ในเรื่องของการลงทุน นอกจากคำถามที่ว่า เราควรจะลงทุนในอะไร? ก็มีอีกคำถามนึงที่คนมักจะถามกันบ่อยๆ ก็คือ เราควรจะลงทุนเมื่อไหร่? สำหรับคำตอบว่า เราควรจะลงทุนในอะไรนั้น ค่อนข้างตอบได้อย่างชัดเจนว่า
ในระยะยาวแล้ว หุ้น เป็นทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ถ้าเรามีเวลาลงทุนนานๆ เกิน 10 ปีขึ้นไป เราควรจะนำเงินไปลงทุนในหุ้นเยอะๆ เพื่อให้เงินเติบโตทบต้น สร้างความมั่งคั่งให้กับเราในอนาคต
ซึ่งเรื่องนี้เมื่อดูข้อมูลแล้วค่อนข้างเข้าใจได้ง่าย ตามที่ผมเขียนไว้ในบทความ “ลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน” ครับ ซึ่งแน่นอนว่าเพียงอ่านแค่ครั้งเดียว ทุกคนก็จะได้รับคำตอบเดียวกันและไม่ต้องมานั่งตอบคำถามนี้ซ้ำๆ ครับ
เราควรจะลงทุนเมื่อไหร่?
คำถามจะเวียนวนกลับมาถามเราซ้ำๆ อยู่ตลอดเวลาครับ ตั้งแต่ตอนที่เรากำลังจะเริ่มลงทุน หรือ แม้ว่าเราลงทุนไปแล้วก็ตาม เราก็มักจะต้องมาคิดเสมอว่า จะลงทุนเพิ่มตอนไหนดี? ตอนนี้ตลาดตกลงมามากพอหรือยัง? ปีหน้าจะเกิดวิกฤตไหม รอไปลงทุนปีหน้าดีกว่าหรือเปล่า? ใช่ไหมครับ
สิ่งที่ทำให้ทุกคนต้องมานั่งคิดอะไรวนเวียนแบบนี้ ก็เพราะว่า การลงทุนในหุ้นนั้น แม้ในระยะยาวจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าทรัพย์สินอื่นๆ ทั้งหมด (8% – 10% ต่อปี) แต่ในระยะสั้นจะมีความผันผวนมาก บางปีตลาดหุ้นอาจจะให้ผลตอบแทนสูงๆ +50% ในขณะที่บางปีตลาดก็อาจจะย่ำแย่เกิดวิกฤต ผลตอบแทนติดลบ -50% ได้เช่นเดียวกัน
ทำให้เวลาเราไปลงทุนจริงๆ เรามักจะกลัวว่า ถ้าเราลงทุนไปแล้วเกิดวิกฤตจะทำยังไง หรือ บางคนก็คิดว่าถ้าแบบนั้น ไปรอลงทุนหลังเกิดวิกฤต ให้ตลาดหุ้นตกลงมาเยอะๆ ก่อนดีกว่ามั๊ย จะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าปรกติ ซึ่งถ้าเราเป้าหมายของเราคือ การลงทุนแบบ สบายใจ แล้วล่ะก็ เราไม่ควรจะต้องมานั่งวุ่นวายคิดอะไรแบบนี้บ่อยๆ จริงไหมครับ
วันนี้ผมก็ขอมาตอบปัญหาเหล่านี้ให้จบในทีเดียวเช่นกัน เพื่อทุกคนจะได้ไม่ต้องคิดมากเรื่องนี้ พอเรารู้ว่าควรจะลงทุนในหุ้นเวลาไหนที่ดีที่สุด จะได้เอาสมองไปคิดเรื่องอื่น เอาเวลาไปทำงาน ดูแลครอบครัวแทนครับ
เราาเริ่มต้นด้วยการดูผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นไทยกันอีกครั้งนะครับ
จะเห็นได้ว่า ถ้าหากเราลงทุนในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปี 2560 เป็นเวลาทั้งหมด 43 ปี เราจะได้รับผลตอบแทนทบต้นอยู่ที่ราวๆ 11.87% เงิน 10,000 บาท ที่ลงทุนเริ่มแรก จะเติบโตขึ้นมา 124 เท่า กลายเป็นเงินทั้งหมด 1,243,314 บาท เป็นผลตอบแทนที่ไม่ธรรมดาเลยใช่ไหมครับ
แม้ผลตอบแทนในระยะยาวจะโตขึ้น 124 เท่า แต่ถ้าเราดูจากกราฟ เราก็จะเห็นได้ว่ามูลค่าการลงทุนของเรานั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี มีการขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลาตามผลตอบแทนของตลาดหุ้นในแต่ละปี
ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะนำมาวิเคราะห์ต่อไปก็คือ ความผันผวนในแต่ละปีของตลาดหุ้นเป็นยังไงบ้าง ตลอดระยะเวลา 43 ปี ที่ผ่านมา มีปีที่ตลาดให้ผลตอบแทนเป็นบวก และ ปีที่ตลาดให้ผลตอบแทนติดลบ มากน้อยแค่ไหน
จากกราฟผลตอบแทนรายปีของตลาดหุ้นไทยด้านบน เราจะเห็นได้ว่า ในระยะเวลาทั้งหมด 43 ปีนั้น
- ปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวก มีทั้งหมด 27 ปี (62.8%)
- ปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากกว่า 20% มีทั้งหมด 18 ปี (41.86%)
- ปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากกว่า 50% มีทั้งหมด 6 ปี (13.95%)
และ
- ปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบ มีทั้งหมด 16 ปี (37.2%)
- ปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบมากกว่า 20% มีทั้งหมด 6 ปี (13.95%)
- ปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบมากกว่า 50% มีทั้งหมด 1 ปี (2.32%)
ตัวเลข % ในวงเล็บข้างหลังจำนวนปี คือ โอกาสที่สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเทียบเป็น % เพื่อให้เปรียบเทียบกันได้ง่ายๆ ครับ เช่น โอกาสที่เราจะเจอปีที่ตลาดหุ้นบวกนั้นใน 10 ปี จะมีราวๆ 6 ปี (62.8%) และปีที่ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนติดลบเกิน 50% นั้น ใน 50 ปี จะมีเพียงแค่ปีเดียวครับ (2.32%)
จากตัวเลขสถิติตรงนี้ เรามาลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเราลงทุนในตลาดหุ้น 20 ปี ความผันผวนของตลาดที่เราจะได้พบเจอตลอด 20 ปีแห่งการลงทุนของเราก็คือ
- เจอตลาดหุ้นบวก : 13 ปี
- เจอตลาดหุ้นลบ : 7 ปี
- เจอตลาดหุ้นบวกมากกว่า : 20% 8 ปี
- เจอตลาดหุ้นบวกมากกว่า 50% : 3 ปี
- เจอตลาดหุ้นลบมากกว่า 20% : 3 ปี
- เจอตลาดหุ้นลบมากกว่า 50% : 0-1 ปี (อาจจะไม่มีเลยก็ได้)
ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าดูตามตัวเลขแล้ว สำหรับนักลงทุนระยะยาว เราควรจะลงทุนในหุ้นตลอดเวลา เพราะเราจะเจอปีตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดี มากกว่า ปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่แย่ เกือบเท่าตัว
