คุณลองนึกภาพพนักงานออฟฟิศสองคน
คนหนึ่งทุ่มเทเวลาให้กับการทำงาน มาคนแรกกลับคนสุดท้าย พักกลางวัน 10 นาที (ซื้อข้าวเซเว่น) แล้วกลับมาปั่นงานงุดๆ หลังกองเอกสาร แต่ผลงานอยู่ระดับปานกลาง ไม่มีอะไรโดดเด่น
ส่วนอีกคนเข้าออกงานตรงเวลาเป๊ะ กลางวันก็ออกไปทานข้าว เดินเล่น ซื้อกาแฟ ดูสบายใจเหมือนไม่มีอะไรทำ แต่มีผลงานชิ้นโบว์แดงมาโชว์ให้หัวหน้าปลาบปลื้มตลอด
คุณอยากเป็นพนักงานแบบไหน
ธรรมดาที่ใครๆก็อยากเป็นพนักงานคนที่สอง คนที่ทำน้อยแล้วได้มาก คนที่รู้ว่าผลลัพธ์ไม่ได้แปรผันตามแรงงานที่ทุ่มเทลงไป แต่ผลลัพธ์จะดีหรือไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่ใช้เป็นสำคัญ
การลงทุนก็เช่นกัน หลายคนนึกภาพนักลงทุนเป็นพนักงานออฟฟิศคนแรก ที่ใช้เวลาส่วนมากไปกับตาราง Excel เส้นกราฟ งบการเงิน ติดตามข่าวสาร คอยวิเคราะห์หาหุ้นดีมาใส่พอร์ต และปรับพอร์ตบ่อยครั้ง หวังจะเอาชนะอัตราการเติบโตของดัชนีตลาดโดยรวม เราจะเรียกนักลงทุนคนนี้ว่านักลงทุนเชิงรุก
ในขณะที่นักลงทุนอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่านักลงทุนเชิงรับ จะซื้อหุ้นตามดัชนีแล้วถือไว้ ปีหนึ่งจะซื้อขายหุ้นเพื่อปรับพอร์ตทีหนึ่ง ตอนตลาดโตก็มองดูอย่างใจเย็น ตอนตลาดตกก็ไม่ได้ผวาไปกับตัวเลขสีแดงๆ ยังคงยึดมั่นในกลยุทธ์ที่ตนเองเลือกไว้ และทำตามอย่างเป็นระบบ
สุดท้าย สถิติก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ใน 5 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนเชิงรุกที่เลือกหุ้นอย่างขยันขันแข็งเพียง 11.70% เท่านั้น ที่สามารถสร้างผลตอบแทนสูงกว่านักลงทุนเชิงรับที่ซื้อหุ้นตามดัชนีได้ และเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวจะยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เปอร์เซ็นต์ชนะจะเหลือเพียง 9% ผ่านไป 25 ปี เหลือ 5% และผ่านไป 50 ปีจะเหลือแค่ 2%*
เท่ากับว่า ยิ่งลงทุนเชิงรุกมาก ยิ่งมีโอกาสแพ้ดัชนีมาก
เหตุที่การลงทุนเชิงรับ หรือ passive investing ให้ผลตอบแทนดีกว่านั้น เพราะจุดเด่น 3 ประการคือ
- เน้นการสร้างผลตอบแทนทบต้นในระยะยาว
- จำกัดจำนวนครั้งซื้อขายให้น้อยที่สุด เพื่อ
- ลดค่าธรรมเนียมและภาษี ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
ไม่ว่าจะลงทุนในดัชนีตลาด กองทุน ETF หรือ Jitta Ranking ตราบใดที่คุณลงทุนโดยยึดมั่นในหลักการทั้งสามข้อนี้ คุณก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในสไตล์นักลงทุนเชิงรับได้
การลงทุนเชิงรับจึงเปรียบเสมือนการ “ทำน้อยแต่ได้มาก” เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายว่าดีที่สุดสำหรับนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยในระยะยาว ไม่เว้นกระทั่งปรมาจารย์อย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่กล่าวว่า “แค่ลงทุนในกองทุนรวมดัชนีอย่างสม่ำเสมอ นักลงทุนที่ไม่มีความรู้อะไรก็สร้างผลตอบแทนชนะมืออาชีพส่วนมากได้แล้ว”
นั่นคือสาเหตุว่าทำไมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนแบบ passive จึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่มีเงินลงทุนไหลเข้ากองทุนแบบ passive รวมทั้งสิ้น US$961 พันล้านนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 เป็นต้นมา จนครองสัดส่วน 72% ของเงินที่ลงทุนในกองทุนทั้งหมด และตัวเลขนี้ก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่กองทุนแบบ active ต้องเผชิญกับเงินลงทุนที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ
คราวหน้าเราจะมาเจาะลึกกันว่า เพราะอะไรนักลงทุนเน้นคุณค่าอย่างบัฟเฟตต์ ถึงแนะนำให้ทุกคนวางเงินไว้ในกองทุนที่ลงทุนในดัชนีตลาด แทนที่จะพยายามเอาชนะตลาดด้วยการเลือกหุ้นเอง หรือมอบหมายเงินลงทุนของคุณให้เหล่า “มืออาชีพ” จัดการให้
*ที่มา: The Little Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns