by Jitta
วันที่ 5 เม.ย. 2560 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 15 เม.ย. 2560
ทำไมกองทุนลงทุนต่างกับ Jitta

มีคำถามมาจากคุณ Tawan Banchuen ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน เพื่อให้เข้าใจมุมมองการลงทุนและเข้าใจ Jitta ได้ดีขึ้น ผมเลยขอนำมาตอบในโพสต์ใหม่นี้นะครับ จะได้อ่านคำถาม คำตอบได้ง่ายๆ

เมื่อวานนี้เอา jitta ให้กับผู้จัดการกองทุนของ JP Morgan ดู แปลกดีที่ matrix ของ jitta เกือบจะตรงกันข้ามกับกองทุนนั้นเลย หุ้นไทยที่ได้ jitta score สูงสุดตอนนี้เช่น BEC BBL ทางกองทุนไม่มองเลย แต่กำลังซื้อ PTTGC กับ SCC ซึ่งได้ jitta score ต่ำมาก อยากจะลองถามทางทีมงานว่าทำไม PTTGC กับ SCC ถึงได้คะแนนต่ำครับ ขอบคุณครับ
– Tawan Banchuen

จริงๆในคำถามนี้ มีหลายๆอย่างให้เราต้องทำความเข้าใจครับ จะได้ทำให้เข้าใจคำตอบและหลักการลงทุนของ Jitta ได้ดีขึ้นดังนี้ครับ

1. Jitta Score ที่สูงนั้น หมายถึง บริษัทนั้นเป็นบริษัทที่ดี

มีการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยม มีความสามารถในการแข่งขันระยะยาว และจะนำความมั่งคั่งมาสู่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวครับ อย่างที่ผมพูดไปเสมอนะครับว่า Jitta Score นั้น มองในมุมมองของธุรกิจเป็นหลักว่าบริษัทไหนดี บริษัทไหนไม่ดี ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นเลยสักนิดครับ

ดังนั้นในกรณีของ BEC และ BBL นั้น การที่ Jitta Score สูง ก็คือ ทั้งสองบริษัทนี้เป็นบริษัทที่ดีมาก คุ้มค่ากับการลงทุนระยะยาว เพราะทั้ง 2 บริษัทจะส่งผ่านความมั่งคั่งมาให้กับผู้ถือหุ้นได้ปีแล้วปีเล่าครับ

ซึ่งอย่างที่เรารู้ๆกันว่าทั้ง BEC และ BBL นั้น ทำธุรกิจมาได้ยาวนานมากกว่า 40 ปีกันทั้งคู่ ธุรกิจผ่านวงจรเศรษฐกิจดีและแย่มาหลายครั้ง ซึ่งทั้ง BEC และ BBL ก็ยังสามารถบริหารธุรกิจให้มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นมาได้เรื่อยๆ และผู้ถือหุ้นของบริษัททั้ง 2 ก็มีความมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะครอบครัวผู้ก่อตั้งทั้ง มาลีนนท์ และ โสภณพาณิชย์ ที่มีความมั่งคั่งในระดับต้นๆของประเทศไทยครับ

สำหรับในกรณีของ PTTGC กับ SCC ที่ได้คะแนน Jitta Score ต่ำนั้น จริงๆ Mek Srunyu Stittri ได้ตอบไปแล้วนะครับ ผมก็นำมาสรุปตรงนี้อีกครั้งนึง

PTTGC นั้น ชัดเจนว่าบริษัทเพิ่งเข้า IPO ดังนั้นข้อมูลการเงินที่มีจึงน้อยมาก ทำให้มองได้ยากว่าบริษัทจะมีคุณภาพและศักยภาพมากน้อยแค่ไหนในระยะยาวครับ และจากข้อมูลงบการเงินที่มีตั้งแต่ปี 2010-2013 นั้น ก็จะเห็นได้ว่า บริษัทไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งมาก เพราะรายได้และกำไรมีการลดลงอย่างหนักในบางปี และไม่สามารถรักษาต้นทุนในการทำธุรกิจได้ รวมทั้งมี ROE ที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ในระยะยาวแล้วการลงทุนในธุรกิจแบบนี้ ผู้ถือหุ้นจะไม่ได้รับมั่งคั่งเพิ่มขึ้นสักเท่าไหร่ครับ

ส่วนกรณี SCC นั้น ก็เป็นบริษัทที่ดีครับ เพียงแต่อาจจะไม่ดีเท่ากับ BEC และ BBL ในช่วงที่ 10 ที่ผ่านมา และจะเห็นได้ว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2008-2013 นั้น ในขณะที่ BEC และ BBL มีการเติบโตของรายได้อย่างสม่ำเสมอนั้น SCC มีช่วงตกต่ำหนักๆในปี 2008, 2011, 2012 ครับ

