อะไร…ทำให้หนึ่งในผู้จัดการกองทุนแนวเน้นคุณค่าที่เก่งที่สุดในโลกอย่างปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch) สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นถึง 29.2% ต่อปี และทำติดต่อกันนานถึง 13 ปี!
พูดง่ายๆ คือ…กองทุนของปีเตอร์ ลินช์ ทำให้เงิน 1 ล้านบาท กลายเป็น 27.9 ล้านบาท ได้ภายในเวลาแค่ 13 ปีนั่นเอง
เขาทำได้ยังไง!?!?
เทคนิคการลงทุนของลินช์ต่อยอดมาจากการแบ่งหุ้นออกเป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ ทำให้ลินช์สามารถจัดการความเสี่ยงของพอร์ตได้อย่างเหมาะสมตามลักษณะของหุ้น จึงรักษาผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่ดีได้
สำหรับนักลงทุนทั่วไปอย่างเราๆ แนวคิดนี้จะช่วยให้คุณเลือกลงทุนในหุ้นได้อย่างเหมาะสมกับเป้าหมายด้านการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้ ต่อยอดจากการลงทุนในบริษัทที่ดี ในราคาที่เหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น…
ถ้าคุณอยู่ในวัยกลางคน เริ่มมีเงินก้อนสำหรับลงทุน คุณก็อาจจะหวังให้พอร์ตเติบโต เลยยอมรับความเสี่ยงได้สูง
แต่ถ้าคุณเพิ่งเกษียณจากการทำงาน อยากแค่เอาชนะเงินเฟ้อ ได้เงินปันผลมาใช้แทนรายได้ประจำ คุณก็จะรับความเสี่ยงได้ต่ำกว่า
ดังนั้น ก่อนจะเลือกซื้อบริษัทใดสักบริษัทหนึ่ง ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า หุ้นตัวนั้นจัดอยู่ในประเภทไหน จะได้เหมาะกับเป้าหมายการลงทุนของคุณครับ
โดยประเภทหุ้นทั้ง 6 ของปีเตอร์ ลินช์ ก็มีดังนี้
1. Slow Growers หรือ หุ้นโตช้า
หุ้นกลุ่มนี้มักเป็นหุ้นขนาดใหญ่ ธุรกิจเติบโตช้า รายได้คงที่หรือเพิ่มขึ้นต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ ราคาหุ้น หรือ capital gain ไม่ได้มีการเปลี่ยนเเปลงสูง แต่ข้อดีของหุ้นกลุ่มนี้คือจ่ายเงินปันผล บางครั้งสูงถึง 7-10% หุ้นประเภทนี้จะเหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ได้หวังกำไรจากผลต่างของราคา หรือรับความเสี่ยงได้ไม่สูงมาก
อัตราส่วนที่ใช้วิเคราะห์เบื้องต้น
- อัตราราคาต่อกำไรต่อหุ้น (price to earnings ratio) และ อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี
(price to book value ratio) ค่อนข้างต่ำ - อัตราการจ่ายเงินปันผล (dividend payout ratio ) สูง
- อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน ( Dividend yield ) อาจจะสูงถึง 7-10% ต่อปี
- มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ( Market cap ) ขนาดใหญ่
ข้อควรระวัง
ถ้าบริษัทอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังถดถอย บริษัทก็อาจจะหนีไม่พ้นขาลงด้วยเช่นกันครับ
2. Stalwarts หรือ หุ้นแข็งแกร่ง
หุ้นขนาดใหญ่ พื้นฐานแข็งแกร่ง ทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอระดับ 10% แม้จะไม่หวือหวามากนัก แต่ก็เป็นกิจการที่เป็นที่รู้จักและยอมรับในสายตาของคนทั่วไปหุ้นกลุ่มนี้จัดได้ว่าเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงไม่สูงมากนัก เพราะถึงแม้จะเกิดวิกฤตเศรฐกิจขึ้น แต่หุ้นกลุ่มนี้ก็สามารถฟื้นกลับมาได้เร็ว
อัตราส่วนที่ใช้วิเคราะห์เบื้องต้น
- กำไรต่อหุ้น (earnings per share ) เติบโตสม่ำเสมอ มากกว่าตลาดเล็กน้อย
- อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (debt to equity ratio) น้อย
- มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ( Market cap ) ขนาดใหญ่
ข้อควรระวัง
ในบางครั้งอาจจะเกิดความเข้าใจผิดสับสนกับหุ้นวัฎจักรได้ ดังนั้นปัจจัยหลักที่มีผลต่อธุรกิจไม่ควรมีแนวโน้นการเปลี่ยนแปลงราคาขึ้นลงง่ายจนเกินไป เช่น ราคาน้ำมัน ปิโตรเคมี ถ่านหิน เป็นต้น
3. Fast Growers หรือ หุ้นโตเร็ว
หุ้นกลุ่มนี้อาจจะไม่ใช่หุ้นขนาดใหญ่ แต่พื้นฐานดี มีศักยภาพในการเติบโตปีละ 15-20% เป็นอย่างต่ำ แถมยังเติบโตได้อีกเรื่อยๆ บางทีให้ผลตอบแทนถึง 100-200% ในเวลาเพียงไม่กี่ปี!
