by Sirirat Sirithamsakda
วันที่ 1 ก.ย. 2565 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 12 ม.ค. 2566
ฟีเจอร์ Accessibility จากความมุ่งมั่น ‘การใช้งานแอปฯ Jitta ต้องไม่มีข้อจำกัด’

หากพูดถึงฟีเจอร์ Accessibility คุณนึกถึงอะไรกันบ้าง?

หลายคนคงนึกถึงปุ่มลัดที่ลอยไปลอยมาบนหน้าจอโทรศัพท์ ที่ทำให้เราเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆ ได้รวดเร็วและสะดวกสบายขึ้น

แต่จริงๆ แล้วฟีเจอร์ ‘Accessibility’ มีอะไรมากกว่านั้น เพราะมันคือการออกแบบเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน รวมถึงอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีข้อจำกัดทางการใช้งานสามารถเข้าถึง เข้าใจ และตอบสนองต่อฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

การตระหนักรู้นี้เกิดขึ้นจากวัน Global Accessibility Awareness Day (GAAD) หรือ ‘วันตระหนักรู้สากล’ ซึ่งไม่ใช่วันคนพิการแต่อย่างใด แต่เป็นวันแห่งการรณรงค์เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและความเท่าเทียมสำหรับผู้พิการทั่วโลก ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยมีขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จำนวนมากก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ทีมงาน Jitta เองก็อยากเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้สังคมไทยตระหนักรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น จึงเกิดเป็นความมุ่งมั่นที่ ‘ต้องการให้แอปฯ Jitta ปราศจากข้อจำกัดในการใช้งาน’ ขึ้นมา ทีมงานจึงได้พัฒนาฟีเจอร์ Accessiblity ให้กลุ่มคนที่มีข้อจำกัดทางการใช้งานสามารถเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆ ของแอปพลิเคชัน Jitta ได้อย่างเท่าเทียมมากที่สุด

เรื่องราวการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อทลายข้อจำกัดทางการใช้งานของผู้พิการทางสายตามีหลายสิ่งที่น่าสนใจ จะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันได้เลย

จุดเริ่มต้นของการพัฒนา

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาฟีเจอร์นี้เริ่มต้นจากทีม Mobile Engineer ที่เห็นถึงความสำคัญของ Accessibility Support ซึ่งเป็นมาตรฐานการเข้าถึงข้อมูล การเข้าใช้งาน รวมถึงการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่สะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน

“จริงๆ แล้ว Accessibility Standard มีมานานแล้ว เรียกว่า WCAG (Web Content Accessibility Guidelines) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่สร้างขึ้นเพื่อปรับการใช้งาน อยู่ที่ว่าใครจะตระหนักถึงสิ่งนี้บ้าง” คุณเบิร์ด ยุทธนา หนึ่งใน Mobile Engineer ของ Jitta กล่าว 

ในปัจจุบัน ลูกค้าท่านหนึ่งของ บลจ. Jitta Wealth ก็เป็นผู้พิการทางสายตา ซึ่งช่วยจุดประกายโปรเจกต์นี้ ทีมงานจึงเชิญลูกค้าท่านนี้มาพูดคุยถึงปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานแอปพลิเคชัน Jitta และเริ่มพัฒนาต่อยอดจากจุดนั้น

ซึ่งจริงๆ แล้วกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดในการใช้งานหรือการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ จะมีด้วยกันทั้งหมด 4 ประเภท ดังนี้

  1. ผู้พิการทางการมองเห็น (Visual) ตาบอด มองเห็นไม่ชัดเจน แต่ยังสามารถใช้มือในการควบคุมสิ่งต่างๆ ได้
  2. ผู้พิการทางการได้ยิน (Hearing) หูหนวก ไม่ได้ยินเสียง แต่ยังสามารถใช้สายตาในการอ่านแทนการฟังเพื่อทำความเข้าใจ
  3. ผู้พิการทางร่างกายส่วนล่าง (Motor) ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายส่วนล่างได้ แต่ยังสามารถในร่างกายส่วนบน ขยับแขนและมือได้
  4. ผู้พิการทางด้านการเรียนรู้ (Cognitive) บกพร่องทางการรับรู้และประมวลผลข้อมูล

ในการพัฒนาฟีเจอร์ Accessibility ของแอปพลิเคชัน Jitta จะเน้นพัฒนาฟีเจอร์สำหรับผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็นเป็นหลัก เนื่องจากการใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ภายในแอปพลิเคชันจะต้องรับรู้ข้อมูลผ่านการมองเห็นเป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็นจึงเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาในการใช้งานแอปพลิเคชันมากที่สุด

ระหว่างทางก็สำคัญ

การพัฒนาแอปพลิเคชันในทุกระบบปฏิบัติการจะมีฟังก์ชัน Accessibility ให้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น iOS Android macOS หรือ iPad OS ที่คุณก็สามารถตั้งค่าการใช้งานด้าน Accessibility เพื่อช่วยให้คุณสามารถใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ได้ง่ายขึ้นได้