และเราก็น่าจะมีความสุขมากๆ เพราะปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนมากกว่า 20% นั้น มีเกือบๆจะครึ่งนึงของระยะเวลาที่เราลงทุนเลยครับ (8 ปี จาก 20 ปี) เรียกว่าเราแทบจะยิ้มได้ปีเว้นปีเลยนะครับ
และเราน่าจะมีความสุขมากขึ้นไปอีกที่พบว่า ปีที่เราจะได้กำไรมากกว่า 50% นั้น มีจำนวนเท่ากับ ปีที่เราจะติดลบ 20% เลย เราก็แค่ต้องทนอึดอัดแค่ 3 ปี จาก 20 ปี ที่ผลตอบแทนอาจจะลบเกิน 20% ที่จะทำให้เรารู้สึกหวิวๆ ได้ ในขณะที่เราสามารถยิ้มหน้าบานได้ 3 ปี จาก 20 ปีเหมือนกัน ที่ผลตอบแทนของเราจะสูงมากๆ มากกว่า 50%
และสุดท้ายเราก็คงจะรู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะได้รู้ว่า โอกาสที่เราจะเจอผลตอบแทนตลาดติดลบมากๆ ในระดับเกิน 50% นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกันบ่อยๆ ถ้าเราลงทุนแค่ 20 ปี เราอาจจะไม่เจอเลยก็ได้ เพราะ 50 ปีจะเกิดขึ้นครั้งนึง (แต่ถ้าเราเจอก็ต้องทำใจยอมรับได้นะครับ และเราก็แค่ลงทุนให้นานขึ้นอีก เพราะเราน่าจะไม่เจอวิกฤตขนาดนี้ไปอีกนาน)
โดยสรุปแล้ว ถ้าเราดูตัวเลขความผันผวนของผลตอบแทนรายปีของตลาดหุ้นไทยตลอด 43 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่า ทุกอย่างไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลยใช่ไหมครับ ขอเพียงเราลงทุนระยะยาวเป็น 10 ปีขึ้นไป เราก็จะมีปีที่ได้รับผลตอบแทนดีๆ มากมาย ปีที่ผลตอบแทนแย่ๆ นั้นไม่ได้มีเยอะมากอย่างที่คิดครับ
ดังนั้น ในส่วนของคำถามแนวที่ว่า “เราควรจะเริ่มลงทุนเมื่อไหร่ดี?” หรือ “ตอนนี้เริ่มลงทุนได้หรือยัง?” นั้น คำตอบก็คือ “เวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มลงทุนก็คือ วันนี้” เพราะถ้าหากเราลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว ยังไงเดี๋ยวเราก็จะเจอปีที่ผลตอบแทนดีมากๆ และปีที่ผลตอบแทนติดลบแน่นอนครับ เราแค่ไม่รู้ว่าปีไหนจะเกิดอะไรขึ้น (และก็ไม่มีใครบนโลกนี้รู้ด้วย) แต่สิ่งที่เรารู้ก็คือ ในทุกๆ 10 ปี เราจะมีปีที่ผลตอบแทนเป็นบวก มากกว่า ปีที่ผลตอบแทนติดลบแน่นอนครับ
และการพยายามจับจังหวะลงทุนในระยะสั้นๆ ไม่ได้ส่งผลอะไรกับผลตอบแทนระยะยาวใน 10 ปีข้างหน้าของเราเท่าไหร่เลยครับ มีแต่จะยิ่งทำให้เราตัดสินใจลงทุนช้าลง จนพลาดปีดีๆ ที่จะทำกำไรเยอะๆ ให้เราได้ครับ
รอลงทุนเพิ่ม หลังตลาดหุ้นตกจะดีกว่าไหม?