แต่การเติบโตนี้ต้องมาจากยอดขายและกำไรเป็นหลัก ซึ่งเกิดจากเพิ่ม Market Share หรือ ส่วนแบ่งการตลาดของเราให้สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่มาจากการซื้อขายทรัพย์สินของบริษัท หรือที่เรียกกันว่ากำไรพิเศษ ข้อดีหุ้นประเภทนี้คือ คุณถือมันไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่บริษัทยังมีศักยภาพในการทำกำไรในระดับสูง
อัตราส่วนที่ใช้วิเคราะห์เบื้องต้น
- อัตราราคาต่อกำไรต่อหุ้น ( Price to earnings ratio ) สูง เฉลี่ยสม่ำเสมอ
- กำไรต่อหุ้น ( Earnings per share ) เติบโตในอัตรา 15-20%
ข้อควรระวัง
การเติบโตนั้นจะต้องไม่ใช่ซื้อหรือจำเป็นที่ต้องลงทุนที่มากเกินไป
4. Cyclicals หรือ หุ้นวัฎจักร
หุ้นกลุ่มนี้มักเป็นหุ้นกลุ่มที่มีการเติบโตขึ้นลงตามปัจจัยที่มีผลต่อกิจการ โดยส่วนใหญ่มักเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ปิโตรเคมี ถ่านหิน สินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าเกษตร อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในไทย อย่างกลุ่มน้ำมัน ช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้นพีคๆ ก็จะกอบโกยรายได้และกำไรมหาศาล แต่พอราคาน้ำมันตก ก็ล้มลุกคลุกคลานไปตามๆ กัน
อัตราส่วนที่ใช้วิเคราะห์เบื้องต้น
- อัตราราคาต่อกำไรต่อหุ้น ( Price to earnings ratio ) และ กำไรต่อหุ้น ( Earnings per share ) มีแนวโน้มขึ้นสุดลงสุด สลับกันเป็นช่วงๆ เช่น มีกำไร 3 ปี ขาดทุน 2 ปีสลับกัน
ข้อควรระวัง
ควรมีความเข้าใจในกลไกราคา รวมถึงปัจจัยที่มีผลต่อกิจการนั้นๆเป็นอย่างดี
5. Turnarounds หรือ หุ้นฟื้นตัว
หุ้นในกลุ่มนี้มักเป็นธุรกิจที่เคยประสบปัญหาขาดทุนหนักจนเกือบล้มละลาย ซึ่งไม่ว่าจะเพราะขายของขาดทุน หรือเอาเงินไปลงทุนแล้วเงินจม จนขาดสภาพคล่อง ถ้าบริษัทเหล่านี้ปรับโครงสร้าง เช่น ชำระหนี้จนเกือบหมด หรือปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ของกิจการจนกลับมาสร้างกำไรได้สำเร็จ ก็จะสร้างผลตอบแทนให้คุณได้มหาศาล
อัตราส่วนที่ใช้วิเคราะห์เบื้องต้น
- อัตราราคาต่อกำไรต่อหุ้น ( Price to earnings ratio ) และ กำไรต่อหุ้น ( Earnings per share ) มีแนวโน้มขึ้นสุดลงสุด สลับกันเป็นช่วงๆ เช่น มีกำไร 3 ปี ขาดทุน 2 ปีสลับกัน
- อัตรากำไรสุทธิ ( Net profit margin ) กลับมาเป็นบวก
- อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ( Debt to equity ratio ) ลดลงเรื่อยๆ
ข้อควรระวัง
บริษัทแบบนี้มีโอกาสล้มละลายได้ทุกเมื่อ จึงถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง
6. Asset Plays หรือ หุ้นทรัพย์สินมาก
หุ้นในกลุ่มนี้ เป็นกิจการที่ถือครองทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือหุ้นในกิจการอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง เช่น บริษัท holding อย่าง Berkshire Hathaway ของคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ถือหุ้นของธุรกิจหลากหลายประเภท
หากคุณลงทุนในบริษัทที่ซื้อหุ้นของกิจการที่มีศักยภาพในการทำกำไรอย่างต่อเนื่อง หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในทำเลดี มูลค่าเพิ่มขึ้นสูง มูลค่าของบริษัทที่คุณลงทุนไปก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และคุณก็มีโอกาสทำกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นเมื่อตลาดรับรู้มูลค่าที่แท้จริงของบริษัท
อัตราส่วนที่ใช้วิเคราะห์เบื้องต้น
การค้นหาหุ้นกลุ่ม Asset Plays จะไม่เน้นวิเคราะห์อัตราส่วน แต่จะเน้นไปที่การค้นหาราคาต้นทุนของทรัพย์สินต่างๆ ที่บริษัทถือครองอยู่ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับราคาตลาด ณ ปัจจุบัน ซึ่งคุณสามารถหาข้อมูลได้จากประกาศจากบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะ
ข้อควรระวัง
ไม่มีใครทราบได้ว่า ตลาดจะรับรู้เมื่อไหร่ว่าบริษัทกลุ่มนี้ถือครองทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ราคาหุ้นอาจจะไม่ปรับขึ้นเป็นระยะเวลานาน
วิเคราะห์อย่างไรจึงรู้ประเภทหุ้นได้อย่างรวดเร็ว?
