by Jitta
วันที่ 5 เม.ย. 2560 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 15 เม.ย. 2560
ภูมิต้านทาน ข่าวร้าย

ในโลกของการลงทุนนั้น ข่าวร้ายๆที่มากระทบกับตลาดหุ้น มักจะสร้างโอกาสในการลงทุนที่ดีให้กับเราได้เสมอ ซึ่งหน้าที่หลักของนักลงทุนในช่วงที่มีข่าวร้ายเกิดขึ้นก็คือ การนั่งวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเหล่านั้นส่งผลกระทบอย่างไรกับบริษัทที่เราลงทุนหรือสนใจจะลงทุนบ้าง เพื่อจะได้ปรับพอร์ตการลงทุนได้อย่างถูกต้อง

ยกตัวอย่างเช่น เราได้ยินเรื่องการประกาศรัฐประหาร เราก็อาจจะคิดได้ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว น่าจะได้รับผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะบริษัทที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก นอกจากนั้น บริษัทที่ทำธุรกิจเช่น มีพื้นที่หรือโกดังให้เช่า มีโรงพยาบาล หรือ มีโครงการขายคอนโด อยู่ในเขตที่มีการควบคุมทางทหารแน่นหนา ก็อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน มากน้อยแล้วแต่ว่า รายได้จากโกดัง โรงพยาบาล คอนโด เหล่านั้น คิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่เทียบกับรายได้รวมของบริษัท

ส่วนธุรกิจด้านพลังงานเช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากเพราะคนยังคงต้องใช้อยู่ตลอด ธุรกิจสื่อน่าจะทำกำไรได้มากขึ้น เพราะคนสนใจและต้องการรับรู้ข่าวสารมากขึ้น และคนอาจจะมีการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค ก็จะทำให้เจ้าของสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ขายสินค้าเหล่านี้ได้ดีขึ้น เป็นต้น

วิธีการง่ายๆที่ผมใช้ก็คือ การย้อนเวลากลับไปดู “ภูมิต้านทาน” ของเหตุการณ์ที่คล้ายๆกันในอดีต โดยดูงบการเงินของบริษัทในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆว่า บริษัทมีอาการอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะความสามารถในการสร้าง “กำไร” ของบริษัท

เช่น ถ้าหากเราลองเข้าไปดูกำไรของ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW เราจะเห็นได้ว่า เวลาเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองขึ้นมา กำไรของบริษัทจะตกลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 402 ล้าน เหลือ 78 ล้าน ในปี 2007-2008 และกลายเป็นขาดทุน 229 และ 275 ล้านในปี 2009-2010

https://www.jitta.com/stock/bkk:erw/factsheet

ซึ่งถ้าหากเรายังจำกันได้ ในปี 2008 นั้นมีการปิดสนามบิน ทำให้นักท่องเที่ยวในหลายประเทศยกเลิกการมาเที่ยวประเทศไทย ต่อเนื่องจนปี 2009 และในปี 2010 ก็มีการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ทำให้คนยกเลิกการเข้าพักและจัดงานที่โรงแรมเอราวัณที่เป็นแหล่งรายได้ของ ERW ไป

แสดงให้เห็นว่าหุ้น ERW นี้ ไม่ค่อยจะมี “ภูมิต้านทาน” สำหรับสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองสักเท่าไหร่ และในกรณีที่ได้รับผลกระทบมากๆ ทำให้บริษัทถึงกับ “ขาดทุน” เลยทีเดียว ดังนั้นเราก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองขึ้นอีกเมื่อไหร่ เราก็น่าจะหลีกหนีให้ไกลห่างจากหุ้น ERW เอาไว้ก่อนครับ

ในทางเดียวกันเมื่อลองมองในแง่อื่นๆ เช่น ตอนที่เกิด Hamburger Crisis ปลายปี 2008 ตอนที่น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยปลายปี 2011 ก็จะเห็นว่า ERW นั้น ไม่มี “ภูมิต้านทาน” กับเหตุการณ์ทั้งสองเช่นเดียวกันครับ เพราะกำไรมีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น

เมื่อเห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว เราก็พอจะสรุปได้ว่า ERW นั้นเป็นบริษัทที่มี “ภูมิต้านทาน” ต่ำ เมื่อมีปัญหาทางเศรษฐกิจหรือเหตุการณ์ร้ายแรงระดับประเทศเกิดขึ้น ถ้าหากเราต้องการลงทุนใน ERW ก็ควรจะลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจนเท่านั้นและก็ต้องพิจารณาขายการลงทุนเมื่อเริ่มรู้สึกถึงสัญญาณอันตรายระดับมหภาคที่กำลังจะเกิดขึ้นครับ

แต่ช้าก่อนครับ ถ้าหากเราลองไปดูปี 2006 ซึ่งเป็นปีที่เกิดรัฐประหาร (กย. 2549) เพื่อลองมาเทียบกับการประกาศยึดอำนาจการปกครองครั้งนี้ ก็จะพบว่าในช่วงปี 2006-2007 นั้น ERW กำไรลดลงน้อยมาก (จาก 410 ล้านบาท ลดลงเหลือ 402 ล้านบาท) แสดงให้เห็นว่า ในกรณีที่มีการแก้ปัญหาผ่าทางตันทางการเมืองเกิดขึ้นโดยทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง (แบบไม่เสียเลือดเสียเนื้อ ไม่มีการจลาจล) ก็จะไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญกับกำไรของ ERW เท่ากับว่า ERW มี “ภูมิต้านทาน” รัฐประหารได้ดีระดับนึง

