หลังจากที่เราคุยภาพใหญ่ของหุ้นในกลุ่มนี้ไปแล้ว วันนี้จะมาลงรายละเอียดให้มากขึ้นเป็นรายบริษัทกัน ขอเริ่มที่ DELTA กับ HANA ก่อนครับ
DELTA
เปิดปีมาที่ราคาแถวๆ 50 บาท พอเจอ COVID หล่นตุ๊บลงไปต่ำสุดที่ 27 บาท
พองบออก Q1 ฟื้น Q2 ดีแบบไม่คาดคิด ราคาเลยดีดตัวไปไกล ทะลุหลักร้อย
ล่าสุดต้นเดือนตุลาคม วิ่งไปทำจุดสูงสุดที่ 205 บาท ด้วยความคาดหวังว่า Q3 ยังโตได้ต่อเนื่อง
DELTA มีอะไรดี เรามาดูกันครับ
ในแง่ตัวธุรกิจแบ่งได้หลักๆ คือ
- 63% เป็น Power Electronics เช่น Power Supply, DC Power, พัดลมอิเล็กทรอนิกส์
- 30% เป็น Infrastructure หรืออุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐาน เช่น Data Center
เรามาเริ่มดูโครงสร้างงบการเงินของ DELTA จากตัวเลข 6 เดือนของปีนี้กันก่อน
- ขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้เงิน 100 บาท
- เป็นต้นทุนขาย 76 บาท
- ได้กำไรขั้นต้น 24 บาท ก็ไม่แย่นะ นึกว่าทำงาน OEM เยอะกำไรจะน้อย
- เป็นค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย การขายและบริหาร 14 บาท
- ได้ กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี 10 บาท จริงๆ ที่เยอะคือ ค่าวิจัยและพัฒนา เพราะต้องคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ตลอด และมีทีม R&D อยู่หลายประเทศ
- กำไรสุทธิก็ 10 บาท เท่ากัน เพราะว่ามีกำไรเงินลงทุนจากบริษัทอื่นและบางทีมีรายได้ทางการเงินเข้ามาอีก
แต่ต้องบอกว่าปีนี้ตัวเลขดีกว่าปีที่แล้ว ปีก่อนขายของ 100 บาท GP 20 บาท NP 5-6 บาท สาเหตุที่ตัวเลขดีขึ้นก็เพราะว่าขายสินค้าพวก Data Center และ Cloud Storage ได้ดีช่วงที่เกิด COVID ขึ้น สินค้ากลุ่มนี้มาร์จิ้นดี และค่าใช้จ่าย SG&A กับวิจัยไม่ได้เพิ่ม เงินเลยไหลลงมากำไรเยอะขึ้น
ถ้าดูตัวเลขรายได้และกำไรรายไตรมาสจะเห็นพัฒนาการที่ชัดคือ
- Q1’19 รายได้ 13,030 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,086 ล้านบาท
- Q2’19 รายได้ 14,083 ล้านบาท กำไรสุทธิ 873 ล้านบาท
- Q3’19 รายได้ 12,479 ล้านบาท กำไรสุทธิ 618 ล้านบาท
- Q4’19 รายได้ 12,008 ล้านบาท กำไรสุทธิ 383 ล้านบาท
- Q1’20 รายได้ 12,749 ล้านบาท กำไรสุทธิ 856 ล้านบาท
- Q2’20 รายได้ 14,588 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,022 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้มีขึ้นลง แต่กำไรชัดเจนมากว่าเป็นขาลงทางเดียว จนมา Q1’20 เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของกำไร เริ่มขายสินค้าประเภท Data Center ได้มากขึ้น แต่ว่าก็มีกำไรอัตราแลกเปลี่ยนมาเยอะพอสมควร แต่ที่เห็นอย่างชัดเจนมากๆ และเกินคาดคือ ตอนประกาศงบ Q2 ที่กำไรกระโดดมาเป็น 2,000 ล้านบาท ด้วยเทรนด์ของ Cloud และ Data Center พร้อมมาร์จิ้นที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ราคาวิ่งขึ้นแรงตอนนั้น และยิ่งผู้บริหารพูดใน Opp Day ต่อว่าครึ่งปีหลังก็ยังมีทิศทางที่ดีอยู่ ทำให้ราคาค่อยๆ ไต่ระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทีนี้ถ้ามาพูดในเวลาปัจจุบันที่ราคาขึ้นไปเกิน 200 บาท แล้วย่อตัวลงมา คำถามคือ DELTA จะไปต่อหรือพอแค่นี้
- Jitta Score 4.26 เท่า (ค่าเฉลี่ย 10 ปี อยู่ที่ 5.82) แปลว่า คุณภาพใช้ได้ อาจมีความผันผวน มีแผ่วบ้างในบางช่วง
- ราคานี้แพงกว่าเส้น Jitta Line 289.1% ก็ถือว่าสูงเยอะเลย แต่ถ้าสังเกตกันตอนเดือนมีนาคมที่ราคาหุ้นลงมาแรงๆ ช่วงนั้น ราคาถูกกว่าเส้น Jitta Line 15.2% ถ้าใครได้ลงทุนตอนนั้นก็จะถูกที่ถูกเวลาเลยทีเดียว
- P/E 58.4 เท่า ตัวเลขสูงเอาเรื่อง สมมติว่า กำไรโตได้เท่าตัว P/E ก็หารสอง ลงมาที่ 30 เท่า ก็ยังดูไม่ใช่เล่น
แนวโน้มการเติบโตในอนาคต ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะโตเยอะ เพราะ DELTA อยู่ในเมกะเทรนด์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Data Center, 5G หรือ EV Car ซึ่งถ้าธุรกิจเหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตไปเรื่อยๆ ก็อาจจะเป็นผลบวกกับ DELTA เช่นกัน ต้องติดตามกันดูต่อไปว่าจะทำได้ดีแค่ไหนนะครับ