ปีเตอร์ ลินช์ ลงทุนในหุ้น 6 ประเภทนี้เพื่อสร้างสมดุลให้พอร์ต จัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ยังให้ผลตอบแทนดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
คุณไม่ต้องลงทุนในหุ้น 1,000 กว่าตัวเหมือนลินช์ ก็นำแนวคิดหุ้นทั้ง 6 ประเภทไปใช้บริหารพอร์ตได้เหมือนกันครับ โดยเริ่มจากการอ่านงบการเงิน สังเกตแนวโน้มอัตราส่วนที่สำคัญๆ ของหุ้นแต่ละประเภท แล้วคุณก็จะทราบเองว่า หุ้นที่คุณกำลังสนใจนั้น เข้าข่ายหุ้นประเภทใด เหมาะกับพอร์ตลงทุนของคุณหรือไม่
เช่น ถ้าคุณอยู่ในวัยกลางคน เริ่มมีเงินก้อนสำหรับการลงทุนบความเสี่ยงได้สูง ก็อาจจะเหมาะกับการลงทุนหุ้นกลุ่ม Fast Growers กลุ่ม Cyclicals และ กลุ่ม Turnarounds เพื่อให้พอร์ตเติบโต และคาดหวังผลตอบแทนในระดับ 15-20 % ต่อปี
แต่หากคุณเพิ่งเกษียณ ต้องเน้นรักษาเงินต้น จึงรับความเสี่ยงได้ต่ำ การลงทุนหุ้นกลุ่ม Slow Growers กลุ่ม Stalwarts กลุ่ม Asset Plays และมีกลุ่ม Fast Growers ปะปนเข้ามาเล็กน้อย ก็จะช่วยสร้างผลตอบแทนรวมปันผลให้เอาชนะเงินเฟ้อได้ที่ประมาณ 5-8% ต่อปี
ซึ่ง Jitta FactSheet ก็ช่วยคุณประหยัดเวลาตรงนี้ไปได้มากครับ เพราะคุณปรับแต่งเอาอัตราส่วนสำคัญๆ ขึ้นมาวางไว้ด้านบนสุดของตารางได้ หรือว่าจะจัดเอาอัตราส่วนที่ควรจะดูควบคู่กันไปไว้ในกลุ่มเดียวกัน ให้ดูปราดเดียวรู้เรื่องเลย ก็ทำได้เหมือนกัน
เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการวิเคราะห์และจัดประเภทหุ้น เราก็มีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการปรับแต่งหน้า Jitta FactSheet ให้ตอบโจทย์การใช้งานได้ดียิ่งขึ้น นั่นคือการเพิ่มและจัดกลุ่มอัตราส่วนสำคัญๆ เหล่านี้
- มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ( Market cap )
- อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี ( price to book value ratio )
- กำไรต่อหุ้น ( Earnings per share )
- อัตรากำไรสุทธิ ( Net profit margin )
- อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ( Debt to equity ratio )
- อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ( Return on equity )
- อัตราการจ่ายเงินปันผล ( Dividend payout ratio )
- กระแสเงินสดอิสระ ( Free cash flows )
- อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน ( Dividend yield )
นอกจากจะได้เข้าใจประเภทของหุ้นได้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังเห็นแนวโน้มการเติบโต และความแข็งแกร่งของกิจการได้ทันที
วิธีเพิ่มและจัดกลุ่มอัตราส่วนก็ง่ายๆ ครับ เพียง 3 ขั้นตอน
- กดปุ่ม CUSTOMIZE
- พิมพ์ค้นหาค่าที่ต้องการ แล้วลากขึ้นลงเพื่อจัดลำดับการแสดงผล
- กด UPDATE FACTSHEET
เท่านี้ คุณก็เริ่มวิเคราะห์ประเภทหุ้นตามแนวทางของปีเตอร์ ลินช์ได้แล้ว แต่อย่าลืมตั้งเป้าหมายและกำหนดระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ด้วยนะครับ คุณจะได้ทราบแนวทางการลงทุนของตัวเองที่มีเกณฑ์การวัดผลชัดเจน ช่วยให้คุณพัฒนากลยุทธ์การลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
หากคุณตั้งมั่น โฟกัสกับการฝึกฝนและพัฒนาตนเองเรื่อยๆ แล้ว เป้าหมายการลงทุนที่คุณตั้งไว้ ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมครับ!