มีคนสงสัยเรื่องของ Fiscal Year กับ Calendar Year กันมาพอสมควรนะครับ ส่วนมากเวลาเข้าไปดู FactSheet แล้วจะงงว่า ทำไมบางบริษัทถึงมีตัวเลขรายได้และกำไรรายไตรมาสล่วงหน้าไปมากกว่าบริษัทอื่นๆ เรื่องราวก็มีความเป็นมาดังนี้ครับ
ปีทางปฏิทิน (Calendar Year) ก็คือ ปีที่เราใช้กันอยู่ปรกตินั่นเองครับ คือ มกราคม – ธันวาคม ส่วนปีทางบัญชี (Fiscal Year) นั้นอยู่ที่นโยบายทางบัญชีว่าบริษัทอยากจะปิดงบการเงินในเดือนไหน ก็จะถือว่าเดือนนั้นเป็นเดือนสิ้นปีทางบัญชีครับ จะตรงกับปีปฏิทินหรือไม่ก็ได้ และการนับวันปิดรอบไตรมาสก็จะนับไปทีละ 3 เดือนหลังวันปิดงบการเงินครับ
อย่างเช่น Apple ที่ปิดงบการเงินในสิ้นเดือนกันยายน ก็จะถือว่าวันขึ้นปีใหม่ทางบัญชีคือ 1 ตุลาคม และวันปิดไตรมาส 1, 2, 3 ก็คือ สิ้นเดือน ธันวาคม มีนาคม และ มิถุนายน ตามลำดับ
ในขณะที่ Google ที่มีการปิดงบการเงินในสิ้นเดือนธันวาคม วันปิดไตรมาส 1, 2, 3 ก็จะเป็นสิ้นเดือน มีนาคม มิถุนายน และ กันยายน ตามลำดับ ซึ่งก็จะตรงกับวันสิ้นไตรมาสและสิ้นปีตามปีปฏิทินครับ
หรือในกรณีที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้นอย่าง Walmart นั้น มีการปิดงบการเงินปี 2013 (Fiscal Year 2013) ในสิ้นเดือนมกราคมปี 2014 (Calendar Year) ทำให้ วันสิ้นไตรมาส 1 ของปี 2014 (Q1 Fiscal 2014) นั้นตรงกับสิ้นเดือนเมษายนของปี 2014 (Calendar Year) ครับ
ทั้งนี้สาเหตุหลักๆที่ทำให้บริษัทต้องปิดปีบัญชีไม่ตรงกับปีปฏิทินนั้น ก็เพื่อความสะดวกในการบริหารงานครับ ยกตัวอย่างเช่น Walmart นั้น ช่วงที่ขายดีจะอยู่ที่ประมาณปลายปี ดังนั้น Walmart เลยไม่อยากจะยุ่งยากว่า พอสิ้นเดือนธันวาคมปุ๊บต้องมานั่งปิดงบรายปีทันที ซึ่งจะมีความวุ่นวายสูง ก็เลยรอจนสิ้นเดือนมกราคมค่อยปิดงบรายปีครับ จะได้มีเวลาพักหลังจากช่วงขายดี และจะได้เช็คของใน inventory ได้ง่ายขึ้นครับ ซึ่งหุ้นหลายๆตัวในกลุ่ม Retail ก็จะปิดงบตอนสิ้นเดือนมกราคมเช่นเดียวกันครับ
(ใน Jitta FactSheet จะมีบอกวันปิด Fiscal Year ของแต่ละบริษัทไว้ด้านล่างซ้ายของตาราง Quarterly ครับ เพื่อให้คนที่อ่านงบการเงินได้มาดูแล้วจะได้เข้าใจค่าต่างๆตรงกับความจริงครับ)
ดังนั้นในการคำนวณ Jitta Score และ Jitta Line จะต้องนำเอาผลกระทบทางด้านการเหลื่อมล้ำทางเวลาของ Fiscal Year และ Calendar Year มาคิดและปรับให้ตรงกับความเป็นจริงด้วยครับ เพื่อให้ Jitta Score และ Jitta Line ณ วันไหนก็ตามในปีปฏิทิน ใช้ข้อมูลงบการเงินเท่าที่บริษัทได้ประกาศออกมาแล้วจนถึงวันนั้นครับ จะได้บ่งบอกถึงคุณภาพและราคาของบริษัทตามข้อมูล ณ ปัจจุบันได้ใกล้เคียงที่สุดครับ
อย่างเช่น Walmart นั้น ถ้าหากคิด Jitta Score, Jitta Line ณ วันสิ้นเดือนกันยายนปี 2013 เท่ากับว่า ทาง Jitta จะใช้ข้อมูลงบการเงินย้อนหลังรายปีตั้งแต่ปี Fiscal 2004 จนถึงปี Fiscal 2013 ที่ปิดไป ณ สิ้นเดือนมกราคม 2012 รวมกับ ผลประกอบการรายไตรมาสที่ออกมาแล้วอีก 2 ไตรมาส คือ Q1, Q2 ของปี Fiscal 2013 มาทำการคำนวณครับ
จริงๆเรื่อง Fiscal Year กับ Calendar Year นี้ ถ้าหากว่าเป็นคนที่อ่านงบการเงินมาระดับนึงแล้วก็จะสามารถเข้าใจและคำนวณทุกอย่างทีละหุ้นได้ไม่ยากครับ แต่การทำกับหุ้นทุกตัวในตลาดเป็นเรื่องที่ยากมากระดับนึงครับ เพราะมีหลายกรณีที่ต้องมาหาวิธีคิดเป็นพิเศษ
ช่วงแรกๆที่ฮันท์กับผมทำตัว Jitta Score, Jitta Line ขึ้นมาตอนที่อยู่อเมริกา ก็ต้องใช้เวลานั่งปรับแก้ และ หาทางสร้างมาตรฐานในการปรับค่า Fiscal Year ให้ตรงกับ Calendar Year อยู่นานพอสมควรเลยครับ
ผมว่าก็เป็นโชคดีอย่างนึงของ Jitta นะครับ เพราะว่าเริ่มทำจากหุ้นอเมริกาก่อน ซึ่งมีหุ้นเยอะมาก และ มีการปิดงบ Fiscal แบบแปลกๆเยอะมากครับ เลยทำให้ต้องคิดแก้ปัญหาต่างๆให้ครบทุกกรณีครับ ซึ่งก็เลยทำให้มั่นใจเลยครับว่า ต่อไปไม่ว่าจะมีหุ้นของประเทศไหนเพิ่มเติม ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่อง Fiscal Year นี้เท่าไหร่แล้วครับ
“Eat That Frog” ยังใช้ได้ดีเสมอครับ 🙂