by Sirirat Sirithamsakda
วันที่ 1 มิ.ย. 2565 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 12 ม.ค. 2566
10 วิธีฝึกเด็ก ‘ออมเงิน’ เริ่มก่อนสบายกว่า

คุณจำครั้งแรกที่รู้จักคำว่า ‘ออมเงิน’ ได้หรือไม่

มันอาจจะเป็นวันเกิดของคุณในวัยเยาว์ เมื่อเปิดกล่องของขวัญก็เจอกระปุกหมูตัวอ้วน บางคนอาจจะได้เงินขวัญถุงใส่เข้ามาเป็นของแถม บางครอบครัว คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ซื้อของชิ้นใหญ่ๆ บอกให้คุณรู้จักเก็บออมเงินเพื่อซื้อในสิ่งที่คุณอยากได้ด้วยตัวคุณเอง 

การเก็บเงินด้วยตัวเอง เป็นกลยุทธ์เริ่มต้น ‘ออมเงิน’ ของทุกบ้าน ที่สอนให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของการเก็บออมสะสมเงิน 

แล้วเมื่อคุณเติบใหญ่ คุณคิดว่า พื้นฐานการเงินโดยทั่วไปที่คุณถูกสอนมา มันเพียงพอในชีวิตจริงหรือไม่

ชีวิตจริงหลังจากเรียนจบ เริ่มต้นทำงาน ได้รู้จักคำว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เผชิญกับคำว่า เงินเฟ้อ จากข้าวของมากมายที่ขึ้นราคาเมื่อการเวลาผ่านไป การซื้อประกันสะสมทรัพย์ ประกันสุขภาพ เพื่อช่วยในการลดหย่อนภาษี รวมไปถึงการซื้อกองทุน SSF (กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว – Super Savings Fund) RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ – Retirement Mutual Fund) ที่สามารถเอามาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

ยิ่งไปกว่านั้น คุณยังต้องทำความรู้จักการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวม ETF (Exchange Traded Fund) หรือหุ้นบริษัท ที่สร้างรายได้ให้มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ก็มีความเสี่ยงแตกต่างกันไป ยังไม่นับเทรนด์สกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี ที่มาแรงในช่วง 2-3 ปีให้หลังมานี้ 

คุณคงเห็นแล้วว่า ออมเงิน หรือทยอยสะสมเงินเพียงอย่างเดียว เป็นเพียงพื้นฐานส่วนเล็กๆ ของอาวุธการเงินที่ควรรู้ก่อนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะเมื่อโตขึ้น คุณจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากมายที่ต้องรับมือ และภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้เงินออมของคุณจะมีค่าน้อยลงเรื่อยๆ 

เมื่อเวลาผ่านไป ทำให้เรื่องสำคัญกว่านั้น คือ คุณต้องหาวิธีการเพื่อให้เงินที่คุณสะสมงอกเงยมากขึ้น เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ’

ซึ่งก็คือ ‘การลงทุน’ อาวุธการเงินอีกขั้นหนึ่งนั่นเอง 

‘ออมเงิน’ เพื่อลงทุน อาวุธที่ควรรู้แต่เด็ก 

ทุกคนเรียนรู้จากความผิดพลาด สั่งสมประสบการณ์ในชีวิตมาโดยตลอด 

เมื่อคุณกลายมาเป็นพ่อแม่คน ย่อมมีเป้าหมายมุ่งมั่นอยากให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และหยิบยื่นประสบการณ์ทั้งดี รวมไปถึงบทเรียนจากความผิดพลาดของคุณให้กับเขา

เชื่อได้เลยว่า การวางแผนทางการเงิน เป็นอีกเรื่องคุณอาจจะเพิ่งเริ่มศึกษาตอนเข้าสู่วัยทำงาน และเป็นเรื่องที่คุณอยากจะปลูกฝังให้ลูกของคุณเข้าใจมากกว่าคุณ ที่อาจจะยังไม่รู้จักเลย เมื่อตอนเป็นเด็ก

ก่อนอื่น คุณต้องรู้ก่อนว่า ทำไมไม่ควร ‘ออมเงิน’ ทิ้งไว้เพียงอย่างเดียว

เพราะเงินออมและดอกเบี้ยเงินฝากช่างน้อยนิด ไม่สามารถไล่ตามเงินเฟ้อได้ เวลาผ่านไปราคาข้าวของจะแพงขึ้นเหมือนเวลาคุณพ่อคุณแม่เล่าให้คุณฟังว่า เมื่อหลาย 10 ปีก่อน ก๋วยเตี๋ยวชามละ 1 บาท ตอนนี้มากกว่า 40 บาทเข้าไปแล้ว