รวมทั้ง Net Profit Margin และ ROE ของ SCC ก็มีความผันผวนค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับ BEC และ BBL ทำให้เรารู้ได้ว่าความสามารถในการแข่งขัน และ การบริหารจัดการต่างๆนั้น BEC และ BBL ทำได้ดีกว่า SCC ในช่วงที่ผ่านมาครับ

ถ้าหากเราดูที่การสร้างมูลค่าเพิ่มของบริษัท โดยดูมูลค่าที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้น (Jitta Line ที่เพิ่มขึ้น) ก็จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ช่วงปี 2006-2013 นั้น SCC บริหารงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทจากประมาณ 355 บาทต่อหุ้นเป็น 435 บาทต่อหุ้น หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 22.53%

ในขณะที่ BEC เพิ่มมูลค่าจาก 9.95 บาทต่อหุ้นเป็น 34.12 บาทต่อหุ้น หรือ เพิ่มขึ้น 242% และ BBL เพิ่มมูลค่าจาก 100.07 บาทต่อหุ้นเป็น 206.23 บาทต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้น 106% ครับ

ดังนั้นเรามองในมุมมองธุรกิจอย่างเดียวนั้น (โดยไม่เกี่ยวกับราคาหุ้นในตลาดหุ้น)ก็จะเห็นได้ว่า BEC ดีกว่า BBL และดีกว่า SCC อย่างชัดเจนครับ เพราะผู้ถือหุ้นจะมีความมั่งคั่งมากกว่ากันอย่างเห็นได้ชัดครับ

ถ้ามองให้ลึกไปอีกจะพบว่าในช่วงปี 2006-2013 นั้น SCC ทำเงินกำไรสะสมได้ประมาณ 188.07 บาทต่อหุ้น แต่กลับเพิ่มมูลค่าให้บริษัทได้เพียงแค่ 80 บาทต่อหุ้น แสดงว่าบริษัทหมดเงินไปกับอะไรหลายอย่างที่ไม่ได้เพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นเลยครับ หรือ บริษัทต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันให้คงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งทำให้ความมั่งคั่งที่ผู้ถือหุ้นจะได้ ลดน้อยลงไปด้วยครับ

ส่วน BBL ทำกำไรสะสมได้ที่ 104.1 บาทต่อหุ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ที่ 106.16 บาทต่อหุ้น แสดงว่า BBL อยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูงมาก และ BBL ไม่ได้มีความได้เปรียบในการแข่งขันกว่าคู่แข่งอื่นๆมากมาย เงินกำไรไม่สามารถนำไปสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้มากขึ้นได้สักเท่าไหร่ แต่ผู้บริหารก็ยังคงสามารถนำเงินกำไรที่ได้มาสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นให้กับผู้ถือหุ้นได้ครับ

ในขณะที่ BEC ทำกำไรสะสมในในช่วงปี 2006-2013 ได้ทั้งหมด 13.31 บาทต่อหุ้น และเพิ่มมูลค่าบริษัทได้ 24.17 บาทต่อหุ้น เท่ากับว่าเงินกำไรทุกๆ 1 บาทที่ BEC ทำได้นั้น ผู้บริหารสามารถนำกลับไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้อีกเกือบๆ 1 บาท แสดงว่าบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ดี และ อยู่ในจุดที่ได้เปรียบมากในอุตสาหกรรม สามารถนำเงินกำไรที่ได้มาขยายกิจการและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่มากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นในแง่การนำเงินกำไรกลับไปสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว รวมทั้งการส่งมอบความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นในช่วงตั้งแต่ปี 2006-2013 นั้น BEC ดีกว่า BBL และ SCC อย่างมากครับ เลยทำให้ Jitta Score ปัจจุบันของ BEC > BBL > SCC ตามลำดับครับ

(การเปรียบเทียบนี้ตัด PTTGC ออกไปนะครับ เพราะบริษัทมีข้อมูลการเงินที่น้อยกว่าบริษัทอื่นๆมากครับ)

2. การที่ Jitta Score สูงนั้น บอกแค่ว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่ดี แต่ไม่ได้บอกว่าน่าลงทุนครับ

เพราะการลงทุนในบริษัทที่ดีในราคาที่สูงเกินไปนั้น ก็อาจจะเป็นการลงทุนที่ไม่ดีได้ เพราะผลตอบแทนที่ได้จะต่ำ

ดังนั้นเวลาลงทุนจึงต้องดู Jitta Score และ Jitta Line ควบคู่กัน และถ้าหากมีโอกาสพยายามลงทุนใน “ธุรกิจที่ดีในราคาที่เหมาะสม” ไว้ ก็จะทำให้เราได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวครับ อย่างในกรณีของ BEC แม้ Jitta Score จะสูงที่สุดเมื่อเทียบกับ BBL, SCC และ PTTGC แต่ราคาหุ้นก็อยู่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากครับ ดังนั้นก็อาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนระยะยาวในราคานี้ครับ

ถ้าอยากดูอันดับในการน่าลงทุนจะต้องไปดูที่ Jitta Ranking ครับ ซึ่งเมื่อเราดูเทียบ Jitta Ranking กันแล้ว จะพบว่า อันดับความน่าลงทุน (ด้วยราคาปิด ณ วันที่เขียนนี้) นั้นเรียงตามลำดับดังนี้ครับ SCC > BBL > BEC > PTTGC ครับ

3. หลักการลงทุนนั้นมีหลายแบบครับ แต่ละคนก็หลายหลายสไตล์

ของ Jitta ก็จะเน้นแนวการลงทุนแบบ Warren Buffett ที่เน้นกิจการที่ดีเป็นหลักไว้ก่อนครับ เพื่อป้องกันการขาดทุนหนักๆของนักลงทุน และเพื่อให้นักลงทุนไม่ต้องเสียเวลามาติดตามหุ้นมากมายครับ สามารถลงทุนในธุรกิจที่ดีมากๆ แล้วปล่อยให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องไป พร้อมกับมูลค่าหุ้นที่จะสูงขึ้นตามกาลเวลาครับ

ซึ่งในกรณีของกองทุนนั้น การลงทุนใน SCC และ PTTGC ก็ไม่ได้ผิดอะไรครับ เพราะก็ลงทุนในหุ้นที่มีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานอยู่แล้วครับ ซึ่งก็ดูได้จากการที่ราคาหุ้นของทั้ง SCC และ PTTGC นั้นอยู่ต่ำกว่า Jitta Line ครับ

เพียงแต่การลงทุนใน SCC และ PTTGC อาจจะไม่ใช่การลงทุนในบริษัทที่เราจะถือยาวและสร้างผลตอบแทนทบต้นในระดับมากกว่า 15% ต่อปีไปได้อย่างต่อเนื่องยาวนานครับ เมื่อราคาเข้ามาใกล้หรือมากกว่ามูลค่าที่แท้จริงก็ควรจะขายออกไปและไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นแทนครับ

ดังนั้นในโลกของการลงทุนนั้น วิธีไหนที่สามารถใช้สร้างผลตอบแทนที่ดีและต่อเนื่อยงยาวนานได้นั้น ก็ดีหมดครับ อย่างเพื่อนร่วมสำนักของ Warren Buffett ชื่อว่า Walter Schloss ก็ใช้หลักการลงทุนในการซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่าราคาที่แท้จริง โดยไม่สนใจคุณภาพของกิจการ ก็ยังกลายเป็นตำนานของนักลงทุนคนนึงเหมือนกันครับ ทำผลตอบแทนทบต้นได้ที่ 15.3% ต่อปี ตลอดระยะเวลา 45 ปีที่เปิดกองทุนมาครับ

4. กองทุนนั้นบริหารโดยคนจริงๆ

ซึ่งแน่นอนว่าสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าหรือ รู้ข่าวสารต่างๆได้มากกว่า Jitta ครับ เพราะ Jitta นั้นคิดจากผลการดำเนินงานของบริษัทที่รายงานผ่านงบการเงินเป็นหลักครับ

อย่างในกรณีของ BBL นั้น ก็อยู่ในธุรกิจธนาคารที่มีความผันผวนตามเศรษฐกิจระดับนึง และมีการปรับลดดอกเบี้ย มีความเสี่ยงในช่วงเศรษฐกิจขาลงที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ และ BEC ก็อยู่ในช่วงที่อุตสาหกรรม มีความผันผวนจากเรื่องของ Digital TV ค่าโฆษณาจะหายไปเยอะแค่ไหน ก็ยังไม่มีใครรู้ ก็อาจจะทำให้ผู้จัดการกองทุนไม่อยากจะลงทุนในทั้ง 2 อุตสาหกรรมนี้ครับ

ในขณะที่อาจจะรู้ว่า PTTGC หรือ SCC นั้น ธุรกิจกำลังจะมีอะไรที่ดีขึ้นมาก หรือ อุตสาหกรรมอาจจะกลับมาเติบโตได้ดี ก็เลยให้น้ำหนักการลงทุนมากเป็นพิเศษได้ครับ

ซึ่งการคาดการณ์ล่วงหน้าแบบนี้คือ สิ่งที่ Jitta ไม่รู้ครับ Jitta จะรู้ว่าบริษัทดีขึ้นหรือแย่ลง เมื่อ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆนั้นมีผลกระทบกับบริษัทในทางดีและร้ายจริงๆ ซึ่งก็จะสะท้อนผ่านงบการเงินออกมาครับ แต่ก็จะเป็นสิ่งที่ชัวร์ที่สุดเพราะเกิดขึ้นจริงแล้วครับ

