Amazon ก่อตั้งโดยนาย Jeff Bezos ในปี 1994 ในช่วงแรกขายหนังสือแล้วก็ขยายมาขายสินค้าอื่นๆ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เกม สินค้าแฟชั่น จนปัจจุบันมีสินค้าหลายร้อยล้านชิ้นที่ขายอยู่บนเว็บไซต์
Amazon ประกอบธุรกิจหลักๆ อยู่ 2 ส่วน
1. ขายสินค้าออนไลน์ทางเว็บไซต์ Amazon.com
มีทั้งสินค้าที่บริษัทขายเอง และสินค้าที่บริษัทคู่ค้า (3rd party) มาวางขาย นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่ Amazon ผลิตขึ้นมาด้วยการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเอง ได้แก่ Amazon Alexa, Music, Kindle E-Book
มี Prime Member ที่สมาชิกต้องจ่ายเงิน $119 ต่อปี เพื่อที่จะได้บริการส่งของฟรีภายใน 2 วันไม่จำกัดจำนวน รวมทั้งยังสามารถดูหนังได้ฟรีไม่จำกัดจากบริการสตีมมิ่งของ Amazon
ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกกว่า 150 ล้านคน ได้เงินเข้ามาทุกปีกว่า $17,800 ล้าน
นอกจากนี้ยังมีห้าง Whole Foods Market ซึ่งขายสินค้าของชำที่ซื้อกิจการเข้ามาในปี 2017
2. ธุรกิจให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง Amazon Web Services (AWS)
ที่ให้บริการ เซิร์ฟเวอร์ การเก็บข้อมูล ระบบบิ๊กดาต้า และเอไอ ปัจจุบันเป็นธุรกิจดาวเด่นของ Amazon ที่มีการเติบโตสูงมาอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของข้อมูลการเงิน ผมเข้าไปดูใน Jitta เพื่อทำการวิเคราะห์ดังนี้
- รายได้ปี 2017 ทำได้ $177,866 ล้าน กำไร $3,033 ล้าน
- รายได้ปี 2018 ทำได้ $232,887 ล้าน กำไร $10,073 ล้าน
- รายได้ปี 2019 ทำได้ $280,552 ล้าน กำไร $11,588 ล้าน
- รายได้ไตรมาสที่สองของปี 2020 ทำได้ $88,912 ล้านเติบโตขึ้นถึง 40% YoY และมีกำไรสุทธิ $5,243 เพิ่มขึ้น 100% YoY บริษัทได้รับผลดีอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19
- ถ้ามาดูที่ AWS รายได้อยู่ที่ $10,810 ล้านเติบโต 29% YoY ลดลงจากไตรมาสเเรกที่ทำได้ 33% เนื่องจากการชะลอตัวการใช้งานคลาวด์จากบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้
- ตอนนี้ AWS กลายเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ปีละ $43,000 ล้านไปแล้ว
แม้ว่ารายได้ของ AWS จะเป็นสัดส่วนเพียง 12.15% ของรายได้ทั้งหมดของ Amazon แต่กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income) มีสัดส่วนมากถึง 57.5% เนื่องจากอัตราทำกำไรของ AWS สูงกว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ชและค้าปลีกมาก
วิเคราะห์การแข่งขันในส่วนของอีคอมเมิร์ชและค้าปลีก
เนื่องจาก Amazon ได้เข้าไปแข่งขันในหลายๆ อุตสาหกรรมจึงมีคู่แข่งจำนวนมาก
ทั้งผู้ประกอบการณ์แบบร้านค้าดั้งเดิม ร้านค้าที่มีเว็บไซต์ ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ชแบบครบวงจร บริษัทค้นหาข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบสินค้า
แต่ด้วยความที่ Amazon มีแพลตฟอร์มที่ครบวงจร และเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกในธุรกิจนี้มา จำนวนลูกค้าและคู่ค้าจึงมากกว่า เลยได้ประโยชน์ในการแข่งขันด้านราคา และการอำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วกว่าที่อื่น
ทางด้านธุรกิจคลาวด์ AWS ยังคงเป็นผู้นำตลาด Cloud Infrastructure ด้วยส่วนแบ่ง 30% ตามมาด้วย Azure 18% และ Google Cloud Platform 9%
ข้อมูลจาก Synergy Research Group: Aug 2020
ด้วยการที่เป็นผู้ให้บริการรายแรกตั้งแต่ปี 2006 เลยทำให้มีลูกค้าและสตาร์ทอัพใช้บริการอยู่มากที่สุด ทำให้บริษัทได้เปรียบในแง่ของสเกลการให้บริการ ราคาและเครือข่ายผู้ใช้บริการและบริษัทคู่ค้า
ข้อมูลจาก Gartner ระบุว่าตลาดบริการคลาวด์จะสามารถเติบโตได้สูงถึง 21% แบบทบต้นถึงปี 2023 เพราะฉะนั้น AWS ยังสามารถเติบโตได้อีกอย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายเรามาดูที่ราคาหุ้นตอนนี้มีค่า PEอยู่ที่ 126 เท่า จัดว่าราคาค่อนข้างสูงถ้าดูที่ค่า PE อย่างเดียว
สำหรับหุ้นที่เติบโตรวดเร็ว แต่กำไรยังไม่ค่อยมีเพราะลงทุนเยอะ มักใช้วิธีดูความถูกแพงของหุ้นจากอัตราส่วน Price Per Sales (P/S)
โดยของ Amazon อยู่ที่ 5 เท่า เมื่อเทียบกับหุ้นอย่าง Alibaba ที่ทำธุรกิจคล้ายๆกันทั้งอีคอมเมิร์ช ค้าปลีก และธุรกิจคลาวด์อยู่ที่ 9 เท่า
ยิ่งถ้าเทียบกับธุรกิจที่เป็น Software as a Services (SaaS) ที่มีค่าสูงเกิน 10 เท่าหลายตัวๆ หุ้น Amazon ก็อาจจะดูไม่แพงเกินไป