by Jitta
วันที่ 5 เม.ย. 2560 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 15 เม.ย. 2560
ราคาหุ้นของบริษัทร่วมมีผลอย่างไรกับบริษัทแม่

วันก่อนคุณ Niwat Mcmaster มีคำถามสงสัยมาดังนี้ “หุ้น LH ถือหุ้นบริษัทลูกหลายบริษัท เช่น HMPRO,QH,LHBANK เวลาปิดงบรายไตรมาสและตอนสิ้นปี ผมมีคำถามดังนี้”

  1. ถ้าราคาหุ้นบริษัทลูก HMPRO,QH,LHBANK มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง จะมีผลต่อราคาหุ้น LH หรือไม่ ในงบดุลจะดูบรรทัดไหนว่าเป็นมูลค่าของหุ้นบริษัทลูก

  2. ถ้าบริษัทลูกจ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นปันผล ไม่ทราบว่าจะต้องลงเป็นรายได้ในงบกำไรขาดทุนหรือไม่ และมีการลงในงบดุลหรือไม่ และจะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นสูงขึ้นหรือไม่”

ผมคิดว่าน่าสนใจและน่าจะตอบยาว เลยขอนำมาตอบไว้ในโพสต์ใหม่ดังนี้นะครับ

ในกรณีนี้ HMPRO, QH, LHBANK ถือเป็นบริษัทร่วมของ LH (เพราะ LH ถือหุ้นอยู่มากกว่า 20% แต่น้อยกว่า 50%) ดังนั้นในงบการเงินของ LH จะต้องแสดงตัวเลขต่างๆรวมทั้งมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วมด้วยวิธีส่วนได้เสียครับ

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผมขออธิบายเรื่อง วิธีส่วนได้เสีย ให้เข้าใจง่ายๆก่อนที่จะไปตอบคำถามนะครับ

การทำบัญชีตามวิธีส่วนได้เสีย ก็คือ การดูว่าบริษัทแม่ถือหุ้นในบริษัทร่วมกี่เปอร์เซ็นต์ก็เท่ากับมีส่วนในกำไรขาดทุนของบริษัทร่วมตามสัดส่วนนั้นครับ

ตัวอย่าง เช่น

บริษัท A ถือหุ้น 30% ในบริษัท B ดังนั้น ถ้าหากบริษัท B มีกำไร 1 ล้านบาท บริษัท A ก็จะบันทึกกำไรจากบริษัท B ไว้ในงบกำไรขาดทุน 300,000 บาทครับ ซึ่งจะบันทึกไว้ตรง “ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม”
และถ้าหากบริษัท B มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น (ซึ่งหลักๆก็มาจากกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้น หักออกด้วยเงินปันผลจ่าย) บริษัท A ก็จะบันทึกมูลค่าเงินลงทุนในบริษัท B ที่เพิ่มขึ้น ในสัดส่วน 30% ด้วยครับ

สมมติว่าในกรณีนี้ บริษัท B กำไร 1 ล้านบาท มีการจ่ายเงินปันผลออกไป 500,000 บาท ดังนั้นส่วนผู้ถือหุ้นของ B จะเพิ่มขึ้น 500,000 บาท ทำให้บริษัท A จะบันทึกมูลค่าบริษัทเงินลงทุนในบริษัท B เพิ่มขึ้น 150,000 บาท (500,000 x 30%) โดยบันทึกอยู่ใน “เงินลงทุนในบริษัทร่วม” และบันทึกเงินปันผลที่ได้รับจาก B อีก 150,000 บาท (500,000 x 30%) เป็นเงินสด

ดังนั้นก็เสมือนว่า ในงบกำไรขาดทุน บริษัท A มีกำไรเพิ่มจากสัดส่วนการถือหุ้น 30% ในบริษัท B เท่ากับ 300,000 บาท และแสดงออกมาเป็นทรัพย์สินในงบแสดงฐานะการเงิน เป็นเงินสดที่เพิ่มขึ้น 150,000 บาท (จากเงินปันผลของบริษัท B) และ มูลค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้น 150,000 บาท ครับ ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัท A เพิ่มขึ้น 300,000 บาทด้วยครับ