อย่างที่ Warren Buffett บอกครับว่า

ผมไม่เคยตีลูกที่ยังไม่ออกจากถุงมือพิชเชอร์
– Warren Buffett

ดังนั้น Jitta อาจจะช้าไปบ้างที่ต้องรองบการเงินออกมา แต่ก็ได้ความมั่นใจว่าธุรกิจดีขึ้นหรือแย่ลงจริงๆ โดยไม่ใช้การคาดการณ์ใดๆทั้งสิ้นครับ

5. กองทุนนั้นมีเงื่อนไขต่างๆมากมาย ไม่เหมือนกับนักลงทุนรายย่อยครับ แ

ละแต่ละกองก็จะมีแนวทางการลงทุนที่แตกต่างกันไปครับ ดังนั้นการเลือกลงทุนก็จะต้องพิจารณาถึงกฏเกณฑ์หลักของกองทุนนั้นๆด้วยครับ

แต่หลักๆแล้ว กองทุนจะมีข้อเสียเปรียบหลายๆข้อที่ทำให้เลือกลงทุนในบริษัทที่ดีในราคาที่เหมาะสมเหมือนกับนักลงทุนทั่วไปไม่ได้ครับ โดยเฉพาะข้อที่ว่า กองทุนต้องพยายามทำผลตอบแทนระยะสั้นให้ได้ดีที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นคนจะถอนเงินออกไปกองทุนอื่น และผู้จัดการกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่าคู่แข่งก็อาจจะโดนไล่ออกไปได้ครับ

ดังนั้นเหมือนกับที่ Theera Piroonratana บอกครับว่า ผู้จัดการกองทุนเลยต้องเน้นการลงทุนที่เอาชนะเงินเฟ้อและ Index ให้ได้เป็นหลัก และไม่พยายามลงทุนในอะไรที่สวนทางกับความคิดของคนหมู่มาก (โดยเฉพาะกองทุนคู่แข่งอื่นๆ) เพราะถ้าเกิดลงทุนผิดพลาดไป ก็ยังไม่โดนไล่ออก เหมือนคำพูดที่ว่า “ไม่เคยมีผู้จัดการกองทุนโดนไล่ออกเพราะซื้อหุ้น IBM”

และนั่นเลยเป็นเหตุผลที่ระยะยาวแล้ว กองทุนมากกว่าครึ่งนึงเลยมีผลตอบแทนรวมที่ต่ำกว่า Index ครับ Warren Buffett เลยแนะนำว่า ถ้าเราไม่มีความรู้ในการลงทุนและการเลือกกองทุน ก็ให้ซื้อ Index Fund ไปจะทุกปีจะง่ายกว่าและได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการซื้อกองทุนครับ

แต่แน่นอนครับว่า มีผู้จัดการกองทุนหลายๆคนที่เก่งมาก และสามารถทำอัตราผลตอบแทนทบต้นได้มากกว่า Index เยอะมาก ซึ่งถ้าหากเราเจอผู้จัดการกองทุนเหล่านั้น การฝากเงินลงทุนทั้งหมดให้เค้าดูแล จะสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าการซื้อ Index Fund อย่างมากมายมหาศาลครับ

เขียนมายาวเลย ขอสรุปสั้นๆอีกครั้งนะครับ

  1. Jitta Score บอกคุณภาพของบริษัท แต่ไม่ได้บอกว่าน่าลงทุน เวลาดูจะต้องดูราคาเทียบกับ Jitta Line ด้วยเสมอ และพยายามลงทุนในธุรกิจที่ Jitta Score สูงๆและราคาอยู่ไม่เกิน Jitta Line ครับ ในระยะยาวแล้ว จะทำให้เราได้ผลตอบแทนทบต้นที่มากกว่า Index ครับ
  2. ถ้าอยากดูอันดับความน่าลงทุนของ Jitta ให้ไปดูที่ Jitta Ranking
  3. การลงทุนทำได้หลายแบบ นักลงทุนไม่จำเป็นต้องเลือกลงทุนในหุ้นตัวเดียวกัน ก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดเหมือนกันได้ครับ

ซึ่งหลักการลงทุนของ Jitta นั้นก็นำมาจาก Warren Buffett ที่พิสูจน์มาแล้วว่าในระยะยาวสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานครับ

สำหรับผลตอบแทนของ Jitta ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2009 ก็ทำได้ดีกว่าทั้ง SET และ S&P 500 พอสมควรครับ เข้าไปดูหุ้นที่เลือกลงทุนและผลตอบแทนแต่ละปีได้ที่ library.jitta.com/th/ranking นะครับ