ถ้าพูดถึงหุ้นที่ทำผลตอบแทนได้ดีมากสวนกระแส COVID ต้องบอกเลยว่า คือ หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น
ถึงแม้ว่าจะอยู่กลุ่มเดียวกันแต่ว่าสินค้ามีความแตกต่างกันพอสมควร วันนี้เราจะมาคุยกันถึงภาพใหญ่ของหุ้นกลุ่มนี้ก่อนนะครับ แล้วตอนต่อไปเราจะค่อยๆ มาเจาะรายละเอียดหุ้นแต่ละบริษัทกัน
1. ลักษณะของธุรกิจ
- DELTA ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับ Power Electronics, Power Supply, Data Center, EV Car จะเกี่ยวกับสินค้าที่เป็นดูมีแนวโน้มเติบโตดีทั้ง work from home, 5G, รถยนต์ไฟฟ้า
- HANA ผลิตแผงวงจร PCBA ที่ใช้ในอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ทำให้เวลามีข่าวเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือออกรุ่นใหม่หรือขายดี HANA ก็จะได้รับผลดีตาม
- KCE ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ PCB ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้เวลามีข่าวยอดขายรถยนต์ที่ต่างประเทศเติบโต KCE ก็จะขึ้นตาม
- SVI ผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำเร็จรูป ให้สินค้ากลุ่มอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับกล้องวงจรปิด
จะพบว่า สินค้าของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกันพอสมควร ถ้าจะลงทุนหุ้นบริษัทไหน เราจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า แนวโน้มธุรกิจไหนที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว หรือมีแนวโน้มเติบโตได้ในอนาคต
นอกจากนั้นก็ควรดูเรื่องนโยบายการค้า สงครามการค้า การกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ประกอบไปด้วย เพราะว่าเป็นสินค้ารับจ้างผลิตเสียส่วนใหญ่ ถ้ามีการกระตุ้นให้เกิด Demand ในประเทศต่างๆ ก็จะทำให้ออเดอร์ของหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวสูงขึ้นได้
อีก 2 เรื่องที่ขาดไม่ได้ คือ ต้องดูเรื่องค่าเงินบาทประกอบ ถ้าแนวโน้มอ่อนค่า ก็จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันได้ดีขึ้น และต้องติดตามต้นทุนการผลิต เช่น ทองแดง เพราะจะมีผลให้ต้นทุนเพิ่มหรือลดได้เช่นกัน และส่งผลต่อกำไรของบริษัทได้
2. การเติบโตของรายได้และกำไร
ถ้าดูจากตัวเลข 6 เดือนแรกของปีนี้ รายได้และกำไรสุทธิเป็นแบบนี้
- DELTA รายได้ 27,637 ล้านบาท (+1.1%) กำไรสุทธิ 2,878 ล้านบาท (+46.94%)
- HANA รายได้ 9,455 ล้านบาท (-10.6%) กำไรสุทธิ 886 ล้านบาท (+5.6%)
- KCE รายได้ 5,512 ล้านบาท (-11.8%) กำไรสุทธิ 496 ล้านบาท (+16)
- SVI รายได้ 7,531 ล้านบาท (-7.3%) กำไรสุทธิ 335 ล้านบาท (+43.9%)
ในส่วนของรายได้ส่วนใหญ่ลดลงหมด ยกเว้น DELTA ที่พอบวกอ่อนๆ ได้ แต่ก็เป็นเพราะว่าเรื่องของ Covid-19 ฉุดให้ Demand ลดลง และการนำเข้าส่งออกทำได้ลำบากขึ้นด้วย แต่แนวโน้มหลังคลายล็อกดาวน์เริ่มกลับมาดีขึ้น ในส่วนของกำไรจะเห็นว่าเป็นบวกหมดทุกบริษัท โดยเฉพาะ DELTA กับ SVI ที่บวกเยอะ
DELTA เองดูจะมีกำไรที่น่าสนใจกว่า เพราะว่า product mix ของสินค้าที่ขายได้ เป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง อย่างเช่นสินค้าในกลุ่ม Data Center ส่วน SVI นั้นมีกำไรที่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่พอสมควรเหมือนกัน และมีผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่สูงเพิ่มด้วย
3. อัตราการทำกำไร
ถ้าดูจากตัวเลข 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยดู GPM และ NPM จะเป็นแบบนี้
- DELTA GPM 23.8% NPM 10.4%
- HANA GPM 15.3% NPM 9.4%
- KCE GPM 21.7% NPM 9%
- SVI GPM 8.6% NPM 4.5%
เนื่องจากเป็นสินค้ารับจ้างผลิตเป็นส่วนใหญ่ ทำให้อัตรากำไรไม่สูงมากนัก อาจจะมี DELTA ที่บอกไปก่อนหน้าว่า มีสัดส่วนการขายสินค้าที่มาร์จิ้นสูงเพิ่มขึ้นทำให้อัตรากำไรปรับตัวสูงขึ้นได้ และบริษัทที่มีอัตรากำไรต่ำสุดคือ SVI ทำให้การเติบโตของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ต้องพึ่งพาทั้งยอดขายที่มาก mix สินค้าที่ทำให้กำไรสูงขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบก็สำคัญ
4. ความถูกแพง
- DELTA P/E 59.1 P/BV 6.8 แพงกว่า Jitta Line 294.5%
- HANA P/E 20.9 P/BV 1.84 แพงกว่า Jitta Line 23.74%
- KCE P/E 42.4 P/BV 3.6 แพงกว่า Jitta Line 95.89%
- SVI P/E 20.7 P/BV 2.65 แพงกว่า Jitta Line 18.89%
ตัวเลขในปัจจุบัน ไม่ว่าจะดูจากมุมของ P/E, P/BV หรือ Jitta Line ต้องบอกว่า ราคาแพงหมด อาจจะเป็นเพราะว่าราคาขึ้นมาเร็วมาก แต่จริงๆ ถ้าย้อนไปดูช่วงประมาณปลายไตรมาส 1 หุ้นกลุ่มนี้ราคายังอยู่ต่ำกว่าเส้น Jitta Line อยู่ เดี๋ยวประเด็นนี้เราเก็บไว้คุยกันอีกทีตอนลงรายละเอียดในแต่ละบริษัท
อีกประเด็นคือเรื่องของแนวโน้มการเติบโตของแต่ละบริษัทว่าจะโตได้อีกแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็น
- Trend การเติบโตของ data center จะมาช่วยเพิ่มการโตของ DELTA แค่ไหน
- การกระตุ้นรถยนต์ EV ของทางฝั่งยุโรปกับหุ้น KCE
- การเปิดตัวโทรศัพท์มือถือกับหุ้น HANA
- ป้ายราคาสินค้าดิจิตอล กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ จะมาช่วยให้ SVI เติบโตได้แค่ไหน
สำหรับตอนแรกนี้เราจะให้เห็นภาพตัวธุรกิจ รายได้ กำไร การเติบโต อัตรากำไร และความถูกแพง ของหุ้นแต่ละตัวก่อน แล้วเดี๋ยวตอนหน้าเราจะมาลงรายละเอียดเพิ่มเติม รวมไปถึงแนวโน้มการเติบโตในอนาคตกันครับ
Source: S&P Global Market Intelligence เรียบเรียงโดย Jitta