by Jitta
วันที่ 5 เม.ย. 2560 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 15 เม.ย. 2560
กรณีศึกษา การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

กรณีศึกษาของ SVI ที่เกิดไฟไหม้โรงงานหลัก และยังประเมินความเสียหายไม่ได้ชัดเจน ทำให้ราคาหุ้นตกลงมากว่า 34% ภายใน 2 วันนั้น ก็ทำให้ผมนึกถึงเรื่องการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนที่กำลังจะเขียนอยู่พอดีครับ

  1. ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอนครับ แม้จะเป็นหุ้นที่เรามั่นใจมาก และ ศึกษามาอย่างดีแล้ว ก็อาจจะมีเรื่องไม่คาดฝันแบบนี้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเราก็ไม่ควรจะไปเครียดมากกับเหตุการณ์แบบนี้มาก เพราะว่าเราควบคุมอะไรไม่ได้

ดังนั้นสิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือ การจำกัดความเสี่ยงของการลงทุนไว้ โดยกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และ ไม่ถือหุ้นบางตัวเป็นสัดส่วนที่มากเกินไปของพอร์ต เพราะอย่างที่บอกครับว่า มีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ หรือ เราอาจจะวิเคราะห์อะไรผิดพลาดไปก็ได้

ถ้าตามหลักง่ายๆของ Jitta ที่ผมสอนไว้ใน Jitta 101 ก็คือ การถือหุ้นประมาณตัวละ 20% ของเงินลงทุนทั้งหมด ดังนั้นต่อให้เราขาดทุนจาก SVI ถึง 34% แต่เมื่อมองในภาพรวมของพอร์ตแล้ว เราขาดทุนไปเพียงแค่ประมาณ 6.8% เท่านั้นเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่มากมายอะไรครับ ผลตอบแทนของตัวอื่นๆก็น่าจะชดเชยการขาดทุนนี้ได้อยู่แล้ว ทำให้ทั้งปีพอร์ตโดยรวมก็ไม่น่าจะขาดทุนครับ

  1. ถ้าหากเรามีการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวเป็นสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน เงินลงทุนจำนวนมากของเรา ควรจะอยู่ในบริษัทที่มีการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจที่มากพอ ก็จะทำให้พอร์ตของเรามีความแข็งแกร่งต่อเหตุการณ์หลายๆอย่างที่เราไม่คาดฝันได้ครับ (และก็แน่นอนครับว่า บริษัทเหล่านี้ก็คือ บริษัทที่ยอดเยี่ยม มี Jitta Score สูงๆต่อเนื่องนั่นเอง)

ในกรณีของธุรกิจรับจ้างผลิตแบบ SVI นั้น ตัวธุรกิจเองก็มีการกระจายความเสี่ยงที่ไม่มากเท่าไหร่ เช่น มีรายได้จาก order ของลูกค้าไม่กี่ราย หรือ มีโรงงานผลิตไม่กี่โรง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น รายได้ก็อาจจะหดหายไปได้เยอะเลย เช่น กรณีไฟไหม้แล้วต้องปิดโรงงาน หรือ แม้จะเปิดโรงงานได้แล้ว ลูกค้าก็อาจจะไปผลิตที่อื่นเรียบร้อยแล้ว ก็อาจจะแย่เข้าไปอีก

ในขณะที่ธุรกิจที่ยอดเยี่ยมจะมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีในตัวเองอยู่แล้ว เช่น มีรายได้มาจากลูกค้านับล้านคน มีธุรกิจอยู่ในหลายประเทศ มี distribution center หลายแห่ง ทำให้เราแทบไม่ต้องเป็นห่วงเลยว่า จะมีเหตุการณ์อะไรที่จะมาทำให้กำไรของบริษัทลดลงได้มากๆเป็นการถาวรครับ (ในระยสั้นๆอาจจะมีกระทบบ้าง แต่ก็คงไม่มากอยู่ดี คงไม่ถึงกับทำให้บริษัทขาดทุนครับ)

ตัวอย่างเช่น Priceline ที่เป็นเจ้าของ priceline.com, booking.com, agoda.com ซึ่งปัจจุบันน่าเป็น online travel agency ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น มีธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลก มีโรงแรมให้คนเลือกจองมากกว่า 200,000 โรงแรม มีคนเข้ามาจองที่พักวันละหลายล้านคน

ดังนั้นต่อให้บางประเทศมีการชุมนุมประท้วง การท่องเที่ยวหยุดชะงัก โรงแรมบางแห่งเปิดให้บริการไม่ได้ ตัว Priceline เองก็ไม่มีปัญหาอะไร ยังคงขยายธุรกิจให้เติบโตได้ตามปรกติครับ

ความเสี่ยงของบริษัทที่มีการกระจายความเสี่ยงไว้ดีแล้วเหล่านี้จึงน่าจะมาจาก สินค้าทดแทน หรือ คู่แข่ง เป็นหลักมากกว่า แต่ทั้ง 2 กรณีนั้น ก็จะไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวดเร็วนัก เพราะคู่แข่งจะค่อยๆแย่ง market share ของบริษัทเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ทำให้เรามีเวลานานมากพอที่จะทำความเข้าใจและขายหุ้นในบริษัทออกมาได้แบบไม่ขาดทุนหนักๆครับ

ดังนั้นในกรณีที่เราไปลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้ยอดเยี่ยมมากนัก เราก็อาจจะจำกัดความเสี่ยงด้วยการไม่ลงทุนในบริษัทเหล่านี้เกิน 10% ของเงินลงทุนทั้งหมด แทนที่จะเป็น 20% ดังนั้นต่อให้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆขึ้นมาราคาหุ้นลดลง 34% เราก็จะขาดทุนเพียงแค่ 3.4% ของพอร์ตเท่านั้นเองครับ

การทำความเข้าใจถึงที่มาของรายได้ของธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและช่วยให้ความมั่นใจเราได้ เวลาที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นครับ

(ผมมีพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับ คำถามที่ควรต้องหาคำตอบ เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจที่เราจะลงทุนมีความแข็งแกร่งมากน้อยแค่ไหนไว้ใน Jitta 101 Part 4 นาทีที่ 32.00 (ในหัวข้อ Jitta Note) ด้วยนะครับ สนใจไปดูกันได้ที่ Jitta 101 Part 4

  1. ถ้าเรามีกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงที่ดี และ มองที่ผลตอบแทนของพอร์ตรวมเป็นหลัก ความผิดพลาดที่ทำให้ขาดทุนจากหุ้นในแต่ละครั้ง เราจะไม่ได้รู้สึกเครียดอะไรเลย แต่กลับกันเราจะรู้สึกว่าได้บทเรียนใหม่มาให้เรียนรู้ความผิดพลาด เพื่อให้ครั้งต่อไปเราจะได้ลงทุนได้ดีขึ้นครับ

ดังนั้นการลงทุนให้เรามีความสุขและสนุกไปได้เรื่อยๆนั้น ก็ต้องรู้ตัวเองให้ดีว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน และปรับกลยุทธ์สัดส่วนการกระจายความเสี่ยงต่างๆให้เข้ากับจริตของเราครับ เราก็จะลงทุนได้อย่างสบายใจ ไร้กังวลไปตลอดชีวิตครับ