by Trawut Luangsomboon
วันที่ 27 ธ.ค. 2562 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 12 ม.ค. 2566
Jitta พร้อมต้อนรับการลงทุนในทศวรรษใหม่ 2020

ใกล้จะสิ้นปีแล้ว… หวังว่าปีนี้คุณได้ทำตามเป้าหมายที่วางไว้ครบเรียบร้อยนะครับ

ผมเชื่อว่าการมีเป้าหมายและค่อยๆ พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกคนครับ

ปีนี้ Jitta เองก็ได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นกว่าเดิม ได้ทำอะไรหลายๆ อย่างเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับนักลงทุนมากขึ้น เช่น

  1. เปิดตัวแอปพลิเคชัน Jitta บนมือถือ อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนดูข้อมูลวิเคราะห์หุ้นได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
  2. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ได้รับใบอนุญาตจัดการกองทุน เป็นสตาร์ทอัพแรกในไทยที่ได้รับอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมาย
  3. ขยายฐานข้อมูลและพัฒนาระบบ Jitta Intel เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลหุ้นถึง 50,000 ตัว ใน 26 ตลาดหลักทรัพย์ของ 16 ประเทศทั่วโลก ได้ดีและเร็วขึ้นกว่าเดิม

ฐานข้อมูลที่ใหญ่ขึ้น หมายถึงงบการเงินจำนวนมหาศาล ให้เราได้ค้นคว้า ทดลอง และทดสอบ จนจับแนวโน้ม แพทเทิร์นของธุรกิจต่างๆ ได้ชัดเจน และนำไปพัฒนา AI วิเคราะห์หุ้นให้ฉลาดขึ้นอีก

ซึ่งสิ้นปีนี้ เราก็จะอัปเดตอัลกอริทึมวิเคราะห์ Jitta Score และ Jitta Line เพื่อเพิ่มความละเอียดแม่นยำให้การวิเคราะห์หุ้นของ Jitta ตามรายละเอียดต่อไปนี้ครับ

1. ปรับการคำนวณเรื่องการเติบโตของธุรกิจให้ละเอียดขึ้น

โดยปกติแล้ว ธุรกิจที่ดีย่อมต้องสามารถขยายกิจการ และ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้ในระยะยาว ซึ่งสุดท้ายก็จะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น

ทีนี้ การเติบโตในระยะยาวนั้น โดยปกตินักลงทุนจะมองเป็นการเติบโตแบบทบต้น สมมติ บริษัท A มีกำไรในปีแรกคือ 1 บาทต่อหุ้น และกำไรในปีที่ 5 คือ 2.5 บาทต่อหุ้น ก็เท่ากับว่า บริษัทมีกำไรเติบโตขึ้น 20% ต่อปีแบบทบต้นในช่วง 5 ปีล่าสุด

เมื่อนำไปเทียบกับบริษัท B ที่มีกำไรเติบโตขึ้น 15% ต่อปีในช่วง 5 ปีล่าสุด เราก็อาจจะบอกได้ว่า บริษัท A มีกำไรเติบโตสูงกว่าบริษัท B และดูน่าลงทุนมากกว่า

แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป

เพราะสิ่งที่เราควรจะดูควบคู่กันไปด้วย คือ ความสม่ำเสมอของกำไร หรือการเติบโตนั้นๆ ด้วยว่า เป็นอย่างไร เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การเติบโตนั้นมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน เหมาะสมที่จะลงทุนระยะยาวหรือไม่

สมมติว่ากำไรในแต่ละปีของบริษัท A และ B เป็นดังนี้

เมื่อเราเห็นตัวเลขกำไรต่อหุ้นและการเติบโตรายปีของบริษัท A เทียบกับ B แล้ว เราก็จะพบว่าแม้บริษัท A จะมีการเติบโตใน 5 ปีล่าสุดสูงกว่า บริษัท B แต่ก็เป็นการเติบโตที่ไม่สม่ำเสมอ มีความผันผวนมาก บางปีอาจจะโตเยอะ ในขณะที่บางปีก็ลดลงเยอะมาก ทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์ได้แม่นยำว่า การเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้าของบริษัท A จะเป็นอย่างไร

