ไฮไลท์
- นักลงทุนแนวเน้นคุณค่าสามารถลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีที่เติบโตสูงได้ เหมือนที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ลงทุนในหุ้น Apple เนื่องจากมองเห็นว่า Apple นั้นมี durable competitive advantage หรือความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้พอร์ตไปเรื่อยๆ ในระยะยาวเหมือนหุ้น Coca-Cola ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการค้นหาหุ้นเทคโนโลยีเพื่อลงทุนระยะยาว ยังคงเป็นพื้นฐานและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ
- อุตสาหกรรมหุ้นเทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งที่ตีกรอบได้ยาก เนื่องจากหุ้นเทคโนโลยีมักทำธุรกิจคาบเกี่ยวกันหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเงิน ท่องเที่ยว การแพทย์ ฯลฯ แต่หากมองเป็นเมกะเทรนด์แล้ว จะแบ่งได้เป็น 4 เทรนด์ใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่ เทรนด์ cloud computing เทรนด์ AI เทรนด์เทคโนโลยีการเงินหรือ Fintech และเทรนด์ e-commerce
- ธุรกิจเทคโลยีแต่ละประเภทมีความสามารถดึงดูดลูกค้าให้ “ติด” ได้ไม่เหมือนกัน โดยกลุ่มที่สามารถพิสูจน์ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ของตัวเองออกมาให้ลูกค้าเห็นเป็นรูปธรรมได้ ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะ “ติด” มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่คุณประโยชน์ของมันแสดงผลออกมาเป็นรูปธรรมได้ยาก
- Switching cost เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเทคโนโลยี เพราะหาก switching cost ต่ำ หมายความว่าลูกค้าสามารถย้ายไปใช้บริการคู่แข่งได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องคิดเยอะ ก็จะทำให้บริษัทเทคโนโลยีรักษาฐานลูกค้าไว้ได้ยาก
- รายได้ธุรกิจเทคโนโลยีส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่ม Software as a Service หรือ SaaS นั้น มาจากการ “ปล่อยเช่า” ซอฟต์แวร์ ผ่านระบบ cloud หมายความว่า ยิ่งฐานลูกค้าเยอะเท่าไหร่ รายได้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ธุรกิจกลุ่มนี้จึงนำรายได้ที่หามาไปหาลูกค้าเพิ่มจนดูเผินๆ เหมือนขาดทุน แต่จริงๆ แล้ว ฐานลูกค้าที่ใหญ่ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจในระยะยาว เพราะนอกจากจะได้ข้อมูลหรือ big data มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากลูกค้าเก่าที่มีอยู่แล้วอีกด้วย
การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด คือการลงทุนระยะยาวใน “ธุรกิจที่ดี ในราคาที่เหมาะสม”
อย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดหุ้น ทำผลตอบเเทนได้เฉลี่ยปีละกว่า 20% เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 50 ปี
บัฟเฟตต์จะถือหุ้นพื้นฐานดีในราคาที่เหมาะสมไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลานาน เรียกได้ว่านานมากสำหรับนักลงทุนทั่วไป โดยเฉลี่ยเเล้ว Berkshire Hathaway ของบัฟเฟตต์จะถือครองหุ้นเป็นเวลา 7.5 ปี เหมือนหุ้น Coca-Cola ที่ซื้อมาตั้งเเต่ปีพ.ศ. 2531 เเละยังคงถืออยู่เพราะยังทำผลตอบเเทนได้ดี
เพราะฉะนั้น แม้แต่หุ้นเทคโนโลยีที่บัฟเฟตต์ซื้อ ก็ยังต้องพิจารณาความสามารถในการแข่งขันระยะยาวเป็นสำคัญ
