การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่เพิ่งสิ้นสุดไป ซึ่งประเทศเวียดนามครองเหรียญทองเป็นอันดับ 3 รองจากมาเลเซียและประเทศไทย ก็ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความร้อนแรงของประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด การขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามก่อให้เกิดโอกาสทางการลงทุนที่น่าสนใจมากมายสำหรับนักลงทุนระยะยาวอย่างเราค่ะ ส่วนจะเป็นธุรกิจไหน อุตสาหกรรมอะไรบ้างนั้น เราได้ข้อสรุปจากงาน “วันรวมพลคนลงทุนทุ้นหุ้นเวียดนาม” ซึ่งจัดขึ้นโดยเพจ Vietnam Value Investor ไว้ให้คุณอ่านกันเพลินๆ ด้านล่างนี้แล้วค่ะ
ภาพรวมและแนวคิดการลงทุนหุ้นเวียดนาม
ก่อนที่จะมาเจาะลึกธุรกิจกัน เรามาดูตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจของเวียดนามกันดีกว่าค่ะ เริ่มจากอัตราการเติบโตของ GDP นั้นสูงถึง 7% สูงสุดเป็นอันดับ 5 ของเอเชียอาคเนย์ หลักๆ แล้วก็เพราะเวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตสิ่งค้าส่งออกสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น Samsung หรือ LG ง่ายๆ ก็คือเป็นประเทศจีนขนาดย่อมนี่เองค่ะ
ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เวียดนามได้เปรียบ ก็ได้แก่
- ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ มั่นคง
- เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจที่ดี เพราะเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามได้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว และทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับศักยภาพของแรงงาน จึงทำให้แรงงานมีคุณภาพที่ดีขึ้น
- แรงงานจำนวนมากที่พร้อมทำงาน (ปัจจุบันเวียดนามมีประชากรราว 92.7 ล้านคน ในจํานวนนี้เป็นประชากรที่อยู่ในวัยทํางานหรือแรงงาน 55.9 ล้านคน)
- อัตราค่าจ้างต่ำ
- เวียดนามได้เปรียบจากข้อตกลงการค้าเสรีมากมาย โดยเฉพาะกับอาเซียน จีน และเกาหลีใต้
- รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญในการลงทุนด้านโครงสร้างภายในประเทศมาก ทำให้ประเทศพัฒนาอย่างมีศักยภาพ
อุตสาหกรรมเด่นในตลาดหุ้นเวียดนามปี 2017
ถ้าคุณอยากทราบว่าอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในเวียดนามมีอะไรบ้าง อย่างแรกก็ขอให้นึกถึงอุตสาหกรรมที่เคยรุ่งเรืองในเมืองไทยยุคเฟื่องฟูค่ะ ว่าตอนนั้นธุรกิจอะไรที่กำลังโตบ้าง ซึ่งก็เดาได้ไม่ยากค่ะ ว่ากลุ่มไฟแนนซ์ต้องเป็นหนึ่งในนั้นแน่นอน ดูจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่น้อยกว่าไทยหลายเท่า ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แล้วถ้าบริการกู้ยืมทางการเงินเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ก็คาดการณ์ได้เลยว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจะต้องสูงกว่านี้อีกแน่นอน
นอกจากนี้กลุ่มการท่องเที่ยวก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อเวียดนามมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มขึ้น 26% ในปี 2016 และ 28% ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แถมชาวเวียดนามเองก็เที่ยวภายในประเทศมากขึ้นเพราะรายได้ที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามก็ทุ่มลงทุนกับการพัฒนาสนามบินและโครงสร้างภายในมากขึ้น เพื่อช่วยโปรโมทธุรกิจการท่องเที่ยว แม้ตอนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเวียดนามจะยังน้อยกว่าที่เดินทางมาประเทศไทยหรือมาเลเซีย แต่นี่ก็แสดงให้เห็นว่าโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ยังไปได้อีกไกลทีเดียวค่ะ
กลยุทธ์การลงทุนหุ้นเวียดนามปี 2017
คุณเองก็เลือกเก็บเกี่ยวผลตอบแทนดีๆ จากตลาดเวียดนามได้ไม่ยากค่ะ ซึ่งหากคุณเป็นนักลงทุน VI แบบเชิงรุก (active investor) คุณก็อาจจะต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลธุรกิจในประเทศเวียดนามหน่อย ซึ่งคุณ Nguyen Duc Trong นักลงทุน VI ชื่อดังจากเวียดนามที่ได้มาร่วมเสวนาในสัมมนาครั้งนี้ด้วย ก็ได้ให้เคล็ดลับสำคัญๆ ไว้มากมาย เขาเชื่อว่าการค้นหาหุ้นดีๆ ในเวียดนามจะพึ่งการวิเคราะห์แบบภาพกว้าง macro ได้ยากกว่าวิเคราะห์จากจุดเล็กไปหาใหญ่ค่ะ เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามเองก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มหัดเดิน อาจไม่ได้ทำงานตามกลไกทั่วไปสักเท่าใดนัก แถมเขายังให้กฎเหล็กในการเลือกซื้อหุ้นมาด้วยค่ะ มี 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่