ในขณะที่บริษัท B แม้จะเติบโตน้อยกว่าในระยะยาว แต่ก็มีความสม่ำเสมอของกำไรสูงมาก เราคาดการณ์กำไรในอนาคตได้ง่าย ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่าในแง่ของการลงทุนระยะยาว

หรือพูดได้อีกอย่างว่า ถ้าหากเราวิเคราะห์จากตัวเลขที่เห็นนี้ เราตอบได้ยากว่า ใน 1-2 ปีข้างหน้า กำไรของบริษัท A จะอยู่ที่เท่าไหร่ อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงกว่า 2.5 บาทต่อหุ้นก็ได้ แต่สำหรับบริษัท B เราพอจะตอบได้อย่างมั่นใจว่า กำไรมีโอกาสเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 บาทต่อหุ้น ค่อนข้างแน่นอน

ซึ่ง Jitta ได้ทำการปรับให้มีการคำนวณการเติบโตตรงนี้ให้ละเอียดมากขึ้น โดยไม่ได้ดูแค่เพียงการเติบโตระยะยาวของบริษัท แต่จะดูเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (หรือช่วงเวลาที่นำมาวิเคราะห์ตัวเลขการเติบโตแต่ละตัว)

  • มีปีที่กำไรเติบโตขึ้นกี่ปี 
  • มีปีที่กำไรลดลงกี่ปี
  • ในปีที่กำไรเติบโตขึ้น เติบโตขึ้นเท่าไหร่ เติบโตสูงสุดเท่าไหร่
  • ในปีที่กำไรลดลง ลดลงเท่าไหร่ ลดลงสูงสุดเท่าไหร่
  • มีปีที่ขาดทุนมากแค่ไหน

เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บริษัทที่มีการเติบโตที่มั่นคง จะได้รับคะแนนที่สูงกว่า (ในกรณีที่อย่างอื่นเหมือนกันหมด) เพื่อสะท้อนศักยภาพในการแข่งขันระยะยาวที่มีมากกว่า สามารถคาดการณ์การเติบโตในอนาคตได้แม่นยำกว่า และมีความเสี่ยงในการลงทุนน้อยกว่า

เช่น กรณีบริษัท A และ บริษัท B เมื่อดูการเติบโตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็จะสรุปได้ดังนี้

เมื่อดูข้อมูลที่ละเอียดขึ้นแบบนี้ จะเห็นว่าบริษัท B มีคุณภาพของธุรกิจที่ดีกว่า สามารถสร้างกำไรได้สม่ำเสมอทุกปี โอกาสที่ลงทุนไปแล้วจะขาดทุนมากๆ จะน้อยกว่าบริษัท A เพราะอย่าลืมว่า ในระยะยาวราคาหุ้นจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกับกำไรของบริษัท ถ้าเราลงทุนในบริษัท A ไปแล้ว เกิดปีหน้า กำไรลดลง 50% เราก็อาจจะขาดทุนมหาศาลได้เลยครับ

ดังนั้นแนวทางของ Jitta ที่เน้นการวิเคราะห์หุ้นให้ดี ลงทุนให้ยาว ไม่ต้องปรับพอร์ตบ่อยๆ ก็จะเน้นที่การลงทุนในบริษัท B มากกว่า เพราะโอกาสผิดพลาดน้อยกว่าครับ

นอกเหนือจากการวิเคราะห์กำไรต่อหุ้นด้วยแนวทางแบบนี้แล้ว การวิเคราะห์ค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของบริษัท เช่น รายได้ กระแสเงินสด ปันผล และอื่นๆ ก็จะใช้แนวทางนี้เช่นกันครับ


2. ปรับการคำนวณธุรกิจโภคภัณฑ์ให้ละเอียดขึ้น

ธุรกิจโภคภัณฑ์เป็นธุรกิจวัฏจักรที่กำไรมีความผันผวนอย่างมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ควบคุมราคาขายและต้นทุนวัตถุดิบได้ยาก รวมทั้งยังต้องมีการลงทุนในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนอย่างสม่ำเสมอ

