โดยปรกติแล้ว สิ่งหนึ่งที่มักจะทำให้เรามีความสุขเสมอมาตั้งแต่เด็กก็คือ การได้มองเห็นตัวเลขในบัญชีเงินฝากธนาคารของเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อวันนึงที่เรามีเงินฝากในธนาคารมากขึ้นจนถึงจุดๆนึง เราทุกคนก็มักจะมีคำถามผุดขึ้นมาในหัวตัวเองเสมอว่า “เราควรจะนำเงินไปลงทุนอะไรดี”
คนส่วนมากเลือกที่จะจัดการคำถามนี้ด้วย “การไม่ทำอะไรเลย” เพราะรู้สึกว่า การลงทุนเป็นเรื่องที่ไกลตัว ไม่รู้ว่าจะเริ่มลงทุนยังไง รู้สึกกลัวว่าการลงทุนจะมีความเสี่ยง ทำให้สุดท้ายก็เลยไม่ได้ทำอะไร ปล่อยให้เงินฝากอยู่ในธนาคารไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่า ในเรื่องของการเงินแล้ว “การไม่ลงทุนอะไรเลย นั่นแหละคือ สิ่งที่เสี่ยงที่สุดแล้ว”
เพราะในโลกแห่งความจริงที่มีเงินเฟ้อนั้น สิ่งที่เราจำเป็นต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวันนั้น ล้วนมีราคาเพิ่มขึ้นทุกๆปี ถ้าเราเก็บเงินไว้เฉยๆโดยไม่ทำอะไร มูลค่าของเงินนั้นก็จะลดลงไปเรื่อยๆ จนเราไม่สามารถซื้อของที่เราจำเป็นต้องซื้อได้อีกต่อไป เช่น สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ข้าวผัดกระเพราไข่ดาวจานละ 15 บาท ถ้าเราอดใจไม่กินแล้วเก็บเงินไว้ 15 บาท มาถึงตอนนี้ เงิน 15 บาทนั้น ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เราอิ่มท้องได้เท่าเดิมอีกแล้ว เพราะตอนนี้เราต้องจ่ายเงินอย่างน้อย 35 บาท เพื่อซื้อข้าวผัดกระเพราะไข่ดาวในปริมาณที่เท่ากัน สรุปได้ว่า ในโลกที่มีเงินเฟ้อนั้น “ผู้ที่เก็บเงินไว้เฉยๆ และจะกลายเป็นผู้แพ้อย่างแน่นอน”
ดังนั้นถ้าหากว่า เราไม่ต้องการเป็น “ผู้แพ้อย่างแน่นอน” เราก็ควรเลือกจัดการกับคำถามในหัวของเราด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น การพยายามค้นคว้าหาวิธีที่จะทำให้เรากลายเป็น “ผู้ชนะ” ด้วยการทำให้เงินของเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในระยะยาว โดยมีความเสี่ยงให้น้อยที่สุด (ที่เราจะรับได้) หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ “การลงทุน (ในทรัพย์สิน) อย่างสบายใจ (ที่จะทำให้เราได้) กำไรอย่างยั่งยืน” นั่นเองครับ
ทรัพย์สินแบบไหนน่าลงทุนที่สุด?
