ตอนสุดท้ายสำหรับการสแกนหุ้นงบสวยด้วยเงื่อนไขของหุ้นที่กำไรเติบโต รายได้เติบโต หนี้สินน้อย ROE สูง Jitta Score สูง และราคาถูกกว่า Jitta Line เราได้หุ้นมาทั้งหมด 10 บริษัท คือ
LALIN, PT, ICN, TFMAMA, PHOL, PHOLPRM, SWC, SAWAD, TNP, SMPC
อ่านบทความก่อนหน้านี้
ตอนที่ 1: LALIN, PT, ICN
ตอนที่ 2: TFMAMA, PHOL, PHOLPRM, SWC
วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกันต่อกับอีก 3 บริษัทที่เหลือ คือ SAWAD, TNP และ SMPC แต่ต้องโน้ตไว้นิดนึงว่า ตอนแรกที่เลือกหุ้น 3 ตัวนี้มา ราคาอยู่ต่ำกว่านี้ แต่พอมาถึงวันนี้ราคามีการปรับตัวสูงขึ้นไปจนทำให้บางบริษัทสูงกว่า Jitta Line แล้ว
SAWAD
“ศรีสวัสดิ์ มีบ้าน มีรถ เงินสดทันใจ” ให้บริการสินเชื่อรายย่อย ทั้งจำนำทะเบียนรถ บ้าน ที่ดิน และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยสัดส่วน 50% เป็นรถยนต์ 30% เป็นบ้าน และ 20% เป็นรถมอเตอร์ไซค์และอื่นๆ
จุดที่ดูแตกต่างกว่าเจ้าอื่นคงเป็นเรื่องการเติบโตของการเอาบ้านเป็นหลักประกันที่เติบโตได้ดีและเป็นหลักประกันที่มูลค่าสูง (MTC จะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลกับมอเตอร์ไซค์มากกว่า)
- ปัจจุบัน SAWAD มี 4,210 สาขา กลยุทธ์คือการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องเพื่อการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น (MTC มี 4,568 สาขา)
- กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ เช่นร้านอาหาร ค้าขาย ขนส่ง และมีเกษตรกรรม
- %NPL 4-5% สูงกว่า MTC พอสมควร และการจัดชั้นพอร์ตสินเชื่อ 56% Stage 1, 40% Stage 2 และ 4% Stage 3 (MTC 93% stage 1)
- รายได้ Q2 เท่ากับ 2,328 ล้านบาท +19.7% พอร์ตสินเชื่อยังคงเติบโตได้ค่อนข้างดี ถึงแม้ว่าอาจจะมีความกังวลบ้างที่พอร์ตสินเชื่ออยู่ใน stage 2 พอสมควร และ %NPL ที่ดูสูงกว่าเจ้าอื่น ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงเพราะว่า การติดตามทวงหนี้ค่าปรับค่าธรรมเนียมในช่วง COVID ลดลง
- กำไรสุทธิ Q2 เท่ากับ 982.3 ล้านบาท +12.4% เติบโตน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่แนวโน้ม SAWAD จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานด้าน back office มากขึ้น ก็น่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในอนาคตได้
- D/E 1.28 เท่า ถ้ามองกันตามธุรกิจปล่อยสินเชื่อแล้วก็ต้องถือว่าไม่ได้สูง
- ROE 21.7 เท่า
- P/E 16.9 เท่า P/BV 3.19 เท่า
- Jitta Score 6.23 สูงพอควร
- ราคาถูกกว่า Jitta Line 0.54%
- อันดับ 57 บน Jitta Ranking
แนวโน้มในอนาคตของ SAWAD
แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อใหม่ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมฟื้นตัว รายได้ค่าธรรมเนียมดีขึ้นหลังจากปลดล็อคดาวน์ การตั้งสำรองมีแนวโน้มลดลงหลังจากตั้งไปพอสมควรในช่วงครึ่งปีแรก แต่ก็จะมีผลกระทบของ Policy Risk ที่ปรับลดเพดานดอกเบี้ยของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจาก 28% เหลือ 24% และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จาก 36% เหลือ 33% อยู่บ้าง
ส่วนประเด็นที่ธนาคารออมสินจะเข้ามาแข่งนั้น อาจจะมองได้ว่าลูกค้าน่าจะคนละกลุ่มกัน การอนุมัติสินเชื่อใช้เวลานานกว่า และจำนวนสาขาที่น้อยกว่า รวมถึงประเด็นที่ออมสินเองก็อยากจะหาพาร์ทเนอร์มากกว่าที่จะมาแข่งโดยตรง ก็อาจจะไม่ได้เป็นความเสี่ยงมากนักถ้ามาในรูปแบบนี้
TNP
ธนพิริยะ ร้านค้าปลีกภูธร ต้นกำเนิดอยู่เมืองเชียงราย เป็นร้านออกแนวซุปเปอร์มาร์เก็ตอยู่ในแหล่งชุมชน ขายสินค้าอุปโภคบริโภค (แต่ไม่ได้เน้นของกิน) สินค้าราคาถูก เป็นเหมือนร้านค้าที่รู้จักมักคุ้นกันดีของคนท้องถิ่น
เริ่มต้นจากเชียงราย ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจนวันนี้มีถึง 30 สาขา เชียงรายบ้านเกิดมี 24 สาขา พะเยา 4 สาขา และเชียงใหม่อีก 2 สาขา โดยปกติก็จะเปิดสาขาประมาณปีละ 5 สาขา
โดยปกติ TNP มีรายได้เติบโตปีละประมาณ 10% หลักๆ มาจากการขยายสาขา แต่ถ้าช่วงไหนมีแคมเปญของทางภาครัฐ เช่น เพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แจกเงินให้ประชาชน ก็จะทำให้มีคนเข้าร้าน TNP เพิ่มขึ้น และซื้อสินค้าต่อครั้งสูงขึ้น ยอด SSSG ก็สูงขึ้นตาม
- รายได้ Q2 เท่ากับ 514 ล้านบาท +4.3% ถือว่าเก่งมาก เพราะร้านค้าอื่นติดลบกันหมดในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ แต่ TNP เติบโตได้ แต่ก็ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งมาจากการซื้อสินค้าไปตุนกันด้วยเหมือนกัน และก็ได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของการขยายสาขา
- กำไรสุทธิ Q2 เท่ากับ 28 ล้านบาท +34.6% ถึงแม้รายได้จะเพิ่มไม่มาก แต่ต้นทุนควบคุมได้ดี รวมทั้งได้ส่วนลดการค้าจากลูกค้าเพราะ TNP ชอบซื้อเงินสด และควบคุม SG&A ในช่วงวิกฤตอย่างรัดกุม
- D/E 0.32 เท่า น้อยมาก สามารถขยายสาขาเพิ่มได้อีกมาก
- ROE 15.8 เท่า ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากความสามารถในการทำกำไรได้ดีต่อเนื่อง
- P/E 20.9 เท่า P/BV 3.15 เท่า
- Jitta Score 6.92 สูงพอควร
- ราคาแพงกว่า Jitta Line 1.82%
- อันดับ 13 บน Jitta Ranking
แนวโน้มในอนาคตของ TNP
TNP มีความสามารถในการเติบโตทั้งรายได้และกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ถ้ามองช่วงสั้นๆ ไตรมาส 4 น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐที่เพิ่มเงิน 500 บาท 3 เดือน ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะ TNP มีเครื่องรูดรับบัตรได้อยู่แล้ว ลูกค้าก็น่าจะเข้ามาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติม
และก็มีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ก็น่าจะช่วยผลักดันยอดขายได้เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต แต่ในระยะยาวก็ต้องตามดูต่อว่า การเปิดสาขานอกเมืองเชียงรายทำได้ดีแค่ไหน สามารถสเกลการเปิดได้มากแค่ไหน และคุ้มค่าหรือเปล่า
SMPC
SMPC เป็นผู้ผลิตถังแก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG) มีกำลังการผลิต 10 ล้านใบ ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก รายได้หลักกว่า 80% มาจากถังแก๊สหุงต้มสองส่วนที่ใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งเป็นที่ต้องการมากของตลาด
รายได้ของ SMPC มาจากการส่งออก 90% โดยทวีปแอฟริกาเป็นตลาดใหญ่ที่สุด 44% รองมาคือเอเชียแปซิฟิค 22% ซึ่งเป็นตลาดที่ยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ในไทยเอง สัดส่วนน้อยแค่ 3% ตลาดค่อนข้างอิ่มตัว แต่ได้งานตรวจสอบคุณภาพถังทุกปีมาชดเชย
- รายได้ Q2 เท่ากับ 1,093 ล้านบาท +20.6% ยังเติบโตได้ดีมาก มีความต้องการในตลาดแอฟริกาสูงอยู่ และผลของ trade war ก็ทำให้ยอดขายที่สหรัฐฯดีเช่นกัน
- กำไรสุทธิ Q2 เท่ากับ 182 ล้านบาท +49.3% ต้นทุนขายลดลงจากราคาเหล็กที่ปรับตัวลง เงินบาทอ่อนค่ากว่าช่วงก่อน และการชำระคืนหนี้ลดภาระดอกเบี้ย บวกกับปีที่แล้วมีค่าใช้จ่ายสำรองพนักงานเกษียณอายุ หลายอย่างประกอบกันทำให้กำไรออกมาดี
- D/E 0.44 เท่า ยังสามารถขยายตลาดได้อีกมาก
- ROE 25.8 เท่า ยืนอยู่ในระดับที่สูงได้ตลอด
- P/E 13.4 เท่า P/BV 3.22 เท่า
- Jitta Score 5.41 สูงใช้ได้
- ราคาแพงกว่า Jitta Line 4.39%
- อันดับ 55 บน Jitta Ranking
แนวโน้มในอนาคตของ SMPC
ในฝั่งของรายได้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากทั้งทวีปแอฟริกาและเอเชียใต้ที่มีดีมานด์สูง เพราะอัตราการใช้ยังต่ำอยู่มาก ในขณะที่ราคาต้นทุนเหล็กทรงตัวในระดับต่ำ และบริษัทจะคิดราคาแบบ cost plus ตั้งแต่ได้รับออเดอร์ ก็จะช่วยเรื่องของความผันผวนในระดับหนึ่ง แต่ปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องติดตามก็จะมีเรื่องของการแข่งขันจากรายอื่น เช่น ตุรกี ที่เคยค่าเงินอ่อนมากทำให้ราคาถูกลง หรือมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ เช่น กำแพงภาษีก็อาจมีผลได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้ก็คือ หุ้นทั้ง 10 บริษัทที่ผ่านเกณฑ์หุ้นเติบโตมีคุณภาพ ที่อยากฝากไว้ให้ทุกคนเอาไปเป็นกรณีศึกษากันดูครับ
และอย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้งครับ
#Jitta #วิตามินหุ้น #หุ้นเติบโตSource: S&P Global Market Intelligence
เรียบเรียงโดย Jitta