(ในกรณีที่บริษัท B ไม่ปันผล บริษัท B ก็จะมีส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 1,000,000 บาท ซึ่งบริษัท A ก็จะรับรู้มูลค่าเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่ถืออยู่ 30% คือ 300,000 บาท ซึ่งก็จะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัท A เพิ่มขึ้นเท่ากันกับกรณีจ่ายปันผลอยู่ดีครับ)

เป็นไงครับ คิดว่าคงพอจะเข้าใจวิธีคิดแบบส่วนได้เสียแล้วนะครับ ซึ่งตัวอย่างด้านบนเป็นกรณีที่บริษัท B มีกำไรนะครับ แต่ถ้าหากว่าบริษัท B ขาดทุน บริษัท A ก็จะต้องร่วมรับรู้การขาดทุนใน B ตามสัดส่วน 30% ด้วยครับ ซึ่งทำให้กำไรรวมก็จะลดลง และ ทรัพย์สินรวม ของ A ก็จะลดลงตามไปด้วยครับ

ดังนั้นจากการอธิบายด้านบน ก็ขอตอบคำถามดังนี้นะครับ

  1. จะเห็นว่าการบันทึกบัญชีตามวิธีส่วนได้เสียดังที่ได้กล่าวด้านบนนั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับราคาหุ้นของบริษัทร่วมที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เลยครับ เป็นวิธีคิดตามหลักการตีกำไรและมูลค่าของธุรกิจตามความเป็นจริงครับ

ดังนั้นแล้วการที่ราคาหุ้นที่ซื้อขายกันของ HMPRO, QH, LHBANK ที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น ถ้าว่ากันตามจริงก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ราคาหุ้น LH จะเพิ่มสูงขึ้นเลยครับเมื่อวิเคราะห์ในมุมมองเชิงธุรกิจครับ

ส่วนในงบแสดงฐานการเงินนั้น จะแสดงมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้น ตามที่บอกไว้ด้านบนครับ แต่ก็จะไม่เกี่ยวกับราคาหุ้นในตลาดของบริษัทร่วมครับ จะเป็นมูลค่าตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้นที่ LH ถืออยู่ในบริษัทร่วมทั้งหลายรวมกันครับ

  1. ตามกรณีตัวอย่างที่ยกไว้ด้านบนครับ ในกรณีที่เป็นบริษัทร่วมนั้น ส่วนแบ่งกำไรของบริษัทร่วมตามสัดส่วนการถือหุ้นจะบันทึกอยู่ในงบกำไรขาดทุนไปแล้วครับ ดังนั้นเงินปันผล (หรือ หุ้นปันผล) ที่ได้รับก็จะไม่นำมาบันทึก เพราะจะเป็นการบันทึกซ้ำซ้อนครับ

ซึ่งถ้าหากบริษัทร่วมมีกำไร และไม่ได้จ่ายปันผลออกมา ส่วนผู้ถือหุ้นของ LH ก็จะสูงขึ้นตามมูลค่าทางบัญชีที่สูงขึ้นของ HMPRO, QH, LHBANK ซึ่งบันทึกอยู่ในส่วน “เงินลงทุนในบริษัทร่วม” ครับ

ส่วนในกรณีที่บริษัทร่วมปันผลออกมา ไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือหุ้นก็ตาม มูลค่าทางบัญชีของ LH ก็จะเพิ่มขึ้นเท่าเดิม เหมือนกับกรณีที่บริษัทร่วมไม่ปันผลออกมาครับ เพราะทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่ถูกแยกออกมาอยู่ในรูปอื่นๆแทนที่จะอยู่ใน “เงินลงทุนในบริษัทร่วม” เท่านั้นเองครับ แต่สุดท้ายแล้วมูลค่าที่เพิ่มขึ้นก็จะเท่าเดิมครับ ดังตัวอย่างที่ยกมาแสดงไว้ด้านบน

ปล 1. ในด้านบนพูดถึงเรื่องทางบัญชีนะครับว่า มูลค่าหุ้นของบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้นมีผลยังไงกับมูลค่าทางบัญชีของบริษัทแม่ ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่า ราคาหุ้นในตลาดไม่ได้ส่งผลอะไรในทางบัญชีเลยครับ ตัวเลขทางบัญชีมาจากการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นจากธุรกิจเพียงเท่านั้นครับ