ในโลกของการเงินมีทรัพย์สิน 4 อย่างที่คนนิยมลงทุนกันมากที่สุด ก็คือ หุ้น พันธบัตร เงินฝาก และ ทองคำ ซึ่งถ้าหากเราลองลงทุนในทรัพย์สินทั้ง 4 อย่างนี้ (ในประเทศไทย) ด้วยเงิน 1,000 บาทเท่าๆกัน เมื่อผ่านไป 36 ปี (2518-2554) เราจะพบว่า
- หุ้นให้ผลตอบแทนสูงสุด เงินลงทุน 1,000 บาท ที่ลงทุนในตลาดหุ้นเมื่อปี 2518 จะเติบโตขึ้นประมาณ 59 เท่า เป็น 59,674 บาท ในปี 2554
- พันธบัตรให้ผลตอบแทนเป็นอันดับสอง เงินลงทุน 1,000 บาท จะโตขึ้นประมาณ 24 เท่า เป็นเงิน 24,367 บาท
- ทองคำให้ผลตอบแทนระยะยาวต่ำที่สุด ต่ำกว่าเงินฝากเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าหากเราต้องการให้เงินของเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินฝากในระยะยาวแล้ว ทรัพย์สินที่เป็นทางเลือกของเรามีอยู่เพียงแค่ 2 อย่าง ก็คือ หุ้น หรือ พันธบัตร แค่นั้นเองครับ ซึ่ง
- การลงทุนในหุ้น แม้จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่ก็มีความผันผวนมากกว่าด้วย บางปีอาจจะได้กำไรสูงมาก ในขณะที่บางปีก็อาจจะขาดทุนได้มากเช่นเดียวกัน
- การลงทุนในพันธบัตรผลตอบแทนจะค่อนข้างสม่ำเสมอ จากดอกเบี้ยที่พันธบัตรจ่ายมาให้ทุกๆปี แต่ในระยะยาวแล้ว ความมั่นคงนี้ก็แลกมาด้วย ความมั่งคั่งที่น้อยกว่าการลงทุนในหุ้นอย่างมาก (จาก 59,674 บาท ลดเหลือ 24,367 บาท หรือ น้อยลงไป 59%)
จัดสัดส่วนการลงทุนอย่างไรดี?
โดยทั่วไปตามหลักการบริหารเงิน ก็จะมีการจัดสัดส่วนการลงทุนระหว่างหุ้นและพันธบัตรให้แต่ละคนตามความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้ครับ เช่น 80/20, 70/30, 60/40, 50/50 เป็นต้น
สมมติ เราลงทุนในหุ้นและพันธบัตรอย่างละ 50/50 ในท้ายที่สุดเราก็ยังจะได้รับผลตอบแทนราวๆ 42 เท่า จากเงิน 1,000 บาท กลายเป็น 42,020 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับการเอาเงินไปลงทุนในหุ้นทั้งหมดเลย เราจะได้รับผลตอบแทนน้อยลง 30% (จาก 59,674 เหลือ 42,020) โดยที่ความเสี่ยงเราลดลงไป 50% ครับ (ปีที่ตลาดหุ้นขาดทุน 30% พอร์ตเราที่ลงทุนแบบ 50/50 ก็จะขาดทุนไม่เกิน 15%)
ฟังมาถึงตรงนี้แล้ว เราน่าจะเริ่มสนุก และ เห็นวี่แวว การลงทุนของเราเองแล้วใช่ไหมครับ ว่าเราควรจะเอาเงินไปลงทุนในทรัพย์สินอะไร (หุ้น + พันธบัตร) ในสัดส่วนเท่าไหร่ ที่จะเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนของเราไปเรื่อยๆในความเสี่ยงที่เรารับได้
แน่นอนว่า สำหรับใครที่มีเวลาลงทุนยาวนานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป และมีสภาวะอารมณ์ที่มั่นคงสามารถรับความผันผวนของตลาดหุ้นได้ดี เราก็คงจะเลือกลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนที่มากหน่อย หรือ อาจจะลงเงินในหุ้นทั้งหมดเลยก็ได้ เพื่อให้เราได้รับผลตอบแทนที่สูงที่สุดในระยะยาวครับ
จะมั่นใจได้อย่างไรว่าในระยะยาวเงินลงทุนเราจะเติบโต?
ต่อไปเราลองมาพิจารณาเฉพาะการลงทุนในหุ้นกันต่อให้ละเอียด เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้นว่า ผลตอบแทนของตลาดหุ้นเกิดจากอะไร และเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าในระยะยาวแล้ว เงินที่เราลงทุนในตลาดหุ้นจะเติบโตขึ้น เพื่อให้เราลงทุนในหุ้นได้อย่างสบายใจตามแนวทางของเราครับ
หุ้นในตลาดหุ้นนั้น ก็คือ ธุรกิจต่างๆที่เราใช้บริการอยู่ในชีวิตประจำวันครับ เช่น หุ้น CPALL ก็คือ เจ้าของ ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่เราเข้าอยู่ทุกวัน หุ้น KBANK ก็คือ เจ้าของธนาคารกสิกรไทย ที่เราฝากถอนเงินอยู่บ่อยๆ
โดยหุ้นเหล่านี้เป็นตัวแทนของความเป็นเจ้าของในธุรกิจนั้นๆนั่นเอง ถ้าเรามีหุ้น CPALL อยู่ 1,000,000 หุ้น ก็เท่ากับเราเป็นเจ้าของ CPALL อยู่ 0.01% ไม่ต่างจากเวลาที่เราไปลงทุนในร้านอาหารกับเพื่อนของเราเลยครับ เพียงแค่ CPALL มีขนาดใหญ่กว่าธุรกิจทั่วไป มีมูลค่าตลาดเป็นแสนล้านบาท เราให้เราเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยไม่มีสิทธิในการควบคุมกิจการเท่าไหร่
สมมติว่าเราไปลงทุนร้านอาหารกับเพื่อน ผลตอบแทนที่เราจะได้รับจากการลงทุน คือ อะไรบ้างครับ?
เราจะได้รับผลตอบแทนจากร้านอาหารของเพื่อนนี้ 2 ทางด้วยกัน คือ
- กำไรที่เติบโตขึ้น: เมื่อร้านอาหารขยายไปเรื่อยๆ ก็จะมีกำไรมากขึ้น และมีทรัพย์สินมากขึ้น ในอนาคตเมื่อมีคนมาขอซื้อกิจการ มูลค่ากิจการที่ขายก็จะสูงกว่าตอนที่เราเริ่มลงทุนตามกำไรที่เพิ่มขึ้น
- เงินปันผล: เมื่อร้านอาหารขยายกิจการ มีกำไรทุกปี ก็อาจจะแบ่งส่วนนึงออกมาจ่ายปันผลให้เรา
สมมติให้ร้านอาหารของเพื่อนกำไรเติบโตปีละ 6% และมีการจ่ายปันผลออกมา 4% เท่ากับว่าเราจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในร้านอาหารกับเพื่อนนี้ปีละประมาณ 10%
และถ้าหากเราไปลงทุนร้านอาหารกับเพื่อนไว้ 10 สาขา ผลตอบแทนที่เราจะได้รับก็คือ กำไรที่เติบโตขึ้นบวกกับเงินปันผลในแต่ละปี ของทั้ง 10 สาขาเฉลี่ยรวมกัน ถูกต้องไหมครับ
การลงทุนในตลาดหุ้นก็เช่นเดียวกันครับ ในระยะยาวแล้วผลตอบแทนของตลาดหุ้น ก็จะเท่ากับ ผลตอบแทนจากทุกบริษัท (กำไรที่เติบโตขึ้น + ปันผลที่จ่ายออกมา) ในตลาดหุ้นรวมกันเสมอ
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เรามาดูผลตอบแทนจากตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาที่นานขึ้น ตั้งแต่ปี 2518 – 2560 จะพบว่า
- ในช่วงเวลา 43 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนราวๆ 124 เท่า
- คิดเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน 11.87% ต่อปี
- ผลตอบแทนมาจาก กำไรที่เติบโตขึ้น 6.89% ต่อปี
- ผลตอบแทนมาจาก เงินปันผลที่จ่ายออกมา 4.98% ต่อปี