HANA
เปิดปีมาที่ราคาแถวๆ 35 บาท พอเจอ COVID หล่นลงไปครึ่งทางอยู่ที่ 18 บาท สังเกตว่าเป็นเหมือนกันทุกบริษัท
แต่กว่าที่ HANA จะเริ่มขึ้นจริงจังคือช่วงสิงหาคม 2020 และมาพีคที่ตุลาคม ราคาสูงสุดอยู่ที่ 54.25 บาท
HANA มีอะไรดี เรามาดูกันครับ
ตัวธุรกิจของ HANA ผลิตและประกอบแผงวงจร “PCBA” (แผงเขียวๆ) และประกอบและทดสอบวงจร “IC” โดยมีโรงงานที่ไทย จีน สหรัฐฯ กัมพูชา
สัดส่วนการขายโดยประมาณ คือ 60% PCBA 35% IC
ลูกค้าหลัก 30% สื่อสารโทรคมนาคม 17% ยานยนต์ 15% อุตสาหกรรม
เรามาเริ่มดูโครงสร้างงบการเงินของ HANA จากตัวเลข 6 เดือนของปีนี้กันก่อน
- ขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้เงิน 100 บาท
- เป็นต้นทุนขาย 85 บาท
- ได้กำไรขั้นต้น 15 บาท ไม่ค่อยเยอะ เทียบกับ DELTA ถือว่าห่างกันพอสมคว
- เป็นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 5 บาท ตรงนี้ถือว่าน้อย อาจจะไม่ได้ใช้เงิน R&D เยอะเท่า DELTA
- ได้ กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี 10 บาท
- กำไรสุทธิ 9 บาท ไม่ค่อยมีหนี้ D/E แค่ 0.17 เท่าเอง
ถ้าดูตัวเลขรายได้และกำไรรายไตรมาสจะเห็นพัฒนาการที่ชัดคือ
- Q1’19 รายได้ 5,214 ล้านบาท กำไรสุทธิ 303 ล้านบาท
- Q2’19 รายได้ 5,237 ล้านบาท กำไรสุทธิ 535 ล้านบาท
- Q3’19 รายได้ 5,256 ล้านบาท กำไรสุทธิ 407 ล้านบาท
- Q4’19 รายได้ 5,025 ล้านบาท กำไรสุทธิ 558 ล้านบาท
- Q1’20 รายได้ 4,683 ล้านบาท กำไรสุทธิ 203 ล้านบาท
- Q2’20 รายได้ 4,691 ล้านบาท กำไรสุทธิ 682 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้อยู่ประมาณ 5,000-5,200 ล้านบาท แต่พอมาปี 2020 รายได้ลดลงมาอยู่เกือบๆ 4,700 ล้านบาท ขณะที่กำไรของ HANA ค่อนข้างเหวี่ยง อยู่ตั้งแต่ 300-500 ล้านบาท และดูเหมือนว่า Q1’20 จะลงไปต่ำสุดที่ 200 ล้านบาท ก่อนที่ Q2’20 จะเพิ่มมากขึ้นแบบมีนัยสำคัญ แต่ก็มีกำไรอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท และมีการควบคุมต้นทุนได้มีประสิทธิภาพ
สิ่งที่ทำให้หุ้น HANA ขึ้นมาอย่างร้อนแรง ถ้าจะให้สรุปก็คือ
- ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่ม Smartphone, Consumer Electronics และ Automotive
- โรงงานที่จีนเริ่มฟื้นตัวเร็วกว่าคาดและฟื้นตัวต่อเนื่อง
- คำสั่งซื้อของลูกค้าประเทศเยอรมันฟื้นตัวแรง
- ควบคุมต้นทุนได้ดีและเงินบาทที่อ่อนค่าลง
- ลงทุนเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากกว่าขยายกำลังการผลิต แปลว่ามาร์จิ้นจะดีขึ้น โดยที่ค่าเสื่อมไม่เพิ่มมาก
ถึงแม้ว่าฝั่งรายได้จะไม่เติบโตแบบชัดเจนเหมือน DELTA แต่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี และแนวโน้มการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ มาเรื่อยๆ กับการลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยเพิ่มกำไรให้ HANA ได้อีก
ในแง่ของคุณภาพและราคาหุ้นเป็นแบบนี้
- Jitta Score 3.64 เท่า (ค่าเฉลี่ย 10 ปี อยู่ที่ 5.06) ตัวเลขคล้าย DELTA แต่ดีไม่เท่า แปลว่า ในอดีตคุณภาพใช้ได้ แต่ช่วงหลังมาเริ่มผันผวนและแผ่วลงเยอะ
- ราคานี้แพงกว่าเส้น Jitta Line 25.6% ก็ถือว่าสูงไม่มากนัก และถ้ามองย้อนหลังไป จะพบว่า ราคาหุ้น HANA อยู่ต่ำกว่า Jitta Line มาโดยตลอด เพิ่งจะมาแซงก็ตอนเดือนสิงหาคมเอง
- P/E 21.3 เท่า ต่ำกว่า DELTA เกินครึ่ง
แนวโน้มการเติบโตในอนาคตดูน่าสนใจที่ทางจีนดูฟื้นแรง และเห็นเยอรมันดีขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง ก็น่าจะเป็นตัวช่วยให้กับ HANA ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องคอยระวังเรื่องการกีดกันทางการค้าต่างๆ ไว้ด้วย เช่น กรณี Huawei เป็นต้น
Source: S&P Global Market Intelligence เรียบเรียงโดย Jitta