เรามาดูข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ตอบคำถามเหล่านี้กันได้ง่ายขึ้นดีกว่านะครับ
จากที่เราทราบกันแล้วว่า ถ้าหากเราลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นเวลา 43 ปี ตั้งแต่ปี 2518 – 2560 นั้น เงิน 10,000 บาท จะเติบโตขึ้นเป็น 1,243,314 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 11.87% ต่อปี
ถ้าเราจำลองสถานการณ์เพิ่มเติมว่า เรามีเงินลงทุนเพิ่มอีกปีละ 10,000 บาท และให้เราเลือกลงทุนเพิ่มได้ 4 แบบด้วยกัน
- แบบที่ 1 : ลงทุนเพิ่มเรื่อยๆ ทุกปี ปีละ 10,000 บาท
- แบบที่ 2 : เก็บเงินปีละ 10,000 บาทไปเรื่อยๆ และจะลงทุนเพิ่มหลังจากปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบเท่านั้น
- แบบที่ 3 : เก็บเงินปีละ 10,000 บาทไปเรื่อยๆ และจะลงทุนเพิ่มหลังจากปีที่ตลาดหุ้นตกลงมามากกว่า 20% เท่านั้น (ลงทุนหลังผ่านตลาดขาลง)
- แบบที่ 4 : เก็บเงินปีละ 10,000 บาทไปเรื่อยๆ และจะลงทุนเพิ่มหลังจากปีที่ตลาดหุ้นตกลงมามากกว่า 50% เท่านั้น (ลงทุนหลังผ่านวิกฤต)
การลงทุนทั้ง 4 แบบ ใช้เงินลงทุนเท่ากันที่ 440,000 บาท ต่างกันเพียงแค่ช่วงเวลาที่ใส่เงินลงทุนเข้าไป เราคิดว่าแบบไหนจะได้ผลตอบแทนมากกว่ากันครับ
ถ้าดูแค่เผินๆ แนวคิดที่ว่า เราจะเก็บเงินไปเรื่อยๆ แล้วรอลงทุนหลังตลาดหุ้นตกเยอะๆ น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปรกติ ยิ่งรอไปลงทุนหลังวิกฤตได้ น่าจะทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดใช่ไหมครับ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น กลับกลายเป็นตรงข้ามเลยครับ เพราะ ยิ่งเรารอตลาดหุ้นตกแล้วค่อยลงทุน เรายิ่งจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าลงกว่าปรกติครับ
เมื่อเราลงทุนตามรูปแบบทั้ง 4 ไปจนครบ 43 ปี เราจะพบว่า
- แบบที่ 1 : มูลค่าเงินลงทุนของเราจะกลายเป็น 10,456,993 บาท
- แบบที่ 2 : มูลค่าเงินลงทุนของเราจะกลายเป็น 8,098,771 บาท
- แบบที่ 3 : มูลค่าเงินลงทุนของเราจะกลายเป็น 6,177,539 บาท
- แบบที่ 4 : มูลค่าเงินลงทุนของเราจะกลายเป็น 3,394,683 บาท
แนวคิดของการลงทุนเพิ่ม
- ยิ่งเก็บเงินลงทุนรอนานเท่าไหร่ ผลตอบแทนก็จะยิ่งน้อยลง
- การเพิ่มเงินลงทุนเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปี เป็นวิธีสร้างผลตอบแทนที่สูงที่สุด
- ยิ่งพยายามจับจังหวะตลาดมากเท่าไหร่ ต่อให้เราลงทุนได้หลังวิกฤตใหญ่จริงๆ ผลตอบแทนก็น้อยลง
- การออมเงินมาลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าวิธีไหน จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าลงทุนครั้งเดียวหลายเท่าตัว
- แม้ว่าเราจะเริ่มลงทุนได้ในปีที่ดีที่สุด แต่ผลตอบแทนระยะยาว เราก็จะยังแพ้คนที่ลงทุนนานๆ ด้วยความสม่ำเสมออยู่ดี