ในปีที่ดี กำไรอาจจะเพิ่มขึ้นได้สูงมาก หลายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะเดียวกันในปีที่แย่ๆ กำไรก็อาจจะลดลงได้เยอะมากเช่นเดียวกัน หรือที่แย่กว่านั้น อาจจะขาดทุนเลยก็ได้ เพราะขายของได้เงินน้อยลง ในขณะที่ต้นทุนต่างๆ ยังเท่าเดิม

ซึ่งตัวเลขทางการเงินที่เราสามารถใช้เพื่อบ่งชี้ความเป็นธุรกิจโภคภัณฑ์ได้ดีคือ อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin หรือ GPM) ที่มักจะมีลักษณะเป็นวัฏจักรขึ้นๆ ลงๆ มีความผันผวนที่สูงกว่าธุรกิจปกติทั่วไป

ส่วนที่ Jitta ปรับเพิ่มเติม คือ การวิเคราะห์ความผันผวนของ อัตรากำไรขั้นต้นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงมากน้อยแค่ไหน บริษัทที่มีอัตรากำไรขั้นต้นผันผวนน้อยกว่า ก็จะได้รับคะแนนที่สูงกว่า (ในกรณีที่อย่างอื่นเหมือนกันหมด)

ตัวอย่างเช่น บริษัท X,Y มี อัตรากำไรขั้นต้น ใน 5 ปีที่ผ่านมาดังนี้

ซึ่งถ้าตัวเลขต่างๆ ออกมาเป็นแบบนี้ ทาง Jitta จะให้คะแนนบริษัท X มากกว่า บริษัท Y เนื่องจาก ความเสี่ยงในช่วงขาลงของธุรกิจมีน้อยกว่า (แม้ว่าในช่วงขาขึ้นโอกาสการเติบโตจะน้อยกว่าไปด้วย) เพราะ Jitta จะต้องพยายามป้องกันความเสี่ยงที่หุ้นจะขาดทุนมากๆ เป็นหลักก่อน

และการปรับแบบนี้ นอกจากจะช่วยให้เราสามารถคัดกรองคุณภาพของบริษัทโภคภัณฑ์เพื่อนำมาให้คะแนนได้แม่นยำขึ้น ก็ยังช่วยคัดกรองธุรกิจที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ออกมาจากธุรกิจที่ยอดเยี่ยมได้ดีขึ้นด้วย เพราะธุรกิจที่ยอดเยี่ยมนั้น อัตรากำไรขั้นต้น มักจะมีความสม่ำเสมอสูง อาจจะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงบ้างในแต่ละปี แต่จะไม่มีการผันผวนขึ้นลงแรงๆ แบบธุรกิจที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ครับ


นอกเหนือจากนี้ ก็จะเป็นการปรับรายละเอียดเล็กน้อยอื่นๆ ของ Jitta algorithm เช่น การวิเคราะห์และตัดกำไรพิเศษให้ได้ดีขึ้น และ การเลือกปรับให้น้ำหนักผลประกอบการในช่วง 3 ปีล่าสุดมากขึ้น เป็นต้น

ซึ่งทั้งหมดนี้คิดว่า จะช่วยให้ค่า Jitta Score นั้นมีความแม่นยำมากขึ้น สามารถใช้วัดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในระยะยาวได้ รวมทั้งสามารถใช้เพื่อดูแนวโน้มของธุรกิจในระยะกลางได้ดีขึ้นครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักลงทุนที่ใช้ข้อมูลของ Jitta ในการวิเคราะห์ หรือ นักลงทุนที่ลงทุนกับ Jitta Wealth ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาวครับ


เรื่องสำคัญอีกเรื่องนึงที่ต้องแจ้งทุกคน คือ ทางทีมงานจะมีการปรับในส่วนของการเปรียบเทียบราคาหุ้นกับ Jitta Line ด้วยนะครับ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลง 2 อย่างด้วยกันครับ