แต่ในมุมของนักพัฒนาแอปพลิเคชัน หากไม่ตระหนักถึงจุดนี้ เช่น จะเน้นแค่การออกแบบแอปพลิเคชันให้สวยงาม แต่ระบบ Accessibility ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น กลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นผู้พิการทางสายตาก็จะไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้เลย หรืออาจใช้งานได้ลำบากกว่าคนอื่นๆ มาก

ทีม Mobile Engineer ของ Jitta จึงเห็นพ้องกันว่าควรพัฒนาแอปพลิเคชันให้รองรับเรื่องนี้ 

ในขั้นตอนปกติของการพัฒนาแอปพลิเคชัน ทีมนักพัฒนาจะเริ่มจากขั้นตอนการพัฒนา (Development) ต่อมาก็เริ่มทดสอบ (Test) และเมื่อสามารถปล่อยให้ใช้งานได้ (Launch) ก็ถือว่าการพัฒนาเสร็จเรียบร้อย

แต่ครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งอื่น เพราะเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันให้ผู้พิการทางสายตาโดยผู้ที่มีร่างกายปกติ ทีมงานต้องใช้ความพยายามและความเข้าใจความรู้สึกของผู้ใช้งานมากกว่าทุกครั้ง

การพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ให้ออกมาตรงตามความต้องการแบบทั่วไปนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะทีมงานต้องเพิ่มขั้นตอนการพัฒนาและทดสอบแอปพลิเคชันในเรื่องการสนับสนุนการเข้าถึงหรือ Accessibility Support ให้มากขึ้นด้วย

โดยเริ่มจากการพัฒนาแอปพลิเคชันให้เข้าถึงได้ผ่านระบบ Voice Over ที่ทีมพัฒนาต้องตระหนักและเข้าใจผู้มีข้อจำกัดทางการมองเห็นในทุกขั้นตอนอย่างละเอียด เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถรับข้อมูลผ่านทางเสียงได้สะดวกและถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันแอปพลิเคชัน Jitta เวอร์ชันล่าสุดถูกพัฒนาให้รองรับการทำงานของ Accessibility Support เรียบร้อยแล้ว ส่วนแอปพลิเคชัน Jitta Wealth กำลังถูกพัฒนาให้รองรับฟังก์ชันดังกล่าวด้วยเช่นกัน 

ซึ่งฟังก์ชัน Accessibility ที่ทางทีมพัฒนานั้นไม่มีข้อจำกัดใดๆ ในเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้งาน กลุ่มผู้พิการทางสายตาจึงสามารถใช้งานได้สะดวกจากอุปกรณ์ทุกยี่ห้อ ทุกรุ่น

วิธีตั้งค่าก็ทำได้ง่าย ดังนี้

  1. เลือกเมนู ‘ตั้งค่า (Setting)’ 
  2. เลือกเมนู ‘การเข้าถึง (Accessibility)’ 
  3. เปิดการใช้งานโหมด Voice Over 

เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ แอปพลิเคชัน Jitta ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือทุกคนให้ใช้งานได้สะดวกสบายมากที่สุด

เป้าหมายที่สำคัญ คืออยากให้คนตระหนักรู้ 

คุณเบิร์ด ยุทธนา หนึ่งในทีมพัฒนาแอปพลิเคชัน กล่าวว่า “เป้าหมายจริงๆ คืออยากสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ให้มากขึ้นเป็นหลัก เพราะเราอยู่ในโลกที่มีผู้คนมากมายหลากหลายกลุ่ม เราเป็นมนุษย์เหมือนกันทุกคน เราต้องมีความเท่าเทียมในการรับรู้และเรียนรู้มากที่สุด ซึ่งจากที่ศึกษามาเรารู้ดีว่าปัญหาของคนที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงมีไม่น้อย และเขาใช้ชีวิตยากกว่าคนทั่วไปด้วย” 

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาฟีเจอร์ Accessibility เกิดจากความต้องการสร้างแรงบันดาลใจเล็กๆ ที่จะสร้างมาตรฐานในการพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับคนทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้ เพราะทุกคนควรได้สัมผัสประสบการณ์ทุกอย่างบนโลกนี้อย่างเท่าเทียมกันมากที่สุด 

ทีมพัฒนาของ Jitta จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาแอปพลิเคชันให้ดียิ่งขึ้นไป โดยมีเป้าหมายหนึ่งเดียวคือ การได้ช่วยเหลือนักลงทุนทุกคนให้มีชีวิตที่ง่ายขึ้น ตามพันธกิจหลักของเราที่ว่า ‘Help investors create better returns through simple investment methods.’


อ้างอิง 

  1. คนตาบอด ใช้มือถือได้อยังไง?-เปิดฟีเจอร์ช่วยเหลือผู้พิการ ให้ใช้งานได้อย่างเท่าเทียม https://youtu.be/KXwvOX7iGEw
  2. Google แนะนำเครื่องมือสำหรับผู้พิการในวัน Global Accessibility Awareness Day  https://www.techoffside.com/2022/05/google-global-accessibility-awareness-day/
  3. วันให้ความรู้การเข้าถึงทั่วโลก https://hmong.in.th/wiki/Global_Accessibility_Awareness_Day
  4.  Global Accessibility Awareness Day Continues
    https://accessibility.day/