หลายคนคิดว่าการวิเคราะห์งบการเงินยาก ต้องเก่งเลข ต้องจำสูตรคำนวณ ต้องเข้าใจวิธีการทำบัญชีอย่างลึกซึ้ง
จริงๆ แล้วไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ
การวิเคราะห์งบการเงินเพื่อดูความสามารถในการเติบโต ความแข็งแกร่ง และข้อเสียของแต่ละบริษัท ก็คือการเอาตัวเลขดิบๆ ในงบการเงินมาหารเปรียบเทียบกัน เพื่อหาอัตราส่วนเท่านั้นเอง
เช่น เอากำไรมาเปรียบเทียบกับหนี้ดูว่า บริษัททำกำไรได้พอจ่ายหนี้ในแต่ละปีได้หรือเปล่า หรือเอาราคาตลาดของหุ้นมาเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิดูว่า ถ้าซื้อหุ้นที่ราคานั้นๆ แล้วบริษัทจะทำกำไรสุทธิมาคืนทุนให้คุณได้ในเวลากี่ปี
ซึ่งอัตราส่วนหลักๆ ที่นักลงทุนนิยมใช้กัน ถ้าเข้าใจที่มาที่ไป ก็นำไปใช้วิเคราะห์ธุรกิจเบื้องต้นได้แล้วครับ ไม่ต้องนั่งจำสูตร ไม่ต้องนั่งจำว่าค่าแต่ละค่าควรจะเป็นเท่าไหร่ถึงดี เท่าไหร่ถึงไม่ดี
แบบคลิกเข้าไปดู Jitta FactSheet แล้วเห็นอัตราส่วนต่างๆ ที่ Jitta คำนวณไว้ให้ปุ๊บ คุณก็จะเข้าใจและมองภาพรวมธุรกิจออกเลย แถมยังเอาไปอ้างอิงเปรียบเทียบกับอัตราส่วนเดียวกันของบริษัทอื่นๆ ได้ เพื่อการตัดสินใจลงทุนที่มั่นใจมากขึ้นด้วย
เพื่อให้เข้าใจประโยชน์ของอัตราส่วนแต่ละอันอย่างลึกซึ้ง คุณสามารถแบ่งหน้าที่ของมันออกเป็น 4 ประเภท แต่ละประเภทแสดงถึงสถานะธุรกิจในมิติที่ต่างกัน ดังนี้
1. บริษัทมีฐานะทางการเงินมั่นคงแค่ไหน
ถ้าคุณอยากรู้ว่าบริษัทจะล้มง่ายมั้ย ก็ต้องมาวิเคราะห์สภาพคล่องกันครับ การวิเคราะห์สภาพคล่องคือการดูว่า บริษัทมีเงินใช้คล่องมือหรือไม่ มีเงินเข้ามาพอใช้หรือเปล่า ถ้าเงินขาดมือบ่อยๆ แบบนี้มีปัญหาในดำเนินธุรกิจแน่ๆ โดยอัตราส่วนที่ใช้วิเคราะห์ความมั่นคงทางการเงินคือ
- อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (current ratio) แสดงความสามารถในการจ่ายหนี้ระยะสั้น
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
current Ratio = current Assets / current liabilities
ถ้าน้อยกว่า 1 แสดงว่าธุรกิจมีสินทรัพย์หมุนเวียนเช่น เงินสด ลูกหนี้ทางการค้า สินค้าคงเหลือ ฯลฯ ไม่พอจ่ายหนี้ระยะสั้น ซึ่งเป็นหนี้ที่ต้องจ่ายภายใน 1 ปี ดูท่าแล้วเงินน่าจะขาดมือ
ส่วนบริษัทที่มี current ratio มากกว่า 1 แปลว่าสภาพคล่องสูง แต่ถ้าสูงกว่า 1 มากๆ นี่ก็น่าคิดครับ ต้องไปดูเพิ่มเติมว่าบริษัทมีการใช้ทรัพย์สินหมุนเวียน
ให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือเปล่า เช่น ถือเงินสดเกินความจำเป็นไม่นำไปลงทุน
- อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (quick ratio หรือ acid test) หมุนเวียนเร็วสุดก็เงินสดครับ ตัวนี้เลยใช้ดูว่า ทรัพย์สินที่เอามาเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วๆ เพื่อนำไปจ่ายหนี้ระยะสั้น มันมีเยอะน้อยแค่ไหน
อัตราส่วนสินทรัพย์คล่องตัว = (สินทรัพย์หมุนเวียน – สินค้าคงเหลือ) / หนี้สินหมุนเวียน
quick Ratio = (current Assets – inventory) / current Liabilities
ที่ต้องตัดสินค้าคงเหลือ (inventory) ออกจากการคำนวณก็เพราะมันแปลงเป็นเงินสดได้ช้ากว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ แถมอาจจะลดมูลค่าลงด้วย เหมือน iPhone รุ่นเก่าที่ขายไม่ออก จะให้รีบขายเอาเงินไปจ่ายหนี้ก็ทำได้ยากครับ ส่วนเกณฑ์การดูก็เหมือนกับ current ratio ครับ เพียงแต่ใช้วัดสภาพคล่องได้ตรงจุดกว่า
- อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (debt to equity ratio, D/E) อัตราส่วนยอดฮิตของนักลงทุนตัวนี้แสดงสัดส่วนการกู้หนี้ยืมสินว่าเป็นกี่เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้นครับ