1. การคำนวณราคาหุ้นเทียบกับ Jitta Line

ที่ผ่านมา Jitta จะทำการคำนวณโดยอิงจากราคาหุ้นเป็นหลัก เพื่อคำนวณหา upside gain และ downside risk เพื่อดูว่า ราคาหุ้นมีโอกาสเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้กี่เปอร์เซ็นต์เมื่อวิ่งเข้าไปใกล้กับ Jitta Line

แต่หลังจากนี้จะเป็นการคำนวณโดยอิงจาก Jitta Line เป็นหลัก เพื่อให้ตรงกับคำที่ใช้อ้างอิงว่า ราคาหุ้นถูกหรือแพงกว่า Jitta Line กี่เปอร์เซ็นต์ ตามที่จะพูดถึงในข้อถัดไป

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากราคาหุ้นอยู่ที่ 12 บาท และ Jitta Line อยู่ที่ 10 บาท

  • สมัยก่อน Jitta จะแสดงผลว่า หุ้นนี้ราคาแพงกว่า Jitta Line อยู่ (12-10)*100/12 = 16.67%
  • หลังจากนี้ Jitta จะแสดงผลว่า หุ้นนี้ราคาแพงกว่า Jitta Line อยู่ (12-10)*100/10 = 20%

ทั้งนี้ในส่วนของการปรับการคำนวณนี้ ไม่ได้มีผลกระทบกับการคำนวณส่วนอื่นๆ ของ Jitta นะครับ เพราะตัวเลขราคาหุ้นและมูลค่าที่เหมาะสมตาม Jitta Line ยังคงเหมือนเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรครับ เป็นเพียงเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลให้นักลงทุนเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ


2. การใช้คำศัพท์แสดงราคาหุ้นเทียบกับ Jitta Line

ที่ผ่านมา ในส่วนของการเทียบราคาหุ้นกับ Jitta Line ในภาษาอังกฤษเราจะใช้คำว่า Above Jitta Line เมื่อราคาหุ้นอยู่สูงกว่า Jitta Line และใช้คำว่า Below Jitta Line เมื่อราคาหุ้นอยู่ต่ำกว่า Jitta Line ซึ่งอาจจะทำให้บางคนสับสนได้ว่าตกลงคำว่า Above นี่คือ ดีหรือไม่ดี และ Below คือ ดีหรือไม่ดีกันแน่

เราจึงจะทำการปรับคำใหม่ โดยถ้าหากหุ้นมีราคาแพงกว่า Jitta Line เราจะใช้คำว่า Over Jitta Line เพื่อสื่อให้เข้าใจว่าหุ้นนั้น Over value หรือ มีมูลค่าสูงเกินไปอยู่ และเมื่อราคาหุ้นอยู่ตำ่กว่า Jitta Line เราจะใช้คำว่า Under Jitta Line เพื่อให้เข้าใจว่าหุ้นนั้น Under value หรือ ราคาต่ำกว่ามูลค่าอยู่

ในส่วนของภาษาไทยบน Jitta Mobile Application เราใช้คำว่า แพงกว่า Jitta Line และ ถูกกว่า Jitta Line ซึ่งคิดว่าน่าจะสื่อให้เข้าใจความหมายกันได้ดีอยู่แล้ว จึงไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไรครับ

Jitta.com จะใช้โอกาสวันสุดท้ายของการซื้อขายหุ้น วันที่ 30 ธันวาคม 2562 นี้ โดยเมื่อตลาดปิดทำการแล้วก็จะอัปเดตอัลกอริทึม เพื่อพร้อมให้บริการข้อมูลพร้อมกับการอัปเดตครั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไปครับ

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่คอยแนะนำและให้การสนับสนุน Jitta มาโดยตลอด และเนื่องในโอกาสปีใหม่ 2563 ก็ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง จิตใจเบิกบาน ลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืนกันทุกคนในปีหน้าที่กำลังจากมาถึง และในทุกปีต่อๆ ไปจากนี้นะครับ

ด้วยรักจากทีมงาน Jitta
ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์