ซึ่งจะเห็นว่าเพียงแค่ผลตอบแทนทบต้น 11.87% ต่อปี แต่ถ้าเราลงทุนนานพอ ผลตอบแทนที่ได้ก็จะมหัศจรรย์มากครับ ผ่านไป 43 ปี เงินโตถึง 124 เท่า
ถ้าเราเก็บเงินจากการทำงานเดือนแรก 10,000 บาท เรานำมาลงทุนในตลาดหุ้น ผ่านไป 43 ปี เราจะมีเงินถึง 1,243,314 บาท
ที่น่าตกใจไปกว่านั้น ถ้าหากเราเริ่มลงทุนด้วยเงิน 10,000 บาท จากนั้นเพิ่มเงินลงทุนอีก 10,000 บาททุกๆปี (เดือนละ 834 บาท) เมื่อผ่านไป 43 ปี เงินลงทุนของเราจะเติบโตเป็น 10,456,993 บาท ซึ่งผมเชื่อว่า การเก็บเงินมาลงทุนปีละ 10,000 บาท เป็นสิ่งที่ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับทุกคนเลย จริงไหมครับ
จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนจากตลาดหุ้นในระยะยาว เป็นผลตอบแทนจากธุรกิจที่เติบโตขึ้นเป็นหลัก (กำไร + ปันผล) ไม่เกี่ยวกับการเก็งกำไรในตลาดหุ้นรายวันเลยนะครับ ดังนั้นเราแทบจะกำจัดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นรายวันออกไปได้ทั้งหมดเลยครับ ทำให้เราไม่ต้องมากังวลว่าตลาดหุ้นจะขึ้นลงวันละกี่จุด สามารถลงทุนยาวๆอย่างสบายใจไปได้เลย ค่อยๆให้เงินลงทุนของเราโตขึ้นพร้อมๆกับกิจการของบริษัทในตลาดเติบโตขึ้นครับ
ตราบเท่าที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้อยู่ ธุรกิจในตลาดหุ้นรวมกันก็จะยังคงมีกำไรเติบโต และ จ่ายปันผลออกมาให้นักลงทุนตลอด ถ้าเราลงทุนในตลาดหุ้น เงินลงทุนก็จะยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆในระยะยาวตามที่เราได้เห็นกันไปแล้วครับ และ ยิ่งเราลงทุนนานเท่าไหร่ เงินเราก็จะยิ่งเติบโตอย่างมหัศจรรย์มากขึ้นเท่านั้นครับ
ถ้าเรามองภาพตลาดหุ้นให้ยาวขึ้นไปอีกเป็นร้อยปีล่ะ เราจะมั่นใจได้ไหมว่า เงินลงทุนในตลาดหุ้นของเราจะยังคงเติบโตได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรกับโลกใบนี้ก็ตาม เราจะคาดหวังผลตอบแทนจากตลาดหุ้นได้มากน้อยแค่ไหน
เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังเปิดมาไม่ถึง 100 ปี ในที่นี้เราลองมาดูผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐตั้งแต่ปี 1900 – 2016 เป็นเวลาทั้งหมด 116 ปีแทน เราจะพบว่า
- ตลาดหุ้นสหรัฐให้ผลตอบแทนประมาณ 9.5% ต่อปี
- ผลตอบแทนมาจาก กำไรที่เติบโตขึ้น 4.6% ต่อปี
- ผลตอบแทนมาจาก เงินปันผลที่จ่ายออกมา 4.4% ต่อปี
- ผลตอบแทนจากการเก็งกำไร 0.5% ต่อปี (การเปลี่ยนแปลงของค่า PE)
เงินลงทุน $1 ในตลาดหุ้นสหรัฐในปี 1900 จะกลายเป็นเงินจำนวน $39,000 ในปี 2016 หรือ โตขึ้นถึง 39,000 เท่าครับ