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น = หนี้สิน / ส่วนของผู้ถือหุ้น
debt to equity ratio = debt / equity
ถ้าอัตราส่วนนี้สูงมีโอกาสที่กิจการจะไม่สามารถในการชำระดอกเบี้ย จนอาจถูกฟ้องล้มละลายได้ เนื่องจากถ้าการมีภาระหนี้สินที่สุง ทำให้จำเป็นต้องชำระดอกเบี้ยที่สูงตามไปด้วย ไม่ว่ากิจการนั้นจะกำไรหรือขาดทุน
การพิจารณาค่า D/E ละเอียดนั้นไม่มีค่าตายตัวว่าสามารถกู้เกินได้กี่เท่าของสินทรัพย์ที่มีแต่พิจารณาจาก Business model ธุรกิจมีนโยบาลการทำธุรกิจอย่างไร บางบริษัท มีการเติบโตสูงอาจจะต้องกู้เงินมาใช้ดำเนินงาน ซึ่งถ้าบริษัทสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ การกู้เงินมาลงทุนก็อาจจะเป็นโอกาสทำให้บริษัทเติบโตได้เร็ว หรืออย่างในกลุ่มธนาคารที่ธุรกิจมีการกู้เงินมาเพื่อปล่อยกู้ อาจะทำให้มีค่า D/E สูงถึง 10 เท่าได้
- เงินทุนหมุนเวียน (working capital) ใช้ดูว่าพวกสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดที่เรามี หักลบกลบหนี้ระยะสั้นออกไปแล้ว เหลือเป็นสินทรัพย์ให้เราไปใช้ทำธุรกิจ เช่น ซื้อวัตถุดิบ ลงทุน ฯลฯ เท่าไหร่
เงินทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน – หนี้สินหมุนเวียน
working capital = current assets – current liabilities
ถ้าสินทรัพย์หมุนเวียนกับหนี้สินหมุนเวียนใกล้เคียงกันมาก หักลบกันออกมาแล้วเหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียนไม่เท่าไหร่ บริษัทอาจถูกปิดได้ เพราะไม่มีเงินสดในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างรายได้เข้าบริษัทครับ
- กระแสเงินสดอิสระ (free cash flow) ใช้ดูว่าหลังจากหักเงินที่ต้องเอาไปหมุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ และค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นเงินเดือน ภาษี ดอกเบี้ย แล้ว เหลือเป็นเงินสดที่เอาออกมาจ่ายปันผล ซื้อหุ้นคืน หรือเก็บไว้ขยายธุรกิจ เท่าไหร่
กระแสเงินสดอิสระ = กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน – ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินทรัพย์
free cash flow = operating cash flow – CAPEX
Free cash flow ใช้ประเมินหามูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจได้ด้วยนะครับ โดยการคิดลดแบบ discounted cash flow (DCF) เป็นการประเมินมูลค่าที่อิงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเข้าบริษัทครับ
- วงจรเงินสด (cash conversion cycle) ใช้ดูความเร็วในการหมุนเงินของบริษัทครับว่าใช้เวลานานมั้ย ตั้งแต่คิดไอเดีย ซื้อวัตถุดิบ ผลิต ขาย และได้เป็นเงินสดกลับมา ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี ส่วนเวลาจ่ายเงินยิ่งยืดไปได้นานก็ไหร่ก็ยิ่งดี สรุปว่า รับเงินไว จ่ายเงินช้าครับ
วงจรเงินสด = ช่วงเวลาขายสินค้า + ช่วงเวลาได้รับเงิน – ช่วงเวลาที่จ่ายเงิน
cash conversion cycle = inventory conversion period + receivable conversion period – payable conversion period
นี่เป็นอีกตัวที่ไม่มีเกณฑ์บ่งชี้แน่นอน เลยต้องดูเปรียบเทียบกับอดีตของบริษัทเองว่าที่ผ่านมารักษาความเร็วในการหมุนเงินไว้ได้ดีขนาดไหน ถ้าแนวโน้มคงที่หรือลดลงก็จะดีมากครับ แต่ถ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะส่งผลต่อความสามารถในการดำเนินกิจการระยะยาวได้ แล้วก็อย่าลืมเอาไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งด้วยนะครับ เพราะถ้าคู่แข่งหมุนเงินได้เร็วกว่า ก็เป็นไปได้ว่าประสิทธิภาพในการทำงานของเค้าดีกว่า อาจจะน่าลงทุนกว่าครับ