นั่นทำให้ Berkshire Hathaway ของบัฟเฟตต์ตัดสินใจลงทุนในหุ้น Apple ถึง 245 ล้านหุ้น ด้วยต้นทุนประมาณ 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ดูเผินๆ ไม่ใช่สไตล์บัฟเฟตต์เลย เพราะที่ผ่านมา คุณปู่ชอบลงทุนหุ้นการเงินและสินค้าอุปโภคบริโภคหรือแบรนด์ของใช้ประจำบ้านที่เป็นที่นิยมมากกว่า
แต่คุณปู่มองว่า Apple ได้วิวัฒนาการจากการเป็นหุ้นเทคโนโลยีสุดเซ็กซี่ มาเป็นแบรนด์ประจำบ้านไปแล้ว ด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ของตนเองที่เหมือนเป็นหลุมดำ ดูดคนเข้ามาเป็นลูกค้า แล้วไม่ปล่อยให้หลุดออกไปอีกเลย
“เดี๋ยวนี้เวลาพาเด็กๆ ไปแดรี่ควีน เหมือนที่ทำประจำทุกวันอาทิตย์ จะเห็นแต่เด็กๆ ถือโทรศัพท์ iPhone” บัฟเฟตต์ให้สัมภาษณ์ CNBC เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 “เด็กๆ แทบจะไม่คุยกับผมเลย นอกจากสั่งไอศกรีม หรืออะไรประมาณนั้น”
การตัดสินใจนอกกรอบของบัฟเฟตต์ครั้งนั้น ทำให้พอร์ตของ Berkshire Hathaway ต่อสู้กับวิกฤต Covid-19 ได้ค่อนข้างดี เพราะในขณะที่ธุรกิจการเงินและสายการบินร่วงระนาว หุ้น Apple กลับทำกำไรให้ Berkshire Hathaway ประมาณ 40,000 ล้าน นับตั้งแต่จุดต่ำสุดของตลาดหุ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
และไม่ใช่แค่หุ้น Apple เท่านั้นที่เพิ่มมูลค่าขึ้นในช่วง Covid-19 แพร่ระบาด
วันไหนข่าว Covid-19 รุนเเรงขึ้น หุ้นหลายกลุ่มอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ จะลดต่ำลง เเต่กลุ่มเทคโนโลยีกลับขึ้นสวนมา เป็นเเบบนี้หลายต่อหลายครั้ง
เพราะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์จากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ไปเต็มๆ ด้วยธรรมชาติคนอย่างไรก็ต้องกิน ต้องติดต่อสื่อสาร ต้องทำงานเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ เมื่อเจอมาตรการปิดเมือง เว้นระยะห่างทางสังคม ทำงานที่บ้าน ฯลฯ ผู้คนจึงหันมาพึ่งเทคโนโลยีช่วยจัดการให้ ดันกลุ่มเทคโนโลยีเติบโตเฉลี่ยประมาณ 20-30% หลังเกิดวิกฤติ Covid-19
และต่อให้ Covid-19 จบลง หุ้นเทคโนโลยีก็ยังมีแนวโน้มจะไปต่ออีกไกล ดังที่คุณได้อ่านในบทความที่แล้ว
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า หุ้นเทคโนโลยีที่คุณซื้อ จะไปได้ไปต่อกับเขาด้วย
หากต้องการลงทุนระยะยาวแล้ว โมเดลธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน ยังคงเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกก่อนเสมอ
เริ่มจากศึกษาอุตสาหกรรม ทำความเข้าใจธุรกิจที่บริษัทนั้นกำลังทำอยู่ เเละวิธีการได้มาซึ่งรายได้ของบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุนจากหุ้นเทคโนโลยีที่ปรับตัวตามโลกไม่ทัน และค้นหาหุ้น “คงกระพัน” ที่จะเติบโตไปกับพอร์ตของคุณยาวๆ
ทำความเข้าใจอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ก่อนจะวิเคราะห์พื้นฐานและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเทคโนโลยีได้ ต้องเข้าใจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก่อนว่ามีธุรกิจแบบไหนบ้าง มีลักษณะพิเศษอย่างไร
ซึ่งหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีนั้นมีหลากหลาย ทำธุรกิจทับซ้อนคาบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ มากมาย เช่นการแพทย์ การเงิน ท่องเที่ยว อาจจะทำให้เห็นภาพยาก แต่ถ้าแบ่งตามเมกะเทรนด์ของโลก สามารถมองคร่าวๆ ได้ 4 มุม ดังนี้