แต่ว่าทั้งนี้ถ้าหากเราใช้วิธีการวิเคราะห์อีกแบบ คือ การวิเคราะห์แบบดูว่า LH มีทรัพย์สินอะไรซ่อนอยู่ ราคาตีมูลค่าตามปัจจุบันได้เท่าไหร่บ้าง ในกรณีนี้ราคาหุ้นของ HMPRO, QH, LHBANK ก็จะมีผลกับราคาหุ้นของ LH ครับ เช่น ถ้าเรานำจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ LH ถือใน HMPRO, QH, LHBANK มาคูณกับราคาหุ้นของแต่ละบริษัท แล้วบวกกันออกมา สมมติว่ามีมูลค่า 10,000 ล้านบาท และถ้าสมมติว่า LH มีหุ้นอยู่ 1,000 ล้านหุ้น แสดงว่า เฉพาะหุ้นที่ LH ถืออยู่ในบริษัทร่วมก็มีมูลค่าเท่ากับ 10 บาทต่อหุ้นไปแล้ว ดังนั้นราคาหุ้น LH ที่ซื้อขายกันอยู่ควรจะต้องสูงกว่า 10 บาท เพราะถ้าเมื่อไหร่ต่ำกว่า 10 บาท แสดงว่าราคาต่ำกว่ามูลค่ามาก เพราะถ้าหากเรามีเงิน take over LH มาได้ทั้งบริษัท และแยกขายหุ้นของบริษัทร่วมทั้งหมดออกไป เราก็เหมือนได้กำไรมาฟรีๆแน่นอนครับ

แต่วิธีคิดแบบนี้ก็จะมีข้อผิดพลาดบางประการ เพราะราคาหุ้นของแต่ละบริษัทร่วมก็ไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงเสมอไปครับ และในทางทฤษฏีเหมือนจะทำกำไรได้ แต่พอในทางปฏิบัติอาจจะยากครับ อีกทั้งเราก็คาดการณ์ไม่ได้ว่าเมื่อไหร่คนจำนวนมากจะ realize ราคาหุ้น LH ตามมูลค่าราคาหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทร่วมครับ

ปล 2. ด้านบนเป็นการพูดถึงงบการเงินที่แสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียเท่านั้นนะครับ ในความเป็นจริงแล้วบริษัทที่มีบริษัทร่วม หรือ บริษัทย่อย จะต้องมีงบการเงินเฉพาะกิจการแสดงด้วยอีกหนึ่งฉบับครับ ซึ่งวิธีคิดมูลค่าเงินลงทุนในงบเฉพาะกิจการจะคิดตามวิธีราคาทุนครับ ซึ่งในกรณีนั้นมูลค่าเงินลงทุนจะเท่าเดิมตลอดครับ และจะบันทึกเงินผลปันเป็นกำไรในงบกำไรขาดทุนครับ

ทำให้ถ้ามองในมุมงบเฉพาะกิจการ ถ้าหากราคาหุ้นในบริษัทลูกเพิ่มไปมากๆ ก็จะทำให้มี unrealized assets ซ่อนอยู่ในบริษัทมหาศาลครับ เพราะในทางบัญชีจะบันทึกตามราคาทุนที่ซื้อหุ้นตลอดไม่เปลี่ยนแปลงครับ

แต่ผมคิดว่าเวลามองในเชิงธุรกิจนั้น การมองงบรวม หรือ งบแสดงตามวิธีส่วนได้เสียแล้ว จะให้ข้อเท็จจริงที่สำคัญทางธุรกิจมากกว่า และ เป็นงบที่คนส่วนมากดู และ เราก็ควรจะใช้ดูเป็นหลักครับ

ปล 3. การดูว่าต้องถือหุ้น 20% – 50% ถึงจะนับเป็นบริษัทร่วมนั้น เป็นเพียงหลักการส่วนหนึ่งเท่านั้น ในความเป็นจริงจะต้องตามดูปัจจัยอีกหลายอย่างว่าบริษัทไหนเป็นบริษัทร่วมบ้าง ตามการมีอิทธิพลในการตัดสินใจ หรือ การมีอำนาจควบคุมบริษัท ที่บริษัททั้งสองมีร่วมกันครับ