2. บริษัทมีศักยภาพในการเติบโตแค่ไหน
รู้ว่าบริษัทมั่นคงแล้ว ก็ต้องดูด้วยว่าบริษัทมีความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำ และสร้างกำไรเติบโตต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้บริษัทและเงินลงทุนของคุณมากแค่ไหน โดยวิเคราะห์จากอัตราส่วนเหล่านี้
- อัตราส่วนกำไรขั้นต้น (gross profit margin) ใช้ประเมินประสิทธิภาพของธุรกิจโดยดูว่า รายได้ที่ได้จากการขาย พอหักต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตออกแล้ว เหลือเป็นกำไรเท่าไหร่
อัตรากำไรขั้นต้น (%) = ขายสุทธิ – ต้นทุนขาย / ขายสุทธิ
gross profit margin (%) = sales – COGS / sales
อัตราส่วนกำไรขั้นต้นแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรขั้นพื้นฐาน ไม่มีมาตรวัดที่แน่นอน แต่ใช้เปรียบเทียบกับหุ้นอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ว่าทำกำไรได้มากกว่าคู่แข่งหรือไม่ครับ
- อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (operating margin) แสดงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการตั้งราคาสินค้า โดยดูว่า สัดส่วนรายได้จากการขายที่เหลืออยู่หลังหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เกี่ยวกับการผลิต รวมถึงค่าจ้างแรงงาน เป็นเท่าไหร่
อัตรากำไรจากผลการดำเนินงาน (%) = กำไรจากการดำเนินงาน / ขายสุทธิ
operating profit margin (%) = operating profit margin / sales
ถ้าแนวโน้มของ operating margin ลดลงเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ว่าต้นทุนอาจจะสูงขึ้น แต่ปรับราคาขึ้นไม่ได้ ทำให้กำไรขั้นต้นลดต่ำลง หรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่ยอดขายไม่เพิ่มขึ้นตามครับ
- อัตราส่วนกำไรสุทธิ (net profit margin ratio) ใช้ดูว่ารายได้แต่ละบาทที่บริษัททำได้ มีกำไรอยู่เป็นสัดส่วนเท่าไหร่
อัตรากำไรสุทธิ (%) = กำไรสุทธิ / ขายสุทธิ
Net Profit Margin (%) = net profit / sales
อัตราส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำกำไรทั้ง 3 ตัว ถ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องกันหลายๆ ปี ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี แสดงให้ว่าบริษัทน่าจะมีความสามารถทำกำไรให้คุณไปเรื่อยๆ ในระยะยาว
3. บริหารธุรกิจได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน
นอกจากคุณจะต้องมั่นใจว่าธุรกิจนั้นมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง สามารถทำกำไรไปได้ยาวๆ แล้ว คุณก็อาจจะอยากรู้ด้วยว่า เหล่าผู้บริหารใช้เงินลงทุนของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน ไม่ได้เอาเงินคุณไปผลาญเล่นจนค่าใช้จ่ายบาน กำไรต่อเงินลงทุนแต่ละบาทของคุณลดลงเรื่อยๆ ใช่ไหมครับ คุณสามารถวัดประสิทธิภาพในการบริหารเงินของบริษัทได้จาก
- อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (return on assets หรือ ROA) บอกคุณว่าทรัพย์สินที่บริษัทมีแต่ละบาท สามารถนำไปแปรสภาพเป็นกำไรได้ดีแค่ไหน หรือพูดง่ายๆ คือ บริษัทใช้ทรัพย์สินที่ตนเองมีอยู่แล้วไปต่อยอดธุรกิจได้คุ้มค่ามั้ย
ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ = กำไรสุทธิ / สินทรัพย์ หรือ กำไรสุทธิ / (ส่วนผู้ถือหุ้น + หนี้สิน )
return on assets = net income / assets or net income / (equity + liabilities)