นั่นหมายความว่า มูลค่าเงินของคุณจะลดลงในอนาคต เพราะโดนเงินเฟ้อกัดกิน ซึ่งเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ราคาข้าวของจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แค่จะช้าหรือเร็ว มากหรือน้อยเท่านั้นเอง 

หากคุณเก็บออมเงินในบัญชีเงินฝากเพื่ออนาคต คุณจะพบว่า เงินที่คุณมี ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพในอนาคต นี่คือความหมายของมูลค่าเงินที่ลดลงนั่นเอง 

เมื่อ ‘ออมเงิน’ อย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป ทางเลือก คือ การเพิ่มมูลค่าเงินออม ซึ่งคุณจะเริ่มต้นได้จากการลงทุนผ่านสินทรัพย์ต่างๆ มีหลากหลายให้เลือกตามความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้

นอกจากนี้การเริ่มต้นลงทุนของแต่ละคน อาจจะสัมพันธ์กับเป้าหมายชีวิต ไลฟ์สไตล์ และความต้องการใช้เงิน ซึ่งเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล คำถามต่อมา คือ ถ้าคุณจะต่อยอดเงินออมไปสู่การลงทุน คุณควรเริ่มต้นจากจุดไหน และสินทรัพย์อะไรที่เหมาะกับคุณ

หากคุณรู้จักเพียงแค่ ‘ออมเงิน’ อย่างเดียว ในวัยผู้ใหญ่ คุณก็ต้องมาศึกษาวิธีการลงทุนและสินทรัพย์การเงินต่างๆ ด้วยตัวเอง หาแนวทางและเป้าหมายที่คุณต้องการ

แต่ถ้าเด็กๆ เยาวชนมีความรู้ทางการเงินการลงทุนมาตั้งแต่แรก พวกเขาคงเริ่มต้นสร้างความมั่งคั่งได้เลยจากพื้นฐานที่มี รู้ความต้องการของตัวเอง โดยไม่ต้องเสียเวลาในวัยผู้ใหญ่ไปกับการค้นหาว่า การลงทุนแบบไหนที่ใช่สำหรับตัวเอง

ทักษะความรอบรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ครอบคลุมไปถึงความรู้ (Knowledge) ทัศนคติ (Attitude) และพฤติกรรม (Behavior) คือ อาวุธชิ้นสำคัญที่เด็กๆ ทุกคนต้องมี

คุณคงเห็นภาพแล้วว่า ที่ผ่านมาคนไทยมี Financial Literacy กันไม่มากพอ แล้วต้องมาเริ่มต้นในวัยผู้ใหญ่ ที่สายไปกว่านั้น คือ หลายๆ คนมารู้ตัวเอาตอนจะใกล้เกษียณว่า เงินสะสมของพวกเขาไม่เพียงพอจะใช้ชีวิตในปั้นปลาย

คุณอาจจะย้อนคิดไปหลายครั้งว่า คุณน่าจะเริ่มต้นให้เร็วกว่านี้  และไม่อยากส่งต่อปัญหาเหล่านี้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานของคุณอีกต่อไป 

10 วิธีต่อยอด ‘ออมเงิน’ สู่การลงทุน 

หากจะเริ่มสอนเด็กๆ เรื่องการลงทุนอาจจะยากเกินไป แต่คุณเริ่มติดอาวุธให้เขาทีละนิดได้ 

เว็บไซต์ Money As You Grow ของสหรัฐอเมริกาให้ความรู้แก่พ่อแม่ เรื่องการส่งต่อ Financial Literacy ให้เด็กๆ ในแต่ละช่วงวัยเอาไว้ดังนี้

  • ช่วงอายุ 3-5 ปี บทเรียนที่สำคัญคือ การรอคอย การสอนให้เด็กรู้จักความอดทน และควบคุมความต้องการของตัวเอง 
  • ช่วงอายุ 6-10 ปี เด็กเริ่มมีโอกาสได้ใช้เงินด้วยตัวเอง ควรเรียนรู้ในการตัดสินใจ ตั้งเป้าหมายในการใช้จ่าย 
  • ช่วงอายุตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไป สามารถทำความเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยเงินฝาก และความรู้เรื่องการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น สินทรัพย์ต่างๆ เพื่อการลงทุนได้ 