ซึ่งระยะเวลา 116 ปีนี้ น่าจะครอบคลุมการลงทุนตลอดชีวิตของคนๆนึง ที่ได้ผ่านมาแล้วทุกวิกฤต ทั้งเศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อสูง สงครามโลก วิกฤตการเงินในเอเชีย วิกฤตการเงินในละตินอเมริกา วิกฤตดอทคอม วิกฤตสินเชื่ออสังหา และอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นแล้วเราสบายใจได้เลยครับว่า ถ้าเราอิงกับการลงทุนในธุรกิจอย่างแท้จริงแล้ว ในระยะยาวตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดอยู่เสมอครับ
จากข้อมูลผลตอบแทนระยะยาวของทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นอเมริกา ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า แม้เราไม่สามารถคาดเดาราคาหุ้นในระยะสั้นได้ แต่เราสามารถคาดการณ์ผลตอบแทนในระยะยาวของการลงทุนในหุ้นได้ค่อนข้างแม่นยำ เพราะ ในระยะยาว ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นจะเท่ากับ ผลตอบแทนจากธุรกิจในตลาดหุ้นรวมกันเสมอ ซึ่งถ้าเราตั้งใจจะลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น เราสามารถคาดหวังผลตอบแทนที่ราวๆ 8% -10% ต่อปี และเราก็จะ “ลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน” ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้เงินทำงานและเติบโตไปเรื่อยๆได้เลยครับ
ทั้งนี้ ถ้าเราจะลงทุนในตลาดหุ้นไทย ก็ขอให้เข้าใจไว้ว่า ในอนาคตผลตอบแทนน่าจะลดน้อยลงกว่า 11.87% ต่อปี เพราะธุรกิจเติบโตช้าลงกว่าสมัยก่อน และตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว แต่เราก็น่าจะคาดหวังการเติบโตในระดับ 9% ต่อปีคล้ายๆกับของอเมริกาเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมาได้อยู่ครับ
และนี่ก็คือ หนึ่งในวิธีการเป็น “ผู้ชนะ” ในตลาดหุ้นนั่นเองครับ เพราะจากตัวเลขก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้แล้วว่า เราสามารถทำเงินจากตลาดหุ้นได้แน่นอน เพียงแค่ “เราลงทุนซื้อหุ้นทั้งตลาด และ ถือลงทุนเป็นระยะเวลาที่นานพอครับ”
อยากเริ่มต้นลงทุน ต้องทำอย่างไร?
ใครที่ต้องการลงทุนด้วยวิธีนี้ ก็สามารถที่จะไปเลือกซื้อกองทุนรวม SET50 ได้เลย เพราะกองทุนนี้ก็จะนำเงินไปกระจายลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 50 อันดับแรกในตลาดหุ้นไทย ซึ่งก็จะได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับการซื้อหุ้นทั้งตลาดครับ โดยเวลาเลือกให้เลือกกองทุน SET 50 ที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำที่สุดได้เลยครับ ยิ่งค่าธรรมเนียมต่ำเท่าไหร่ ผลตอบแทนของเราก็จะมากขึ้นด้วยครับ
ลงทุนด้วยหลักการ Value Investing
วิธีการถัดมา ที่มี “โอกาส” ทำให้เราเป็น “ผู้ชนะ” ในตลาดหุ้น ก็คือ การลงทุนด้วยตนเองตามแนว Value Investor ครับ
ซึ่งการลงทุนวิธีนี้ ก็เน้นลงทุนตามพื้นฐานของกิจการเช่นเดียวกัน โดยจะพยายามลงทุนในหุ้นที่กิจการดี ในราคาที่ถูก กว่า ค่าเฉลี่ยของบริษัทในตลาดโดยทั่วไป จากนั้นก็ปล่อยให้กิจการเติบโตขึ้น ราคาหุ้นก็จะขึ้นมาเอง ทำให้เราได้กำไรมากขึ้น