ROA ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะแสดงว่าบริษัทสามารถทำกำไรและสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ในบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก แต่มีข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ ถ้า ROA สูงๆ มาพร้อมกับหนี้สินสูงๆ ด้วยแล้วละก็ แสดงว่าผลตอบแทนที่ได้สร้างมาจากการกู้ยืม ไม่ใช่เงินลงทุนครับ แบบนี้ค่อนข้างอันตรายเหมือนกัน
- อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (return on equity หรือ ROE) ROE จะเจาะลงไปให้คุณเห็นเลยว่า นี่คือสัดส่วนกำไรที่บริษัทสร้างให้คุณต่อ 1 บาทที่คุณลงทุนไป
ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (%) = กำไรสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น
return on equity (%) = net profit / equity
อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นหรือรักษาความสม่ำเสมอของผลตอบแทนในระดับสูงไว้ได้ บ่งบอกถึงความสามารถในการเติบโต และแข่งขันในตลาด รวมถึงมีความใส่ใจที่จะสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น
- SG&A to Sale จะบอกคุณว่ารายได้ 1 บาทที่บริษัททำได้ จะต้องใช้จ่ายเป็นค่าเกี่ยวกับการบริหารจัดการ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าโฆษณาสินค้า ค่าซื้ออุปกรณ์สำนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ เท่าไหร่
ค่าใช้จ่ายในการบริหารต่อยอดขาย = ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายทั่วไป
และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการทำธุรกิจ / รายได้SG&A to Sale (%) = selling, general & administrative expense / revenue
ยิ่งสัดส่วนค่าใช้จ่าย SG&A น้อยเท่าไหร่ ยิ่งดี เหลือเป็นกำไรให้ธุรกิจนำไปต่อยอดเยอะขึ้น แถมถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทก็ยังคงประคับประครองตัวเองไปได้โดยต้องปลดพนักงาน
- อัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ (inventory turnover) แสดงให้เห็นถึงความเร็วในการหมุนสินค้าของบริษัท โดยดูว่าเมื่อบริษัทลงทุนไปแล้วเท่านี้ บริษัทจะขายของได้กี่ครั้ง ยิ่งเยอะ ก็หมายความว่าบริษัทขายของได้เร็ว โดยปกติแล้วจะเปรียบเทียบกับอดีตแค่นั้นไม่ได้ ต้องดูเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมด้วยครับ ถึงจะเห็นประสิทธิภาพที่แท้จริงของบริษัท
อัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ = ต้นทุนสินค้าขาย / สินค้าคงเหลือเฉลี่ย
สินค้าคงเหลือเฉลี่ย = (สินค้าต้นงวด + สินค้าปลายงวด) / 2
inventory turnover = cost of good sold / avg. inventory
- อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร (fixed asset turnover) สินทรัพย์ถาวรคือสินทรัพย์จำพวกที่ดิน โรงงาน ตึกออฟฟิศ ซึ่งอัตราส่วนนี้ก็จะบอกให้คุณรู้ว่า บริษัทใช้สินทรัพย์เหล่านี้ในการสร้างรายได้ ได้คุ้มแค่ไหน
อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร = ขายสุทธิ / สินทรัพย์ถาวร
fixed asset turnover = sales / fixed asset
เช่นกันครับว่า อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวรไม่มีเกณฑ์ตัวเลขที่แน่นอน คุณจำเป็นต้องเปรียบเทียบตัวเลขปัจจุบันกับอดีตเพื่อดูแนวโน้มของบริษัท และเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมด้วยครับ
- อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (total assets turnover) คือบริษัทสามารถใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมดสร้างยอดขายได้กี่เท่า ถ้าสูงถือว่าสร้างได้มาก แต่ถ้าต่ำบริษัทไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ หรืออาจจะแปลได้ว่า บริษัทมีสินทรัพย์ที่ไม่สร้างรายได้อยู่ก็ได้
อัตราส่วนการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม = ขายสุทธิ / สินทรัพย์รวม
total Assets turnover = sales / average assets
4. นักลงทุนได้ผลตอบแทนคุ้มค่ามั้ย
หลังจากวิเคราะห์คุณภาพของบริษัทใน 3 มิติไปแล้วว่าบริษัทมีความศักยภาพที่จะเติบโตในระยะยาวมากเพียงใด ที่เหลือคุณแค่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า บริษัทน่าลงทุนหรือไม่ ซึ่งสิ่งสุดท้ายที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างมั่นใจ ก็คือดูว่าหากคุณเข้าไปลงทุนในฐานะบริษัท คุณจะได้อะไรกลับมาบ้าง แล้วคุ้มค่าแค่ไหน
- อัตราส่วนราคาต่อกำไร (price to earning ratio หรือ P/E) อัตราส่วนยอดนิยมตัวนี้จะบอกคุณว่า ราคาหุ้นเป็นกี่เท่าของกำไรที่บริษัทสร้างได้ ซึ่งส่งผลถึงระยะเวลาที่ต้องใช้ในการคืนทุนของคุณเองด้วย เช่น บริษัทมี P/E 10 เท่า หมายความว่า ณ ราคาหุ้น 10 บาท บริษัททำกำไรได้ 1 บาท ถ้าบริษัทยังคงสถิติการกำไรปีละ 1 บาทไปเรื่อยๆ ในปีที่ 10 คุณจะได้เงินกลับคืนมา 10 บาท หรือคืนทุนนั่นเอง
อัตราส่วนราคาต่อกำไร = ราคาปัจจุบัน / กำไรต่อหุ้น
price to earning ratio = price / earning per share
คุณอาจจะเคยได้ยินนักวิเคราะห์พูดกันว่าหุ้นนี้ควรมี P/E เท่านั้นเท่านี้ แต่จริงๆ แล้วค่า P/E ไม่ได้มีเกณฑ์มาตรฐานที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม และค่า P/E ในอดีตของบริษัทเองด้วย เมื่อเปรียบเทียบแล้วผลออกมาว่า
P/E สูงกว่าปกติหรือเพิ่มขึ้น เป็นไปได้ว่า มีคนกำลังแห่ซื้อหุ้นตามข่าว ทำให้ราคาพุ่ง แต่กำไรที่ทำได้ยังเหมือนเดิม หรือหุ้นกำลังเติบโต มีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้คนสนใจซื้อเพิ่มขึ้น
P/E Ratio ต่ำกว่าปกติหรือลดลง เป็นไปได้ว่า คุณได้ค้นพบหุ้นดีราคาถูก! แต่ก็ต้องสังเกตดีๆ เพราะบางบริษัททำกำไรเพิ่มลดไม่แน่นอน พอกำไรเพิ่มขึ้นแต่ละที P/E ก็ลดลง ดูเป็นหุ้นดีราคาถูกได้ เช่น หุ้นก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์
- อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี (price to book value ratio) เปรียบเทียบให้คุณเห็นว่า ถ้าคุณซื้อบริษัทวันนี้ คุณจะต้องใช้เงินมากหรือน้อยกว่าตอนที่เจ้าของบริษัทตั้งบริษัทขึ้นมาเท่าไหร่
อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี = ราคาปัจจุบัน / มูลค่าทางบัญชี
price to book value ratio = price / book value per shares
P/BV สูง หมายความว่า คุณต้องลงทุนสูงกว่าที่เจ้าของกิจการใช้ในการสร้างธุรกิจ ยิ่ง P/BV สูงมาก ยิ่งเท่ากับว่า คุณต้องใช้เงินลงทุนเยอะกว่าเจ้าของมาก ต้องดูให้ดีครับว่า ธุรกิจจะยังเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อไปได้หรือไม่
P/BV ต่ำ หมายความว่า บริษัททำกำไรเติบโตต่อเนื่อง และคุณจะได้ลงทุนด้วยเงินเกือบเท่ากับที่เจ้าของใช้จริงๆ แต่ก็ต้องระวังว่า ถ้าค่า P/BV ต่ำเกินไป อาจเป็นเพราะมูลค่าทรัพย์สินบางอย่างในบริษัทลดลง
P/BV ไม่สามารถบอกประสิทธิภาพในการทำกำไรจากสินทรัพย์ที่บริษัทถือครองอยู่ได้เลย คุณจึงต้องพิจารณาจากค่าอื่นประกอบ และต้องดูความสม่ำเสมอ และแนวโน้มของ P/BV ของบริษัทเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมด้วย