- Cloud computing คือ ธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จาก cloud ในการขยับขยายธุรกิจ ได้แก่
- กลุ่มผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานบน cloud (Infrastructure as a Service หรือ IaaS) เป็นผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์ ระบบจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล และเครือข่ายหลังบ้าน เช่น Amazon (Amazon Web Services) Alphabet (Google Cloud Platform) และ Microsoft (Microsoft Azure)
- กลุ่มผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม (Platform as a Service หรือ PaaS) เป็นกลุ่มที่สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้สร้างและบริหารจัดการแอปพลิเคชันของตนเอง เช่น MongoDB และ Cloudflare
- กลุ่มผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ (Software as a Service หรือ SaaS)
- เป็นรูปแบบการให้บริการใช้ซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นบน Cloud ทำให้ผู้ใช้ที่ออนไลน์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตใช้บริการซอฟต์แวร์เหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ไว้ที่หน่วยงานหรือคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ เช่น Zoom Netflix Salesforce และ Slack เป็นต้น
- Artificial intelligence ธุรกิจที่มีการลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เช่น Intel NVIDIA และ AMD (Advanced Micro Devices)
- Financial technology หรือ Fintech กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีด้านการเงิน การลงทุน เช่น Paypal Square และ Q2 Holdings
- E-commerce กลุ่มธุรกิจค้าขายออนไลน์ เช่น Amazon Shopify และ Etsy
ซึ่งใน 4 เมกะเทรนด์นี้ cloud computing จะกว้างที่สุด เพราะเทรนด์อื่นๆ ล้วนแล้วแต่มีการพัฒนาและให้บริการผ่านระบบ cloud โดยรวมแล้วให้ผลตอบแทนสูง โดยดัชนีธุรกิจกลุ่ม cloud computing นั้นปรับตัวขึ้นมาถึง 200% นับตั้งปี 2554 เป็นต้นมา
และในกลุ่ม cloud computing นี้ SaaS หรือกลุ่มให้บริการซอฟต์แวร์ มีสัดส่วนใหญ่ที่สุด และสร้างรายได้รวมกันเยอะที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม IaaS และ PaaS โดยบทวิเคราะห์จาก Gartner คาดการณ์ว่าธุรกิจ SaaS จะทำรายได้รวมกันถึง 143,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 เพิ่มขึ้นมาจากรายได้รวมปี 2561 ประมาณ 80% ทีเดียว
นั่นก็เพราะกระแส digital transformation ที่โหมกระหน่ำทั่วโลก ทำให้เทคโนโลยี SaaS เข้ามามีบทบาทในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานของเรามากขึ้น พร้อมมีแรงหนุนจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่เร่งให้เกิดทุกคนปรับตัวทำ digital transformation กันแบบหายใจหายคอแทบไม่ทัน ส่งผลดีต่อธุรกิจ SaaS จนหุ้นบริษัท SaaS ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยถึง 64%
ดังนั้น หากคุณสนใจลงทุนในธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีแล้ว การเจาะกลุ่ม cloud computing ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ก็อย่าลืมว่าการลงทุนแบบเจาะจงกลุ่มธุรกิจนั้น มาพร้อมความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
หาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ
แต่ไม่ว่าธุรกิจจะติดโผเมกะเทรนด์ไหน หากผลิตภัณฑ์ไม่ดี ไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ลูกค้าไม่ “ติด” โอกาสที่จะเติบโตกลายเป็น Apple หรือ Amazon ในอนาคตนั้นเป็นไปได้ยากมาก
ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจเลือกหุ้นเทคโนโลยีพื้นฐานดี ที่น่าจะอยู่ติดพอร์ตคุณไปได้นานๆ จำเป็นต้องเข้าใจทะลุปรุโปร่งว่าธุรกิจให้บริการอะไร ช่วยทำให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นได้อย่างไร
ยกตัวอย่างกลุ่ม SaaS จะมีลักษณะธุรกิจที่เห็นได้ชัดอยู่ด้วยกัน 3 เเบบ
- ธุรกิจที่ช่วยสร้างยอดขายให้กับบริษัทอื่น คือ บริษัทที่พัฒนาผลิตภัณฑ์มาช่วยบริษัทหรือผู้ประกอบการเพิ่มยอดขาย เช่น Alibaba หรือ Amazon ที่เป็นบริษัท e-commerce ให้พื้นที่ผู้คนมาขายของ สร้างรายได้
- ข้อสังเกต ธุรกิจเเบบนี้จะดีก็ต่อเมื่อได้เป็น Monopoly แล้ว เหมือน Amazon ที่ฝ่าฝันยอมรับ margin ของยอดขายจำนวนน้อยมาก เพื่อแลกกับการให้ลูกค้า “ติด” และเปลี่ยนไปใช้คู่แข่งได้ยาก เเต่ในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของสงคราม ตอนนี้การแข่งขันค่อนข้างสูง มีหลากหลายบริษัทลงมาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกัน ไม่ว่าจะเป็น Lazada Shopee หรือ JD ผู้บริโภคมีทางเลือกเยอะ จึงไม่ค่อย “ติด” แบรนด์เท่าไหร่นัก คงต้องดูกันไปสักพักว่าใครจะกลายเป็นผู้นำ
- ธุรกิจที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน คือ บริษัทที่พัฒนาผลิตภัณฑ์มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ลูกค้า ผู้ใช้บริการจะได้ทำงานสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพและในเวลาที่น้อยลง เช่น Workday Saleforce HubSpot Slack และ Zendesk
- ข้อสังเกต ธุรกิจแบบนี้เป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับบริษัทที่ต้องการเพิ่มประสิทธิผลของการทำงาน เพื่อผลักดันให้บริษัทโตเร็วขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่วัดได้และเป็นรูปธรรม เมื่อลูกค้าสามารถวัดผลได้ชัดเจน พิสูจน์จนเห็นกับตาว่าผลิตภัณฑ์ช่วยกิจการเพิ่มประสิทธิผลได้จริง ก็ตัดสินใจใช้บริการต่อได้ไม่ยาก หรือเรียกว่า “ติด” การใช้งานไปเเล้ว
- ธุรกิจที่ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย คือ บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถลดต้นทุนให้กับบริษัทอื่นๆ ได้ ซึ่งการลดต้นทุนถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากในการทำธุรกิจ เพราะยิ่งมีต้นทุนต่ำ กำไรก็ยิ่งสูง เช่น DocuSign และ Zoom
- ข้อสังเกต เนื่องจากการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เป็นสิ่งที่วัดผลได้เป็นรูปธรรมมากๆ บริษัทสามารถนำตัวเลขมาเปรียบเทียบให้เห็นกันจะๆ พอลูกค้าเห็นก็คล้อยตามได้ง่าย รู้สึก “ติด” ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มใช้จริง
บริษัทรักษาฐานลูกค้าได้ดีแค่ไหน
สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจเทคโนโลยีต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ คือ switching cost หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากลูกค้าเปลี่ยนไปใช้บริการบริษัทอื่น กล่าวง่ายๆ คือ เมื่อลูกค้าเลือกใช้บริการของบริษัทใดเเล้ว จะเปลี่ยนไปใช้บริการของบริษัทคู่เเข่งได้ยากง่ายเพียงใด