คิดง่ายๆว่า ถ้าโดยเฉลี่ยแล้ว ทุกบริษัทในตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนรวมกันระยะยาวประมาณ 8% – 10% ต่อปี แสดงว่าจะมีบางบริษัทที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า 10% ในขณะที่บางบริษัทก็จะให้ผลตอบแทนน้อยกว่า 8% ด้วย ดังนั้นถ้าหากเราสามารถคัดเลือกเอาเฉพาะบริษัทที่น่าจะให้ผลตอบแทนมากกว่า 10% มาอยู่ในพอร์ตได้ ผลตอบแทนระยะยาวของเราก็น่าจะมากกว่า 10% ต่อปี และทำให้เงินลงทุนเราเพิ่มขึ้นมากกว่าการลงทุนทั้งตลาดได้
เช่นหุ้น CPALL ที่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา 2010-2017 มีการเติบโตของกำไรโดยรวมที่ 16.9% ต่อปี และจ่ายปันผล 1.8% ปี ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนโดยรวมเติบโตที่ 18.7% ต่อปี ราคาหุ้น CPALL ในช่วงเวลาเดียวกันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 21.58% ต่อปีครับ (ส่วนต่าง 2.88% ต่อปี เกิดจากการปรับค่า PE ของหุ้นในตลาด ที่อาจจะต่ำหรือสูงกว่าปรกติในบางช่วงเวลา)
ซึ่งนักลงทุนที่เก่งๆ เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ใช้หลักการลงทุนแบบนี้ และสามารถทำผลตอบแทนได้ประมาณ 20% ต่อปี เป็นเวลากว่า 50 ปี ทำให้กลายเป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกได้ครับ ซึ่งบัฟเฟตต์เอง ก็ได้แนะนำเคล็ดลับการลงทุนของเค้าไว้ว่า “จงลงทุนในธุรกิจที่ดี ในราคาที่เหมาะสม” ที่ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการลงทุนของตนเองให้ประสบความสำเร็จได้
ใครที่สนใจแนวทางการลงทุนด้วยหลักการนี้ ก็สามารถเข้าไปดู วีดีโอ Jitta 101 เพิ่มเติมได้ครับ ก็จะได้เรียนรู้ตั้งแต่หลักการลงทุน การวิเคราะห์หุ้น ไปจนถึงการจัดสัดส่วนพอร์ตการลงทุน รวมทั้งสามารถเข้าไปดูข้อมูลการวิเคราะห์พื้นฐานของหุ้นแต่ละตัวพร้อมกับงบการเงินย้อนหลังได้ ฟรี ที่ www.jitta.com นะครับ
แต่การลงทุนด้วยตนเองนี้ เราก็อาจจะต้องแลกมาด้วย “เวลา” ที่เราจะต้องใช้ไปในการศึกษา วิเคราะห์ตัวเลขทางการเงิน อ่านแผนธุรกิจ และคอยคัดเลือกหุ้นที่ดีในราคาไม่แพง เข้าพอร์ตอยู่เสมอๆครับ รวมทั้งจะต้องมี “วินัย” การลงทุนที่เคร่งครัด สามารถตัดสินใจด้วย “เหตุผล” และควบคุม “อารมณ์” ของตนเอง ได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะทำกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อมองว่า เราจะต้องลงทุนและทำแบบนี้ด้วยตนเองไปนับสิบๆปี เพราะเมื่อไหร่ที่เราหยุดลงทุน เงินเราก็จะหยุดเติบโตไปด้วยครับ
ดังนั้นสำหรับคนทั่วไป ที่ต้องการ “ลงทุนแบบสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน” ไม่ต้องการทำอะไรมาก ต้องการลงทุนแล้วปล่อยให้เงินทำงานไปเรื่อยๆ โดยที่ตัวเราต้องการไปทำอย่างอื่น ก็อาจจะมองข้ามวิธีนี้ไปได้เลยครับ
