by Jitta
วันที่ 22 ส.ค. 2563 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 26 ส.ค. 2563
รีวิว DocuSign หุ้นเทคม้ามืดที่ใครๆ ก็รัก

บริษัท DocuSign ก่อตั้งในปี 2003 โดยนาย Court Lorenzini และกลุ่มเพื่อน หลังจากร่วมกันซื้อธุรกิจ DocuTouch ออกมาจากบริษัท Netupdate ที่เคยทำงานด้วยกัน แล้วตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า DocuSign

DocuSign เป็นโซลูชันการทำสัญญาแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การสร้างสัญญาขึ้นมาแบบอัตโนมัติ ระบบช่วยลดขั้นตอนในการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญากับคู่ค้า การเซ็นสัญญาแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยความปลอดภัยขั้นสูง และยังเชื่อมต่อไปที่ระบบที่เรียกเก็บเงินกับลูกค้าได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี AI ที่ช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงในตัวสัญญา และแนะนำข้อกำหนดที่ควรเพิ่มเข้าไปในสัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับองค์กร

ปัจจุบันมีลูกค้าองค์กรใช้งานทั้งหมด 661,000 รายและมีผู้ใช้มากกว่า 100,000,000 คนทั่วโลก

#กลยุทธ์ในการเติบโต ของบริษัทเน้นไปที่การหาลูกค้าใหม่ จากลูกค้าทั้งหมด 661,000 ราย บริษัทเชื่อว่าเป็นแค่ 1% ของลูกค้าองค์กรทั่วโลก เพราะฉะนั้นยังมีโอกาสขายลูกค้าที่เหลืออีก 58.5 ล้านราย

กลยุทธ์ถัดไปคือการมุ่งเน้นให้ลูกค้าเดิมใช้บริการมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ บริษัทเคยมีลูกค้ารายใหญ่เร่ิมใช้งานจากการเซ็นเอกสารเพื่อการขาย แต่หลังจากที่ใช้งานได้ดี ก็ต่อยอดไปใช้งานในแผนกทรัพยากรบุคคล การเงิน ระบบงานบริการ จนใช้งานมากถึง 300 ระบบในองค์กร

ในส่วนของ #ข้อมูลการเงิน ผมเข้าไปดูใน Jitta เพื่อทำการวิเคราะห์ดังนี้

  • รายได้รอบปีที่จบ มกราคม 2018 ทำได้ $518 ล้าน ขาดทุน $52 ล้าน
  • รายได้รอบปีที่จบ มกราคม 2019 ทำได้ $700 ล้าน ขาดทุน $426 ล้าน
  • รายได้รอบปีที่จบ มกราคม 2020 ทำได้ $973 ล้าน ขาดทุน $208 ล้าน
  • รายได้ไตรมาสแรกของปี 2020 (จบเดือนเมษายน 2020) ทำได้ $297 ล้าน ขาดทุน $47.8 ล้าน
  • รายได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 37.05% แบบทบต้นตั้งแต่ปี 2018

ในส่วนของไตรมาสล่าสุดก็ยังสามารถเติบโตรายได้ได้มากถึง 39.4% แม้ว่ายังขาดทุนอยู่ $47 ล้านซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY)

บริษัทสามารถหาลูกค้าใหม่ได้ 68,000 ราย เพิ่มขึ้น 43% YoY โดยมีลูกค้ามากถึง 58,000 รายที่ซื้อบริการโดยตรงจากเวปไซด์ของบริษัท ซึ่งเป็นช่องทางที่บริษัทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางการขาย

เนื่องจากธุรกิจแบบ Software as a Services (SaaS) ส่วนมากยังไม่มีกำไร นักลงทุนจึงต้อง วิเคราะห์คุณภาพของหุ้น ตามหลักการดังนี้

1. ดูที่ขนาดของตลาด (Total Addressable Market)