ถ้า switching cost ต่ำ ก็หมายความว่า ลูกค้าไม่ค่อย “ติด” เท่าไหร่ อยากจะเปลี่ยนใจไปใช้บริการอื่นง่ายนิดเดียว เหมือนธุรกิจ e-commerce ในประเทศไทยที่ยกตัวอย่างไปก่อนหน้านี้
ในทางกลับกัน หาก switching cost สูง การเปลี่ยนผู้ให้บริการนั้นยุ่งยาก ไม่คุ้มค่า หรือมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ต้องไตร่ตรองหนัก สุดท้ายลูกค้าก็อาจจะเลือกใช้บริการต่อไปดีกว่า บริษัทเทคโนโลยีที่มี switching cost สูงจะได้เปรียบกว่า และมีแนวโน้มที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีกยาวนาน
Switching cost เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ เรียกว่า durable competitive advantage และเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่เขาตัดสินใจลงทุนใน Apple โดยมองว่าระบบนิเวศน์ที่ Apple สร้างขึ้นมานั้น ทำให้คนที่ได้ลองใช้ผลิตภัณฑ์หนึ่งของ Apple แล้ว ต้องซื้อผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของ Apple มาใช้ควบคู่กันไปด้วย กลายเป็นหลุมดำอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้
ซึ่ง switching cost ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีด้วยกัน 3 ระดับ คือ
- Switching cost ต่ำ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ให้บริการเป็นครั้งๆ เเล้วจบไป เช่น eCommerce หรือ Content Streaming เช่น Netflix ที่ผู้ใช้ต้องสมัครรับบริการเป็นรายเดือน แต่หากต้องการเปลี่ยนไปดูของเจ้าอื่น ที่มีโปรโมชั่นดีกว่า ราคาถูกว่า เช่น Youtube หรือ VIU หรือ ก็ยกเลิกได้โดยทันที ดังนั้นจะเห็นว่า Netflix เองก็ต้องหาจุดแข็งมาเติม เช่น ความหลากหลายและจำนวนเนื้อหาที่มีมากกว่าคู่แข่งจนคนไม่อยากจะเปลี่ยน
- Switching cost ปานกลาง เป็นบริษัทที่จัดเก็บข้อมูลผู้ใช้จำนวนหนึ่งไว้ในเเพลตฟอร์ม และมีลักษณะเฉพาะตัวพอสมควร เช่น Adobe ที่มีการจัดเก็บสกุลไฟล์ของตัวเอง ทำให้การตัดต่อรูปภาพครั้งต่อไปจะยุ่งยากถ้าใช้โปรเเกรมอื่น
- Switching cost สูง เป็นบริษัทที่จัดเก็บข้อมูลผู้ใช้งานไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อใช้งานไปสักพัก จะย้ายข้อมูลทั้งหมดไปยังเเพลตฟอร์มของบริษัทอื่น ก็ต้องมาตั้งค่าอะไรทุกอย่างใหม่หมด ซึ่งเป็นเรื่องยาก เเละไม่คุ้มค่าที่จะเปลี่ยน เช่น โปรแกรมบริหารจัดการลูกค้า Salesforce Hubspot
ล้วงลึกที่มาของรายได้
สำหรับหุ้นเทคโนโลยีกลุ่ม Cloud Computing นั้น รายได้หลักของบริษัทมาจากการ “เก็บค่าเช่า”
อย่างกลุ่ม IaaS ก็เก็บค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์
ถ้าเป็น PaaS ก็เก็บค่าเช่าแพลตฟอร์ม
ส่วน SaaS ก็เก็บค่าเช่าใช้งานโปรแกรม
ตราบใดที่ลูกค้ายัง “ติด” และ switching cost สูง เปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ยาก ค่าเช่าก็จะไหลเข้ามาบริษัทเรื่อยๆ ดั่งเสือนอนกิน
ลองจินตนาการดูว่า หากคุณต้องการเพิ่มรายได้จากค่าเช่าให้สูงขึ้น เพื่อให้ธุรกิจเติบโต โดยที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ คุณสามารถทำอย่างไรได้บ้าง…
แน่นอนว่าหนีไม่พ้น 2 สิ่งนี้
- หาลูกค้าใหม่ๆ มาเพิ่ม
- เก็บค่าเช่าเพิ่มจากลูกค้าเก่า