ลงทุนแบบ Quantitative Value Investing หรือ QVI
อีกวิธีนึงที่จะทำให้เราเป็น “ผู้ชนะ” ในตลาดหุ้นได้ เรียกว่า การลงทุนแบบ Quantitative Value Investing หรือ QVI เป็นการลงทุนที่รวมเอาวิธีการที่ 1 และ 2 เข้าด้วยกัน กล่าวคือ แทนที่เราจะลงทุนในหุ้นทั้งตลาด เราสามารถคัดกรองหุ้นตามตัวเลขทางการเงิน เพื่อเลือกลงทุนใน “หุ้นที่ดี และ ราคาถูก” กว่าหุ้นในตลาดโดยรวมได้ จากนั้นก็ทำการกระจายความเสี่ยงลงทุนในหุ้นแบบนั้นหลายๆตัว และคอยปรับพอร์ตตามรอบเวลาที่กำหนด เพื่อให้เรามีหุ้นที่ดี ราคาถูก อยู่ในพอร์ตทุกๆปีครับ
วิธีการแบบ QVI นี้ มีผู้พิสูจน์มาแล้วมากมายว่า ถ้าเราทำการเรียงลำดับหุ้นที่น่าลงทุนตามตัวเลขทางการเงินที่สำคัญๆ แล้วเลือกลงทุนในหุ้นที่ยังราคาไม่แพงนั้น สามารถให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในระยะยาวได้ครับ
ซึ่งวิธีการนี้ค่อนข้างทำได้ยากในสมัยก่อน แต่ในปัจจุบันที่เรามีข้อมูลงบการเงินของหุ้นครบถ้วนและมีเทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์และจัดอันดับหุ้นน่าลงทุนได้ตลอดเวลา ก็ทำให้วิธีการลงทุนแบบ QVI นี้น่าสนใจและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆครับ
ถ้าใครต้องการศึกษาแนวทางการลงทุนแบบ QVI เพิ่มเติม ลองเข้าไปอ่านหนังสือ The little book that beats the market และ Quantitative Value Investing ได้ครับ
ลงทุนตาม Jitta Ranking
กรณีของ Jitta เอง เราก็มี algorithm ที่ชื่อว่า Jitta Ranking ที่ทำการจัดอันดับ “หุ้นดี ราคาถูก” ของแต่ละตลาดไว้เช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าหากเราลงทุนในหุ้นที่น่าลงทุนที่สุด 30 อันดับแรกตาม Jitta Ranking ในแต่ละปี (ปรับพอร์ตเพียงแค่ปีละ 1 ครั้ง) ผลตอบแทนที่เราจะได้รับใน 10 ปีล่าสุด เทียบกับตลาดหุ้นในแต่ละประเทศจะเป็นดังนี้ครับ
จะเห็นได้ชัดว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนจากของลงทุนแนว QVI ตามหลักการ Jitta Ranking นั้น ให้ผลตอบแทนเหนือกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นในทุกประเทศ และเมื่อดูค่าเฉลี่ยผลตอบแทนเฉลี่ยของทั้ง 7 ประเทศนั้น Jitta Ranking จะทำผลตอบแทนได้ 15.3% ต่อปี มากกว่าผลตอบแทนตลาดหุ้นที่ 8.01% ต่อปีครับ
แน่นอนว่าในบางปี Jitta Ranking อาจจะทำผลตอบแทนได้มากกว่า หรือ น้อยกว่าตลาดอยู่มาก เนื่องจากมีการลงทุนในหุ้นที่น้อยตัวกว่า แต่ในระยะยาวแล้ว ถ้าธุรกิจที่เราเลือกมามีการเติบโตที่สูงกว่าตลาดโดยรวม ผลตอบแทนในระยะยาวก็จะมากกว่าตลาดหุ้นโดยรวมได้เองครับ
ซึ่งทาง Jitta ก็ได้ทำการเปิดเผยผลตอบแทนรายปี พร้อมรายชื่อหุ้นในติด Jitta Ranking top 30 ในแต่ละปีไว้เพื่อให้นักลงทุนเข้าไปศึกษาดูได้ตลอดเวลาที่ https://library.jitta.com/th/ranking สำหรับแนวคิดในการจัดอันดับ Jitta Ranking เข้าไปดูได้ที่ https://library.jitta.com/th/classes