- มั่นใจได้หรือไม่ว่า ถ้านำเงินของญาติไปลงทุนในบริษัทนี้แล้ว บริษัทจะบริหารจัดการมันอย่างมีประสิทธิภาพ
- บริษัทแห่งนั้นจะยังแข็งแกร่งอยู่ไปอีก 5-10 ปีข้างหน้าได้หรือไม่
- Competitive advantage ของบริษัทคืออะไร
- ราคาเหมาะสมหรือไม่ แต่ราคาจะไม่สำคัญเลยถ้าคุณไม่สามารถตอบคำถามทั้ง 3 ข้อด้านบนได้
ซึ่งคุณก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ ว่าจะต้องไปแกะงบการเงินภาษาเวียดนามเพื่อตอบคำถามทั้ง 4 ข้อนี้ให้เสียเวลา เพราะ Jitta.com ได้รวบรวมหุ้นเวียดนามใน Ho Chi Minh Stock Exchange กับ Hanoi Stock Exchange มาวิเคราะห์พื้นฐานและมูลค่าที่เหมาะสมให้เรียบร้อย ในรูปแบบ Jitta Score และ Jitta Line มองปราดเดียวก็รู้เลยว่าหุ้นไหนน่าสนใจ น่าลงทุนมากกว่า เสร็จแล้วคุณค่อยไปดูว่าจุดแข็งและจุดอ่อนของบริษัทเป็นอย่างไรจาก Jitta Signs และ Jitta Factors
นอกจากนี้ Jitta.com ยังมีรายชื่อผู้บริหาร งบ income statement งบ balance sheet และงบ cash flow statement ให้ดูด้วย จะช่วยร่นเวลาในการวิเคราะห์หาหุ้นเข้าพอร์ตได้เยอะมากค่ะ ที่สำคัญมีข้อมูล foreign room แสดงจำนวนและมูลค่าหุ้นที่ยังมีให้นักลงทุนต่างชาติอย่างเราเข้าเป็นเจ้าของได้
แต่การลงทุนแบบ active อาจจะไม่ใช่สำหรับทุกคน ซึ่งคุณ Nguyen เองก็ยอมรับค่ะว่า ชาวต่างชาติอย่างเราที่ต้องการไปลงทุนในเวียดนามนั้น ประสบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และวิธีการลงทุนแบบที่ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ใช้ นั่นก็คือการซื้อแบบเหวี่ยงแหตามสูตรกรองหุ้น Magic Formula แล้วปรับพอร์ตทุกปีนั้น ก็เป็นวิธีที่เหมาะสม และให้ผลตอบแทนดีได้
การลงทุนแบบ ดร. นิเวศน์ นั้นเป็นการลงทุนเชิงรับหรือ passive investing ค่ะ อาจจะดูเหมือนง่าย แค่ซื้อหุ้นตามที่กรองมาเป๊ะๆ แต่สำหรับคนที่เคยเลือกหุ้นด้วยตนเองอย่าง ดร. นิเวศน์ บางครั้งก็ยังอดใจไม่ได้ที่จะเลือกซื้อหรือไม่ซื้อหุ้นบางตัวที่กรองออกมา ซึ่งวิธีแบบนี้จะส่งผลเสียต่อการลงทุนของคุณได้ค่ะ หากเลือกที่จะใช้สูตรแล้ว ก็ต้องห้ามให้ความคิดของตนเองเข้ามาอิทธิพล ไม่งั้น “ภาพใหญ่จะเพี้ยน” อย่างที่ ดร. นิเวศน์ได้ประสบมากับตัวเอง
ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่ชื่นชอบวิธีแบบ passive investing คุณก็มีตัวเลือกหลากหลายทางการลงทุนค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการลงกองทุน ETF ที่เน้นสร้างผลตอบแทนเลียนแบบดัชนีของเวียดนามอย่าง VFM VN30 ETF อิงกับดัชนี VN30 ดัชนีนี้จะคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 50 ลำดับแรก และคัดออกให้เหลือเพียง 30 บริษัทเพื่อการลงทุน
หรือคุณจะเลือกให้ Jitta Wealth ดูแลพอร์ตการลงทุนของคุณก็ได้ค่ะ เรากำลังจะเปิดให้บริการประเทศเวียดนามในเร็วๆ นี้ ด้วยเงินเริ่มต้น 3 ล้านบาท คุณก็จะได้ลงทุนในธุรกิจที่ดี ราคาเหมาะสม และมีแนวโน้มการเติบโตสูงของประเทศเวียดนาม คัดเลือกโดย Jitta Ranking อัลกอริธึมจัดอันดับหุ้นของ Jitta ที่ได้รับการพิสูจน์ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ว่าสามารถสร้างผลตอบแทนชนะดัชนีตลาด
ข้อดีของการลงทุนกับ Jitta Wealth หรือ ETF ที่ลงทุนตามดัชนีก็คือ คุณจะได้ลงทุนอย่างเป็นระบบ ซื้อหุ้นตามสูตรเป๊ะๆ โดยไม่มีอารมณ์หรือความต้องการส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้พอร์ตของคุณจะถูกปรับอย่างเหมาะสมโดยที่คุณไม่ต้องวุ่นวายจัดการอะไรเอง และที่สำคัญ…ค่าธรรมเนียมที่ต่ำจะทำให้คุณได้รับผลตอบแทนที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าด้วยค่ะ หากสนใจก็ลงชื่อรอลงทุนกับเราได้ที่ weath.jitta.com นะคะ
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นไอเดียการลงทุนในเวียดนามที่น่าสนใจ สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที ต้องขอขอบคุณ https://www.facebook.com/vvinvestor/ เป็นอย่างสูงสำหรับกิจกรรมดีๆ ในครั้งนี้ หากคุณพลาดไปก็ไม่เป็นไรค่ะ เจอกันใหม่ครั้งหน้า พร้อมสาระดีๆ อัดแน่นเหมือนเคย
ร่วมค้นคว้าข้อมูลโดย ณิชา ทรัพย์พิศาลกุล