ผู้บริหารคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของ DocuSign อย่างเดียวอยู่ที่ $25,000 ล้าน ถ้าเทียบกับรายได้ปีนี้ที่คาดไว้ที่ $1,315 ล้าน ตอนนี้บริษัทมีรายได้อยู่เพียง 5% ของตลาดทั้งหมด เพราะฉะนั้นในระยะยาวบริษัทยังมีโอกาสเติบโตได้อีกเยอะ

2. ดูอัตราเติบโตรายได้ต่อลูกค้าเดิม (Net Dollar Retention Rate)

บริษัทมีอัตราเติบโตรายได้ต่อลูกค้าเดิม (Net Dollar Retention Rate) อยู่ที่ 119% ในไตรมาสล่าสุด สูงขึ้นจากไตรมาสที่แล้วที่ 117% เป็นตัวเลขที่บอกว่าลูกค้าเดิมใช้บริการของบริษัทและมีการเพิ่มจำนวนผู้ใช้หรือปรับเปลี่ยนไปสู่บริการที่มีราคาสูงขึ้น (Upgrade Plan)

นอกจากนี้บริษัทยังมีลูกค้าที่จ่ายเงินมากกว่า $300,000 เพิ่มขึ้น 46% เป็นทั้งหมด 473 ราย

3. วิเคราะห์ว่าลูกค้าสามารถย้ายไปคู่แข่งได้ง่ายแค่ไหน (Switching Cost)

เนื่องจากพอมีการใช้งานในองค์กรแล้วต้องมีการเชื่อมต่อไปที่ระบบการเงิน การขาย  รวมทั้งมีเอกสารสัญญาที่เซ็นไว้แล้วจำนวนมากกับคู่ค้า เลยทำให้การที่จะย้ายออกไม่ใช่เรื่องง่าย

DocuSign พยายามสร้างแพลตฟอร์มที่มี Network Effect ยิ่งมีคนเข้ามาใช้งานมากขึ้น ยิ่งทำให้แพลตฟอร์มมีมูลค่ามากขึ้น

4. วิเคราะห์คู่แข่งในตลาด

ซึ่งหลักๆ ก็คือ Adobe และ SignNow จากข้อมูลของ Forbes พบว่า DocuSign มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 70% แม้ว่าจะคู่แข่งจะมีโซลูชั่นที่คล้ายกัน แต่ด้วยความที่เป็นรายแรกที่เข้ามาทำตลาดจึงทำให้ได้เปรียบในเเง่ของระบบที่เชื่อมต่อไว้ในองค์กรอยู่แล้ว จะเปลี่ยนก็ยากมาก

นอกจากนี้บริษัทยังมีการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องทั้งการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์สัญญา และการร่วมมือกับคู่ค้าชื่อดังอย่าง Salesforce.com และ SAP ในการเชื่อมต่อโซลูชั่นเข้าด้วยกัน

ทั้งหมดนี้ผมมองว่า DocuSign เป็นหุ้นที่มีคุณภาพที่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตามการที่ราคาปรับตัวขึ้นมากว่า 169% แล้วในปีนี้ การวิเคราะห์ราคาที่เข้าลงทุนจึงสำคัญมาก

จากข้อมูลของ Jitta พบว่า DocuSign มีค่า Enterprise Value (EV) ต่อยอดขายในปี 2020 อยู่ที่ 24.42 เท่า (ค่า EV หาได้จากการนำเอามูลค่าตลาด $32,600 ล้านลบด้วยเงินสดที่มีอยู่ $900 ล้านและบวกเพิ่มหนี้สินเข้าไป $470 ล้าน และยอดขายในปีนี้ที่ $1,317 ล้าน)

ในขณะที่หุ้น SaaS ตัวอื่นอย่าง Atlassian อยู่ที่ 27 เท่า ServiceNow อยู่ที่ 17 เท่า และ Okta อยู่ที่ 32 เท่า

#ความเสี่ยง ในการลงทุนหุ้นตัวนี้ผมมองว่าอยู่ที่ราคาเข้าซื้อเป็นหลัก เพราะในแง่ของธุรกิจยังน่าจะเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่องแม้กระทั่งช่วงหลังวิกฤต Covid-19