วิธีการแบบ QVI นี้ มีข้อดีคือ ทำให้เราสามารถลงทุนแบบ Value Investors ได้ โดยไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้องและไม่วุ่นวายเสียเวลาครับ เพราะหุ้นจะถูกเลือกและลงทุนอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่เราจะต้องดูก่อนที่จะเลือกลงทุนด้วยวิธีนี้ ก็คือ ตัวเลขทางการเงินและวิธีในการวิเคราะห์เลือก “หุ้นดี ราคาถูก” เหล่านั้นมาลงทุนครับ ถ้าหากหลักการวิเคราะห์นั้นถูกต้องตามหลักการวิเคราะห์ธุรกิจ และสมเหตุสมผลในด้านการลงทุน เราก็น่าจะสบายใจที่จะให้ระบบลงทุนให้ได้ แต่ถ้าหากไปเจอระบบที่ไม่สามารถอธิบายที่มาที่ไปในการวิเคราะห์หุ้นได้ดี เราก็ควรจะหลีกเลี่ยงไว้ก่อนครับ
สำหรับใครที่ต้องการ “ลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน” ด้วยการลงทุนตาม Jitta Ranking แบบอัตโนมัติเลย ก็สามารถให้ระบบจัดการพอร์ตอัตโนมัติของ Jitta Wealth ช่วยบริหารจัดการให้ได้ครับ
สรุป
เห็นมั๊ยครับว่า จริงๆแล้วการลงทุนไม่ได้เป็นเรื่องยากและเสี่ยงอย่างที่คิด สิ่งที่เสี่ยงมากที่สุดคือ การพลาดกำไรระยะยาวจากการไม่ลงทุนอะไรเลย เพราะกลัวความผันผวนระยะสั้นของตลาดมากเกินไป
เพียงแค่เราใช้เวลาศึกษาข้อมูลสักหน่อย ก็มีวิธีการหลายแบบที่ให้เรานำไปใช้ลงทุนแบบสบายๆเพื่อเพิ่มมูลค่าเงินของเราให้เติบโตขึ้นได้ด้วยผลตอบแทนทบต้นที่แสนมหัศจรรย์ เพียงแค่เราลงทุนในตลาดหุ้นไทยตลอด 43 ปีที่ผ่านมา ด้วยผลตอบแทน 11.87% ต่อปี เงินลงทุนของเราจะเพิ่มขึ้นถึง 124 เท่า เงิน 1 ล้านบาท จะกลายเป็น 124 ล้านบาท โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่ลงทุนให้ถูกต้องและลงทุนให้นานพอครับ
ขอย้ำอีกครั้งครับว่า ที่หลายคนคิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเสี่ยงนั้น เป็นเพราะไม่รู้ว่าต้องลงทุนยังไงมากกว่า แต่เมื่อเรารู้วิธีเป็น “ผู้ชนะ” ในตลาดหุ้นแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็เพียงแค่เริ่มลงทุนในแนวทางที่เหมาะสมกับตัวเรา
- ถ้าเราอยากได้ผลตอบแทนชัวร์ๆสบายๆ 8% – 10% ก็ลงทุนในกองทุนรวม SET 50
- ถ้าเราต้องการผลตอบแทนมากกว่าตลาด ก็ศึกษาและพัฒนาทักษะการลงทุนแบบ VI แล้วลงทุนด้วยตนเอง
- ถ้าเราอยากได้ผลตอบแทนที่ดีตามหลักการ VI แต่ไม่อยากใช้เวลาวิเคราะห์และลงทุนด้วยตนเอง ก็ลงทุนตามแนวทาง QVI ได้
และสิ่งที่เหมือนกันหลังจากเริ่มลงทุนไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม ก็คือ จงลงทุนไปเรื่อยๆเป็นระยะเวลานานๆ แล้วผลตอบแทบทบต้นจะสร้างความมั่งคั่งให้กับเราเองครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง