by Jitta
วันที่ 31 ส.ค. 2563 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 12 ม.ค. 2566
ตรวจงบไตรมาส 2 หุ้นโรงพยาบาล

ทีแรกหลายคนคาดกันว่า ถ้ามีโรคระบาด โรงพยาบาลก็น่าจะต้องดีสิ เพราะคนไข้น่าจะต้องเยอะ

แต่ของจริงกลายเป็นว่า คนไข้ต่างชาติมาไม่ได้ คนไข้ไทยก็กลัวไม่ไปโรงพยาบาลกัน สุดท้ายกำไรของหุ้นโรงพยาบาลจึงลดลงอย่างมากในไตรมาส 2

ภาพรวมกลุ่มโรงพยาบาล 24 แห่ง (ขออนุญาติรวม IMH โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บเข้ามาด้วย) จะเป็นแบบนี้

  • รายได้รวม 32,364 ล้านบาท -25% (มีแค่ RAM, LPH ที่รายได้เพี่ม)
    • RAM เปลี่ยนสถานะ วิภาราม จาก บ.ร่วม เป็น บ.ย่อย ทำให้รายได้เพิ่มเยอะ
    • LPH รายได้ตรวจปฏิบัติการห้อง Lab เยอะขึ้นสำหรับสินค้าเกษตร อาหาร ยา
  • กำไรสุทธิ 915 ล้านบาท -79%
    • จะเห็นได้ว่า กำไรลดลงมากกว่า รายได้ เยอะมาก เหตุผลก็คือ ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เป็น Fix Cost ของโรงพยาบาลสูงมาก ทั้งค่าเงินเดือนบุคลากร ค่าเสื่อม ค่าอุปกรณ์ ค่าน้ำ ค่าไฟต่างๆ ที่ถึงแม้ว่าจะลดลงไปมากแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยได้หมดอยู่ดี
    • 5 โรงพยาบาล กำไรเพิ่มขึ้น คือ SKR, M-CHAI, RJH, CHG, BCH
      • 3 โรงพยาบาลกำไรต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้วคือ SKR, CHG, BCH
    • 11 โรงพยาบาลขาดทุน คือ EKH, RAM, CMR, NEW, LPH, KDH, VIBHA, THG, IMH, WPH, PRINC
      • 2 โรงพยาบาลขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้วคือ PRINC, WPH

วันนี้เราจะมาคุยกันถึง 3 โรงพยาบาลที่สามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องว่าเพราะอะไรถึงเก่งขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เพื่อนๆ ต่างก็กำไรหดหายกันไปหมด

SKR

  • โรงพยาบาลศิครินทร์ ก่อตั้งเมื่อปี 1979 ด้วยชื่อ สำโรงการแพทย์ ปัจจุบันมี 3 แห่ง คือ บางนา สมุทรปราการ และหาดใหญ่ สงขลา
  • เตียงจดทะเบียน 805 เตียง เปิดใช้งานประมาณ 560 เตียง
  • โครงสร้างรายได้

o 40% ผู้ป่วยทั่วไป

o 20% ลูกค้าองค์กร

o 5% ต่างประเทศ

o 35% ประกันสังคม

  • จำนวนผู้ประกันตน ประมาณ 350,000 ราย
  • รายได้ Q2 เท่ากับ 871 ล้านบาท -0.4% ถือว่าทำได้ดี เพราะหลายโรงพยาบาลรายได้ลดลงกันหมด ศิครินทร์มีรายได้ที่ดีจาก IPD มากขึ้น ผู้บริหารบอกว่ามีคนไข้ High End จากโรงพยาบาลอื่นย้ายมารักษาที่นี่เพิ่มเติมด้วย รวมทั้งปีที่แล้วมีจำนวนผู้ประกันตนที่สมุทรปราการเพิ่มเท่าตัว จาก 60,000 เป็น 120,000 ราย
  • กำไรสุทธิ Q2 เท่ากับ 83.8 ล้านบาท +204.6% ที่เห็นว่าโตเยอะมาก เพราะควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ดี ทั้งค่าธรรมเนียมแพทย์ ค่า OT รวมถึงมีรายได้ภาษี 16 ล้านบาท จากการได้สิทธิลดหย่อนบันทึกตัดจ่ายทรัพย์สิน
  • Jitta Score 5.55 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี
  • Jitta Factors และ Jitta Signs โดดเด่นมากในเรื่องของตัวเลขงบการเงิน ที่สามารถทำรายได้ และกำไร ได้เติบโตต่อเนื่อง จะมีติดก็แค่ SG&A ที่เพิ่มขึ้นอยู่
  • P/E 38 เท่า P/BV 2.96 เท่า
  • ราคาแพงกว่า Jitta Line 63.6%

แนวโน้มในอนาคตของ SKR

นอกจากชูเรื่อง #ผ่าตัดไว้ใจศิครินทร์ ครึ่งปีหลังจะมีการเปิดสถาบันกุมารเวช มีแพทย์เฉพาะทางดูแลตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึง 15 ปี รวมทั้งเปิดศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย เพิ่มเติมอีกด้วย และการที่ค่าหัวประกันสังคมเพิ่ม ก็ช่วยเพิ่มรายได้ให้อีกทาง

CHG

  • โรงพยาบาลจุฬารัตน์ ก่อตั้งเมื่อปี 1986 ปัจจุบันมี 9 โรงพยาบาล 4 คลินิก 749 เตียง ครอบคลุม 6 จังหวัด เน้นโซนตะวันออก บางนา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง
  • โรงพยาบาลใช้ชื่อเป็นตัวเลขต่อท้าย ที่เราคุ้นกันก็คือ จุฬารัตน์ 3, จุฬารัตน์ 9 และจุฬารัตน์ 11
  • โครงสร้างรายได้

o 63% เงินสด

o 37% ประกันสังคม+รัฐบาล

  • สัดส่วนคนไข้ต่างชาติ น้อยมาก ประมาณ 3%
  • จำนวนผู้ประกันตน ประมาณ 444,000 ราย
  • รายได้ Q2 เท่ากับ 1,150 ล้านบาท -3.1% รายได้ลดไม่เยอะ เป็นการลดจากคนไข้ทั่วไปทั้ง OPD และ IPD แต่รายได้ประกันสังคมเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนผู้ประกันตน และค่าหัวที่เพิ่มขึ้น
  • กำไรสุทธิ Q2 เท่ากับ 154.8 ล้านบาท +26.1% ควบคุมต้นทุนได้ดี ลดจำนวนแพทย์ part time ลดค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้เยอะ
  • Jitta Score 6.31 ดีเลยทีเดียว
  • Jitta Factors และ Jitta Signs โดดเด่นมากในเรื่องของตัวเลขงบการเงิน สามารถทำรายได้และกำไรเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอทั้งในอดีตและปัจจุบัน หนี้สินระยะยาวก็ค่อนข้างต่ำ (D/E 0.66 เท่า) SG&A ก็มีแนวโน้มลดลง
  • P/E 39.9 เท่า P/BV 8 เท่า
  • ราคาแพงกว่า Jitta Line 165.27%

แนวโน้มในอนาคตของ CHG

คนไข้เงินสดมีแนวโน้มกลับมามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ก็จะเป็นตัวเพิ่มรายได้ให้อีกทาง นอกเหนือจากประกันสังคมที่รายได้เพิ่มอยู่แล้ว และโรงพยาบาล 2 แห่งที่เปิดเมื่อปี 2018 คือ จุฬารัตน์ 304 และรวมแพทย์ ฉะเชิงเทรา เริ่มที่จะถึงจุดคุ้มทุนแล้ว ก็จะเป็นตัวช่วยเพิ่มกำไรให้มากขึ้น

BCH

  • โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ก่อตั้งเมื่อปี 1993 มีโรงพยาบาลครอบคลุมทุกระดับ คือ World Medical Center, เกษมราษฎร์ และการุญเวช
  • 13 โรงพยาบาล เตียงจดทะเบียน 2,296 เตียง
  • โครงสร้างรายได้

o 61% เงินสด

o 37% ประกันสังคม

  • จำนวนผู้ประกันตน ประมาณ 884,000 ราย
  • สัดส่วนคนไข้ต่างชาติ ประมาณ 11-12%
  • รายได้ Q2 เท่ากับ 2,104 ล้านบาท -2.9% มาจากทั้งรายได้ผู้ป่วยทั่วไปและประกันสังคมที่ลดลง
  • กำไรสุทธิ Q2 เท่ากับ 278.6 ล้านบาท +14.2% ควบคุมต้นทุนได้อย่างดี ทั้งจำนวนแพทย์ ตารางเวรบุคลากรให้สอดคล้องกับจำนวนคนไข้ ปรับลดค่าธรรมเนียมแพทย์ลงได้
  • Jitta Score 6.62 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี
  • Jitta Factors และ Jitta Signs โดดเด่นมากในเรื่องของตัวเลขงบการเงิน ทำรายได้และกำไรได้เติบโตต่อเนื่อง ปันผลเพิ่มทุกปี แต่ว่า SG&A เพิ่ม และมีการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในการเปิดโรงพยาบาลใหม่
  • P/E 33.4 เท่า P/BV 6.1 เท่า
  • ราคาแพงกว่า Jitta Line 74.28%

แนวโน้มในอนาคตของ BCH

ข้อดี คือ จำนวนผู้ประกันตนเยอะ ทำให้ได้ประโยชน์จากการที่ค่าหัวประกันสังคมเพิ่ม แต่จากการที่คนไข้ต่างชาติยังไม่กลับมา ก็จะทำให้รายได้ชอง World Medical Center คงยังไม่ดีเท่าที่ควร และการที่เปิดโรงพยาบาลใหม่ 3 แห่งในเวลาไล่เรี่ยกันคือ เกษมราษฎร์ อรัญประเทศ Q2’20 เกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี Q4’20 เกษมราษฎร์ เวียงจันทน์ ประเทศลาว Q1’21 ก็จะเกิดค่าเสื่อมเข้ามากดดันในช่วงแรกอย่างมากได้

Source: S&P Global Market Intelligence เรียบเรียงโดย Jitta