คุณจะเห็นว่า การถ่ายทอด Financial Literacy ให้เด็กๆ ไม่มีอะไรเร็วไป เพียงแค่ทยอยให้ความรู้ สร้างทัศนคติ และปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมตามช่วงวัย เป้าหมาย คือ พวกเขาจะได้รับติดอาวุธการเงินพร้อมสรรพ เพื่อเริ่มต้นสร้างความมั่งคั่งได้ทันที เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ 

ทีมงาน Jitta ได้รวบรวม 10 วิธี เพื่อให้เด็กๆ รู้จักการใช้เงิน การออมเงิน และเข้าสู่โลกการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ คุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้วางพื้นฐาน ส่งต่อ Financial Literacy ให้ลูกหลาน เพื่ออนาคตของพวกเขาเอง

  1. ปลูกฝังการออมและการแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่าย การออมเงินที่ถูกต้อง คือ การออมก่อนแล้วค่อยใช้ เมื่อเด็กๆ เริ่มได้รับเงินค่าขนมของตัวเองเป็นครั้งแรก คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็กเริ่มแบ่งสัดส่วนเงินของตัวเอง ง่ายที่สุดคือ ส่วนที่ไว้สำหรับใช้จ่าย และส่วนที่เอาไว้เก็บออม หรือหากเด็กโตขึ้นมาหน่อย อาจแบ่งสัดส่วนให้ละเอียดขึ้นได้ เช่น เงินใช้จ่าย เงินออม และเงินแบ่งปันผู้อื่น เป็นต้น 
  2. เพิ่มเติมความสนุกให้กับการออมเงินของเด็ก สร้างเกมเพื่อชาเลนจ์การสะสมเงิน เช่น การเก็บเงินทุกครั้งเมื่อได้รับเงินทอนเป็นธนบัตรใบละ 50 บาท เก็บเงินเท่าราคาขนมหรือน้ำอัดลมที่ซื้อ รวมไปถึงการปลูกฝังการใช้เงิน หรือแนวคิดการลงทุนในบอร์ดเกมต่างๆ เช่น เกมเศรษฐี (Monopoly) 
  3. สอนให้เด็กรู้จักการรอคอยและอดทน คุณคงเคยเห็นคลิปวิดีโอเด็กต่างชาตินั่งเฝ้าขนมที่ชอบ เพราะพ่อกับแม่บอกว่า ถ้ากลับมาแล้วขนมนี้ยังอยู่ จะได้เงินเพิ่ม หรือภารกิจ Rainnie Can Do จาก Little Monster อดทนต่อความอยากกินทุเรียนที่พ่อกับแม่บอกว่าเป็นของคุณยาย เรื่องราวเหล่านี้ คือบทเรียนแห่งการรอคอยและอดทน เหมือนสุภาษิตที่ว่า อดเปรี้ยวไว้กินหวาน การรอคอยและอดทน เพื่อเป้าหมายที่หวังไว้ หรือรางวัลที่ต้องการ เช่นเดียวกับการฝากเงินเพื่อดอกเบี้ยที่สูง หรือผลตอบแทนทบต้นจากการลงทุนระยะยาว 
  4. เปิดโอกาสให้เด็กได้ตัดสินใจจัดสรรรายจ่ายด้วยตัวเอง เรื่องเงินทองเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ควรทำให้พวกเขามีทัศนคติที่ว่า เรื่องเงินทองเป็นเรื่องไกลตัว คุณอาจจะเริ่มจากโจทย์ง่ายๆ กำหนดงบประมาณการซื้อขนมเมื่อไปร้านสะดวกซื้อ หรือให้เขาได้ตัดสินใจว่าจะใช้เงินก้อนนี้อย่างไร นอกจากนี้ยังเป็นการสอดแทรกให้เด็กเข้าใจเรื่องคุณค่าของเงินอีกด้วย 
  5. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อตรวจสอบเงินคงเหลือ เมื่อลูกของคุณโตขึ้นจนสามารถให้เขาบริหารเงินก้อนได้ คุณสามารถปรับการให้ค่าขนมเขาจากรายวัน เป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนได้ พร้อมๆ กับสนับสนุนให้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เขาเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า แต่ละเดือนเขาใช้จ่ายอย่างไร มีเงินคงเหลือแค่ไหน
  6. อยากได้อะไร ให้เก็บเงินซื้อเอง ฟังดูอาจจะใจร้ายกับเด็กๆ แต่จริงๆ แล้ว เป็นการปลูกฝังการตั้งเป้าหมายในการเก็บออมให้กับพวกเขา ให้เข้าใจถึงความลำบากและเห็นคุณค่าของสิ่งของที่ซื้อมาด้วยเงินที่เก็บออมเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลมาก
  7. เงินออมกับเงินลงทุนต่างกัน เมื่อคุณสอนพื้นฐานการออมเงินให้กับเด็กๆ แล้ว สิ่งต่อมาก็คือ ให้เขาเห็นความสำคัญเรื่องการลงทุนด้วย สอนให้เขาเข้าใจว่า ทำไมออมเงินอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ การลงทุนดีอย่างไร และสินทรัพย์แบบไหนที่ควรลงทุน เน้นย้ำเรื่องความแตกต่างของผลตอบแทนและเงินที่งอกเงยขึ้นมา แต่ก็อย่าลืมพูดถึงความเสี่ยงที่พวกเขาอาจจะเจอ เมื่อเริ่มลงทุนแล้วด้วย 
  8. เริ่มให้ลูกเข้ามาในวงสนทนาเรื่องการเงิน รู้จักค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เด็กๆ มักชอบฟังเรื่องราว เรื่องเล่าของผู้ใหญ่ เรื่องเงินไม่จำเป็นต้องเป็นบทสนทนาที่เคร่งเครียด แต่เป็นการบอกเล่าประสบการณ์ หรือถ่ายทอดบทเรียนจากเรื่องจริงให้พวกเขาได้ เปิดโอกาสให้เขาตั้งคำถาม ให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้าน หรือค่าใช้จ่ายในอนาคตที่เขาอาจจะต้องเจอเมื่อเติบโตขึ้น ให้เขาเห็นว่า การวางแผนทางการเงินที่ดีควรเป็นอย่างไร 
  9. สร้างพอร์ตลงทุนให้กับลูก หรือลงทุนร่วมกับลูก คุณอาจเปิดพอร์ตลงทุนให้กับลูกของคุณอยู่แล้ว ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เขาจะได้เห็นหรือเรียนรู้จากบทเรียนจริง เป็นภาคปฎิบัติ คุณอาจจะคอยบอก หรืออัปเดตมูลค่าพอร์ตให้เขาเข้าใจไปพร้อมๆ กัน หรือหากเด็กอยากมีส่วนร่วมในการลงทุน แม้เป็นเงินเพียงเล็กน้อย ก็ให้เขามีส่วนร่วมได้ 
  10. ลงทุนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก อย่าลืมว่า เด็กๆ เฝ้ามองคุณเพื่อที่จะเรียนรู้บางอย่างจากคุณอยู่เสมอ การปฎิบัติตัวให้เห็นสำคัญยิ่งกว่าคำบอกเล่าหรือคำสอนต่างๆ การติดอาวุธทางการเงินที่ดีให้กับเด็ก เริ่มต้นจากคุณติดอาวุธการเงินที่ดีให้กับตัวคุณเอง บอกให้เขาสะสมเงินลงทุน คุณเองก็ควรทำอย่างเดียวกัน

