแล้ว เพื่อให้รับรู้กำไรขาดทุนที่ realized เรียบร้อยแล้วเท่านั้น)
จากรูปตัวอย่าง (ที่นำมาจากการลงทุนใน Jitta Ranking ตั้งแต่สิ้นปี 2008) ก็จะเห็นได้ว่า เราลงทุนไป 35 ครั้ง ได้กำไร 27 ครั้ง คิดเป็นโอกาสในการกำไร 77.1% และขาดทุน 8 ครั้ง คิดเป็นโอกาสในการขาดทุน 22.9% และครั้งที่กำไรและขาดทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ หุ้นอะไร กำไรขาดทุนแค่ไหน
ซึ่งตามที่ Peter Lynch กล่าวไว้ก็คือ ในการลงทุนนั้น ควรจะต้องกำไรอย่างน้อย 6 ครั้ง จากการลงทุน 10 ครั้งครับ ซึ่งถ้าหากเราลงทุนแล้วได้มีโอกาสได้กำไรที่ 77.1% ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้วครับ
นอกจากนั้นก็มีบอก Average Holding Period (หรือ ระยะเวลาในการถือหุ้นโดยเฉลี่ย) ของหุ้นที่เรากำไรและหุ้นที่เราขาดทุนไว้ด้วย เพื่อให้เรามองเห็นภาพว่า กลยุทธ์การถือหุ้นของเราที่ทำให้ได้กำไรนั้น อยู่ที่ประมาณกี่วัน
ซึ่งตัวอย่างที่ใช้มาจาก Jitta Ranking (ซื้อหุ้นแล้วถือไป 12 เดือน) ดังนั้นตัวเลขเลยอยู่ที่ประมาณ 365 วันทั้งฝั่งกำไรและฝั่งขาดทุนครับ แต่ถ้าหากใครที่มีกลยุทธ์การซื้อขายแบบอื่นๆ ตัวเลขนี้ก็จะสะท้อนให้เห็นได้ว่า ระยะเวลาแค่ไหนที่เราลงทุนไปแล้วจะได้กำไรสูงๆครับ
และถ้าหากใครที่ต้องการเข้าไปดูรายละเอียดมากขึ้นว่า ในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมด เราทำกำไรได้จากหุ้นตัวไหน และ ขาดทุนจากหุ้นตัวไหนบ้าง ก็สามารถคลิกที่ Gainer หรือ Loser ได้เลย ทาง Jitta Portfolio ก็จะแสดงรายละเอียดของหุ้นที่เรากำไร หรือ ขาดทุน ทั้งหมดออกมาให้เราได้นำไปวิเคราะห์ต่อได้ทันทีครับ
2. Notes
ใน Jitta Portfolio จะมีให้เราสามารถใส่ข้อความเข้าไปในทุก transactions ของเราได้ ดังนั้นเมื่อเราได้กำไร หรือ ขาดทุน และเข้าใจว่าเพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น ก็สามารถบันทึกไว้ได้ตลอด โดยเฉพาะการลงทุนครั้งที่ทำให้เรากำไรมากๆหรือขาดทุนมากๆ เราควรจะเขียนให้ละเอียดและเก็บเป็นบรรทัดฐานไว้ เมื่อเรากลับมาอ่านทบทวนบ่อยๆ ก็จะทำให้เราตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้นแน่นอนครับ
ถ้าเมื่อไหร่ที่เรากำไรมากๆ แล้วไม่สามารถอธิบายได้ แสดงว่ากำไรที่ได้มาน่าจะเป็นเพราะโชคช่วยมากกว่าทักษะในการลงทุนครับ และในกรณีที่เราขาดทุนมากๆแล้วไม่สามารถอธิบายได้ ก็เป็นเพราะว่าเราขาดทักษะหรือตัดสินใจบางอย่างผิดไป ไม่ใช่เพราะว่าโชคร้ายครับ
3. Transaction History
สำหรับใครที่อยากดูประวัติการลงทุนทั้งหมดของตนเอง Jitta Portfolio ก็จะมี Transaction History ให้กลับมาย้อนดูเป็นรายปีได้เลยครับว่า เกิดอะไรขึ้นกับการลงทุนของเราบ้าง ปีไหนที่เราขาดทุนหนักๆ เป็นเพราะเราไปลงทุนพลาดในหุ้นอะไร ก็เข้าไปดู ไปอ่าน Note ที่เราเขียนบันทึกไว้ได้เลยครับ
ทั้งนี้ Transaction History ก็จะเลือกมุมมองได้ 2 แบบ คือ
All Transactions : มุมมองประวัติการซื้อขายหุ้นทั้งหมดของเรา เรียงตามลำดับการซื้อขายปรกติ
Profil/Loss : มุมมองประวัติการซื้อขายหุ้น เป็นรายหุ้น
เพื่อให้เราทราบว่าเราได้กำไรหรือขาดทุนจากหุ้นตัวไหน มากน้อยแค่ไหน
(และในหน้า Transaction นี้ ก็มีให้เลือก Advanced Mode ได้ สำหรับใครที่ต้องการจะเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อมูลต่างๆอย่างรวดเร็วครับ)
ดังนี้แล้ว ถ้าหากเราบันทึกประวัติการลงทุนของเรามาเรื่อยๆ เราก็จะสามารถกลับเข้ามาเรียนรู้ หาข้อดีข้อเสีย ข้อผิดพลาดในการลงทุนของเราได้ง่ายๆตลอดเวลาใน Jitta Portfolio ครับ
ผมก็ขอจบบทความ Jitta Portfolio Series ไว้เพียงเท่านี้นะครับ ใครที่ยังไม่ได้อ่านบทความครั้งก่อนๆของ Jitta Portfolio ก็เข้าไปอ่านได้ที่
Jitta Portfolio Series # 1 : Portfolio Management
http://library.jitta.com/th/article/jitta-portfolio-series-1-portfolio-management
Jitta Portfolio Series # 2 : Asset Allocation
http://library.jitta.com/th/article/jitta-portfolio-series-2-asset-allocation
Jitta Portfolio Series # 3 : Tracking Your Results
https://library.jitta.com/th/article/jitta-portfolio-series-3-tracking-your-results
เมื่อศึกษาเรื่องการจัดการ การวัดผล และการปรับปรุง Portfolio ให้เข้าใจแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนจะสามารถเรียนรู้และพัฒนากลยุทธ์การลงทุนให้ดีขึ้นได้เรื่อยๆอย่างแน่นอนครับ