- มูลค่าสุทธิของกิจการ (enterprise value) คือ มูลค่าของธุรกิจเมื่อคำนึงถึงหนี้ที่บริษัทได้ก่อไว้ด้วย เป็นอัตราส่วนที่ช่วยคุณประเมินว่าบริษัทนี้กำลังถูกซื้อขายในตลาดหุ้นด้วยราคาที่ถูกหรือแพงกว่ามูลค่าของกิจการเท่าไหร่ นั่นคือ ถ้า market cap ของบริษัทต่ำกว่ามูลค่าสุทธิของกิจการ ก็แสดงว่าหุ้นยังราคาถูกอยู่
มูลค่าสุทธิของกิจการ = มูลค่าตลาด + หนี้สิน – เงินสด
enterprise value = market cap + debt – cash and investments
- อัตราการจ่ายปันผล (dividend payout ratio) บอกคุณว่าบริษัทจ่ายปันผลเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของกำไรต่อหุ้นในแต่ละปี แต่สมมุติบริษัทจ่ายปันผลเป็นสัดส่วน 100% ไม่ได้หมายความว่าบริษัทเอากำไรต่อหุ้นในปีนั้นๆ มาจ่ายปันผลหมดเลยนะครับ อาจจะเอากำไรที่สะสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีก่อนๆ มาจ่าย
อัตราการจ่ายเงินปันผล = เงินปันผลต่อหุ้น / กำไรสุทธิต่อหุ้น
dividend payout (%) = dividend per share / earning per share
บริษัทปันผลน้อยเป็นสัดส่วนน้อยหรือมาก ไม่ได้บ่งบอกว่าธุรกิจดีหรือแย่ เพราะในกรณีที่ผู้บริหารมองเห็นความจำเป็นต้องนำกำไรไปต่อยอดขยายธุรกิจ ก็อาจจะไม่จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเลย แต่คุณจะได้รับผลตอบแทนแบบ capital gain ที่สูงขึ้นครับ
- อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (dividend yield) บอกว่าหากคุณซื้อหุ้นที่ราคาหนึ่ง คุณจะได้รับเงินปันผลคิดเป็นสัดส่วนเท่าใดของราคาที่คุณจ่ายไป
อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน = เงินปันผลต่อหุ้น / ราคาหุ้น
dividend yield (%) = dividend per share / price
บริษัทที่มี dividend yield สูงมักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างอิ่มตัว ไม่ค่อยนำเงินไปลงทุนต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติม ทำให้ผลตอบแทนจาก capital gain หรือการเพิ่มขึ้นของราคาไม่ค่อยเพิ่ม เหมาะกับคนที่อยากได้ passive income เป็นเงินปันผลทุกไตรมาส หรือทุกปี โดยไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงสูงๆ ครับ
จะเห็นได้ว่า เมื่อคุณวิเคราะห์คุณภาพของธุรกิจทั้ง 4 ด้านจากงบการเงิน ซึ่งเป็นข้อมูลในอดีต แสดงถึงความสำเร็จที่บริษัทได้ทำไว้แล้ว คุณก็มองเห็นแนวโน้มของธุรกิจในอนาคตได้พอสมควร โดยไม่ต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ ความคาดหวังของตลาด หรือคำสัญญาใดๆ ของผู้บริหารเลย ดังที่บัฟเฟตต์เคยกล่าวไว้ครับว่า
“กระจกมองหลัง ย่อมชัดกว่ากระจกมองหน้าเสมอ”
หากคุณตัดสินใจลงทุนด้วยข้อมูลที่เป็นจริงและเป็นกลางเช่นนี้ คุณก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่งแล้วครับว่า การลงทุนของคุณจะมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
ถ้าอยากลองนำอัตราส่วนเหล่านี้ไปใช้วิเคราะห์หุ้นบ้างแล้วละก็ ล็อกอินเข้าใช้งาน www.jitta.com แล้วเลือกหุ้นที่คุณสนใจเพื่อดู Jitta FactSheet ได้เลยครับ
คุณจะเห็นอัตราส่วนเหล่านี้ย้อนหลัง 10 ปี 10 ไตรมาส แสดงบนตารางขาวสะอาดตา อ่านง่าย มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของแต่ละค่าคำนวณไว้ให้คุณเรียบร้อย พร้อมกราฟแสดงแนวโน้มที่ชัดเจน ทำให้การวิเคราะห์งบการเงินง่ายขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ที่สำคัญคือ…ใช้งานได้ทุกคนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ครับ!
ลองดูงบการเงิน Jitta FactSheet เสริมจากการดู Jitta Score และ Jitta Line ดูนะครับ จะได้ตัดสินใจลงทุนอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น!