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณจะเห็นความสำคัญของ Financial Literacy ที่สามารถปลูกฝังให้กับเยาวชน ติดอาวุธการเงินให้พวกเขาไม่ใช่เรื่องยากหรือเรื่องไกลตัวเลย แทนที่เขาอาจจะเริ่มลงทุนตอนอายุ 25 ปีหรือ 30 ปี เขาอาจจะเริ่มต้นเร็วขึ้น เมื่อถึงวัยที่สามารถเปิดบัญชีลงทุนได้ด้วยตัวเอง

นี่เป็นสิ่งที่ Jitta ตระหนักมาตลอด นอกจากพัฒนาเทคโนโลยีการลงทุนที่ทำให้ชีวิตของคนทั่วโลกง่ายขึ้น Financial Literacy ที่เริ่มต้นได้ตั้งแต่เด็ก คือ ภารกิจชิ้นสำคัญของ Jitta สตาร์ตอัป WealthTech สัญชาติไทยเช่นเดียวกัน

เราเดินทางมาครบ 1 ทศวรรษ จากแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta พัฒนา AI (Artificial Intelligence) และออกแบบอัลกอริทึมต่างๆ เพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถกรองหุ้นพื้นฐานดี ตามหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI – Value Investing) ของ Warren Buffett 

Jitta ขอบคุณนักลงทุนทั่วโลกที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ยอดการเข้าใช้งานเกือบ 32 ล้านครั้ง เป็นบทพิสูจน์พันธกิจที่เราเชื่อมั่นมาโดยตลอด คือ Help investors create better returns through simple investment methods (ช่วยให้นักลงทุนสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น ด้วยวิธีการที่ง่ายกว่าเดิม) ตอนนี้ Jitta ทำสำเร็จแล้ว และเราจะไม่หยุดเพียงเท่านี้