ดังนั้นเวลาที่เราเห็นหุ้นตกจากข่าวร้ายนั้น เราก็ยังไม่ควรจะไปรีบร้อนซื้อหุ้น เราควรจะลองเข้าไปดูให้รอบคอบก่อนว่าหุ้นที่เราสนใจนั้น มี “ภูมิต้านทาน” ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อลงทุนไปแล้ว บริษัทจะยังสามารถทำกำไรได้ดีในไตรมาสหรือปีถัดไป ก็จะทำให้โอกาสขาดทุนของเราน้อยลงเยอะมากครับ

และในกรณีที่เราจะลงทุนได้อย่างสบายใจมากที่สุดก็คือ การลงทุนในบริษัทที่ยอดเยี่ยมที่มี “ภูมิต้านทาน” กับเหตุการณ์ร้ายๆทุกอย่างได้สูงมาก เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บริษัทเหล่านี้ก็ยังคงจะทำกำไรได้มากขึ้นเรื่อยๆทุกปีนั่นเอง เช่น

ทั้ง 3 บริษัทนี้ ผ่านช่วงเวลาของการรัฐประหาร Hamburger Crisis การชุมนุมทางการเมือง น้ำท่วมใหญ่ และเหตุการณ์ร้ายแรงอื่นๆมาเช่นเดียวกัน แต่จะเห็นว่าไม่เคยมีเหตุการณ์ครั้งไหนที่ทำอันตรายร้ายแรงกับ “กำไร” หลักของบริษัทได้เลย ในทางกลับกันบริษัทเหล่านี้ยังคงสร้างรายได้และกำไรให้เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในทุกๆปีครับ ดังนั้นเราก็พอจะคาดการณ์ได้แม่นยำในระดับ 99% ว่า การประกาศรัฐประหารครั้งนี้ ก็คงไม่สามารถทำให้บริษัทเหล่านี้ขาดทุนได้แต่อย่างใด

ดังนั้นเวลาที่เราจะตัดสินใจลงทุนด้วยเงินจำนวนมากและอยากนอนหลับอย่างมีความสุข เราก็ควรจะต้องเลือกหาและลงทุนในบริษัทที่มี “ภูมิต้านทาน” สูงๆ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ บริษัทก็จะยังคงเดินหน้าสร้าง “ความมั่งคั่ง” ให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่องครับ

ในส่วนของการใช้งาน Jitta เอง วิธีการดู “ภูมิต้านทาน” ที่ง่ายที่สุดก็คือ การดู Historical Jitta Score ของปีที่เกิดเหตุการณ์ รวมทั้งปีก่อนหน้าและหลังเหตุการณ์อย่างละ 1 ปี ถ้าหากว่าบริษัทยังคงมี Jitta Score มากกว่า 5 ได้ในช่วงนั้น ก็แสดงว่าบริษัทมี “ภูมิต้านทาน” ต่อเหตุการณ์นั้นๆค่อนข้างดี ถ้ายิ่ง Jitta Score มากกว่า 7 ในช่วงนั้น ก็แสดงว่ามี “ภูมิต้านทาน” ที่สูงมากครับ

นอกเหนือจากนั้น เราก็สามารถวัดผลกระทบจากเหตุการณ์ได้ด้วยว่า สามารถทำอันตรายกับบริษัทได้มากน้อยแค่ไหน โดย

  • ถ้าหากว่า Jitta Score ลดลงมากกว่า 1 แสดงว่า เหตุการณ์นั้นมีผลกระทบกับบริษัทพอสมควร
  • ถ้าหากว่า Jitta Score ลดลงมากกว่า 2 แสดงว่า เหตุการณ์นั้นมีผลกระทบที่รุนแรงกับบริษัท

เช่น ถ้าหากบริษัทไหนมี Jitta Score 8 มาโดยตลอด แล้วอยู่ๆมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นทำให้ Jitta Score ตกลงมาเหลือ 6 เราก็พอจะสรุปง่ายๆได้ว่า เหตุการณ์นั้นมีผลกระทบที่รุนแรงกับบริษัท แต่ก็ยังคงอยู่ในขอบเขตที่บริษัทยังคงสามารถบริหารจัดการได้ สิ่งที่เราต้องดูเพิ่มเติมก็คือ เรื่องของการฟื้นตัวหลังจากเกิดเหตุการณ์ว่า Jitta Score กลับมาดีเหมือนเมื่อก่อนเกิดเหตุการณ์ได้ภายในกี่ปี ถ้ายิ่งเร็ว ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งและรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีครับ ซึ่งสำหรับบริษัทที่ดีส่วนใหญ่นั้นมักจะกลับมาดีใกล้เคียงกับของเดิมภายใน 1-2 ปีครับ

โดยสรุปแล้ว ถ้าหากเราต้องการจะลงทุนอย่างมีความสุข และไม่ต้องการวุ่นวายกับข่าวร้ายรายวันมากมายนัก เราก็ควรจะเลือกลงทุนในบริษัทที่มี “ภูมิต้านทาน” สูงๆกับทุกเหตุการณ์ครับ เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เราก็มั่นใจได้ว่า เงินลงทุนของเราน่าจะได้รับการปกป้องไว้อย่างดี ในบริษัทเหล่านั้นครับ