ซึ่งไม่ว่าเราจะนำผลตอบแทนทั้ง 43 ปีมาเรียงลำดับยังไง เราจะเริ่มต้นลงทุนในปีที่ดีหรือปีที่แย่ยังไง ผลลัพธ์ก็จะยังคงเหมือนเดิมแบบนี้ครับ เหตุผลก็เพราะว่าในระยะยาวแล้ว ตลาดหุ้นจะมีปีที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากกว่าติดลบ และมีปีที่บวกเยอะๆ มากกว่าปีที่ติดลบเยอะๆ ดังข้อมูลที่ได้แสดงไปแล้ว
ดังนั้นยิ่งเราเก็บเงินรอลงทุนมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเสียโอกาสที่จะให้เงินได้เติบโตทบต้นไปมากเท่านั้นครับ และในระยะยาว ความแตกต่างตรงนี้จะทำให้ผลตอบแทนที่เราได้รับแตกต่างกันอย่างมหาศาลครับ อย่างในในช่วงเวลา 43 ปีที่ผ่านมา
- ถ้าเราลงทุนปีละ 10,000 บาททุกปี ผ่านไป 43 ปี เราจะมีเงินประมาณ 10 ล้านบาท
- ถ้าเรารอลงทุนหลังตลาดหุ้นตก 20% เราจะมีเงินประมาณ 6 ล้านบาท คิดเป็นเงินที่หายไปถึง 40%
- ถ้าเรารอลงทุนหลังตลาดหุ้นเกิดวิกฤตหนักๆ ตลาดตกลง 50% เราจะมีเงินประมาณ 3 ล้านบาท คิดเป็นเงินที่หายไปถึง 70%
หมายความว่า ต้นทุนของความสบายใจหรือความรู้สึกดีที่เราได้มาจากการพยายามจับจังหวะการลงทุนนั้น คือ ความมั่งคั่งของเราที่จะหายไป 40% – 70% หรือ คิดเป็นเงินที่ 4 – 7 ล้านบาท เลยทีเดียว
และนั่นยังน้อยนะครับ เพราะเราลงทุนเพียงแค่ปีละ 10,000 บาทเท่านั้น ถ้าเราเปลี่ยนเป็นว่าเรามีเงินลงทุนได้ปีละ 100,000 บาท ความมั่งคั่งที่หายไปของเราจะมีมูลค่าถึง 40 – 70 ล้านบาท เลยทีเดียวครับ และนั่นน่าจะเป็นจำนวนเงินที่มากเกินกว่าที่เราควรจะยอมสูญเสียไป เพื่อที่จะแลกกับความสุขความสบายใจในการได้จับจังหวะตลาดของเราครับ
สิ่งที่แย่ไปกว่านั้นอีก ก็คือ ความจริงที่ว่า…
เราไม่สามารถจับจังหวะลงทุนหลังตลาดหุ้นตกหนักๆ ได้ทุกครั้ง เรามักจะรอจนตลาดตกแล้วเริ่มขึ้นมาสักพักแล้วถึงจะเริ่มลงทุน และนั่นยิ่งจะทำให้ผลตอบแทนที่เราได้รับน้อยลงไปกว่าเดิม
สรุป
ในโลกของการลงทุน “ยิ่งเราพยายามเก็บเงิน รอจังหวะลงทุนมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งได้รับผลตอบแทนน้อยลงเท่านั้น” วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างผลตอบแทนจากหุ้นระยะยาวคือ “การลงทุนในหุ้นอย่างสม่ำเสมอ” ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะทำให้เราได้รับผลตอบแทนสูงที่สุดแล้ว ยังทำให้เรา สบายใจ ที่สุดอีกด้วย เพราะเราไม่ต้องมานั่งคิด นั่งกังวล นั่งดูดัชนีตลาดหุ้นเลยสักวันเดียว เราก็สามารถสร้างความมั่งคั่งได้มากกว่าคนที่ทำแบบนั้นทุกวัน ทุกเดือน ทุกปีที่ผ่านไปครับ
ไม่ว่าเราจะลงทุนในกองทุนดัชนี SET 50 หรือ ลงทุนแบบ QVI ผ่าน Jitta Wealth ตราบใดที่เราลงทุนในหุ้น วิธีการที่ดีที่สุดคือ “การลงทุนตลอดเวลา เพิ่มเงินลงทุนเข้ามาเรื่อยๆ โดยไม่ต้องจับจังหวะตลาด และ ถือครองการลงทุนไปให้นานที่สุด” และนั่นก็จะทำให้เราได้รับผลตอบแทนมากกว่านักลงทุนโดยเฉลี่ยทั่วไปอย่างมากแล้วครับ