เพราะเส้นทางในโลกการลงทุนยังอีกยาวไกลและเผชิญพลวัตการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา Jitta ยังมุ่งมั่นในพันธกิจเดิม แต่การสร้าง Financial Literacy ไม่ใช่แค่ความรอบรู้เฉพาะคนที่สนใจการเงินการลงทุน หรือต้องการวางแผนการเงินอีกต่อไป ควรจะต้องเป็นของคนไทยทุกคน…และทุกวัย

Jitta และ Artstory จึงจับมือกัน เพื่อส่งต่อหลักการลงทุนระยะยาวด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ พร้อมติดอาวุธความรู้การเงินให้กับเยาวชนไทย ในทศวรรษที่ 2 ของ Jitta เพราะการได้เห็นคนจำนวนมากมีพื้นฐานทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น ด้วยการลงทุนอย่างมีหลักการ มีวินัย เป็นระบบอย่างชัดเจน และที่สำคัญคือ ลงทุนอย่างสบายใจ 

การร่วมมือกันระหว่าง Jitta และ Artstory ในครั้งนี้ เป็นการรังสรรค์ของที่ระลึกคอลเล็กชันพิเศษ ฝีมือการวาดของยุวจิตรกรจากมูลนิธิออทิสติกไทย เป็นลายเส้น Doodle Art ตัวแทนความสุขที่นักลงทุนได้รับตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และความสบายใจในทศวรรษต่อๆ ไป

จุดเริ่มต้นของภารกิจครั้งใหม่ของ Jitta คือ การเดินหน้าเสริมสร้างทักษะความรู้การเงินการลงทุนแก่เยาวชนไทย ให้พวกเขาเติบโตสร้างชีวิตที่มั่นคง และส่งมอบความรู้เหล่านี้ให้คนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต

หากคุณอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปณิธานในทศวรรษที่ 2 ของ Jitta เพื่อสร้างรากฐานการเงินที่มั่นคงของคนไทยรุ่นต่อๆ ปี เริ่มต้นได้จากคุณ ด้วยการเปิดพอร์ตลงทุนและสะสมเงินลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคั่งระยะยาวกับ Jitta Wealth ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Jitta

เริ่มต้นลงทุนและสะสมเงินลงทุน จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 รับของที่ระลึกพิเศษ Jitta x Artstory แทนคำขอบคุณทุกแรงสนับสนุนให้คนไทยมีรากฐานการเงินที่มั่นคง รายละเอียดเพิ่มเติม 


อ้างอิง 

  1. มาสอนลูกหลานให้มีความรู้การเงินกันเถอะ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/teach-children-to-have-financial-knowledge.html
  2. เผยเคล็ดลับการออมเงินให้กลายเป็นความสนุก https://www.lumpsum.in.th/knowledge/read/money-saving-tips
  3. 7 วิธี สอนลูกลงทุน ก่อนอายุ 20 โดย Tanhnanchya https://www.finspace.co/7วิธีสอนลูกลงทุน/
  4. 5 ไอเดียสอน ‘เด็ก’ ให้ใช้เงินเป็น https://www.bangkokbiznews.com/business/861580
  5. เคล็ดลับสอนลูกให้เป็นเศรษฐี  https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/make-kid-millionaire.html
  6. สอนลูกอย่างไรเรื่องลงทุน https://www.morningstarthailand.com/th/news/214466/สอนลูกอย่างไรเรื่องการลงทุน.aspx
  7. สอนลูกอย่างไรให้ลงทุนเป็น https://www.finnomena.com/mr-messenger/teach-kids-investment/
  8. ข้อดี-ข้อเสียของการลงทุนระยะสั้น vs ระยะยาว นักลงทุนมือใหม่ https://www.cigna.co.th/health-wellness/tip/longterm-vs-shortterm-investment
  9. ทริคสอนการเงินลูก ‘ลงทุนหุ้นได้ ใช้เงินเป็น’ สไตล์ ‘เดอะ มันนี่โค้ช’ https://www.bangkokbiznews.com/business/969491

อ่านบทความ 1 ทศวรรษ Jitta และ Jitta Wealth

1 ทศวรรษ กว่าจะเป็นฟินเทคไทย Jitta และ Jitta Wealth

Jitta x Artstory จับมือติดอาวุธการลงทุนให้เยาวชน

ที่มาของลายเส้น Doodle Art จาก Jitta x Artstory