การหาลูกค้าใหม่มาเพิ่มเป็นเรื่องปกติของทุกธุรกิจอยู่แล้ว แต่สำคัญมากเป็นพิเศษสำหรับธุรกิจเทคโนโลยี เพราะจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลโดยตรงต่อรายได้ เวลาคุณอ่านข่าวเกี่ยวกับหุ้นเทคโนโลยี คุณจะเห็นว่าในข่าวมักพูดถึงยอดสมัครสมาชิกใหม่ และยอดผู้ใช้บริการอยู่บ่อยๆ
การเพิ่มฐานลูกค้าไม่ใช่การเพิ่มรายได้ให้บริษัทเพียงเท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มข้อมูล หรือ data ให้บริษัทนำไปวิเคราะห์ คิดค้น พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น สร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้โมเดลธุรกิจในระยะยาวอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน ลูกค้าเก่าก็เปรียบเสมือนสินทรัพย์ล้ำค่าที่คุณมีอยู่ในมือ ควรนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้
คุณจะใช้สูตรคิดค่าใช้จ่ายต่อหัว ยิ่งธุรกิจขยายตัว จ้างคนเพิ่ม ก็ยิ่งต้องเสียค่าบริการให้คุณมากขึ้นตามไปด้วย…
หรือคุณจะกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อบริการเพิ่มก็ได้ เช่น เช่าพื้นที่ cloud เพิ่มเพื่อรองรับข้อมูลมหาศาลจากการทำแคมเปญส่งเสริมการขาย หรืออัปเกรดเพื่อเข้าถึงเครื่องมือขั้นสูงบางอย่าง ที่ปกติไม่มีให้บริการ เป็นต้น
ซึ่งอัตราส่วนทางบัญชีที่จะช่วยบอกคุณได้ว่า ธุรกิจนั้นมีความสามารถในการสร้างรายได้จากลูกค้าเก่ามากแค่ไหน ก็คือ net dollar expansion ที่สะท้อนให้เห็นว่าลูกค้าเก่าจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเท่าไหร่
เฉลี่ยแล้วบริษัทกลุ่ม SaaS จะมี net dollar expansion ประมาณ 105-110%
ถ้ายอดสมัครสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน net dollar expansion ก็เพิ่มขึ้น ก็พอจะมองออกเลยว่าคุณมีธุรกิจที่คน “ติด” สุดๆ อยู่ในกำมือแล้ว
อย่างบริษัท Zoom ที่รายได้จากลูกค้าเก่าโตปีละ 30% พอนำไปรวมกับรายได้จากลูกค้าใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ยิ่งทำให้บริษัท Zoom มีฐานรายได้ที่มั่นคง เเละต้นทุนในการหาลูกค้าลดต่ำลงเรื่อยๆ รายได้จึงโตเร็วกว่าค่าใช้จ่าย ทำให้บริษัท Zoom คืนทุนและเริ่มทำกำไรได้รวดเร็ว โดยบันทึกกำไรได้ถึง 27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาสเเรกของปี 2563 หุ้น Zoom จึงพุ่งทะยานอย่างที่เห็น
และด้วยความที่การหาลูกค้าเพิ่มเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ธุรกิจ SaaS ส่วนใหญ่นำรายได้ที่หามา ไปหาลูกค้าเพิ่มอีกทีหนึ่ง จนดูเผินๆ เหมือนหุ้นกลุ่มนี้จะขาดทุน
แต่ต้องเข้าใจว่า การนำรายได้ไปเพิ่มฐานลูกค้านั้น เป็นการเพิ่มความได้เปรียบของบริษัทให้เหนือกว่าคู่เเข่ง หรือเสริม competitive advantage ให้ตนเอง ซึ่งตามหลัก VI จะเรียกกันว่า annual revenue run rate หรือ ARR
อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้หุ้นกลุ่ม SaaS ส่วนใหญ่ดูเหมือนขาดทุนอยู่ตอนนี้ เป็นเพราะการบันทึกบัญชี ที่บันทึกต้นทุนทั้งหมดตั้งเเต่เเรก ต่างจากการบันทึกบัญชีธุรกิจเเบบเก่าที่มีค่าเสื่อมต่อปีทำให้ดูขาดทุนไม่มาก และการบันทึก non-cash item ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น
- Stock-based compensation หรือ การให้หุ้นกับพนักงาน ซึ่งจะถูกบันทึกเป็นรายจ่าย เเต่ในความจริงเงินไม่ได้ออกไปจากบริษัท
- Unearned revenue คือ การที่ลูกค้าจ่ายค่าบริการมาล่วงหน้า เเต่ยังไม่ได้ถูกบันทึกตามหลักบัญชี เพราะต้องบันทึกเดือนต่อเดือน
ดังนั้น นักลงทุนจึงควรวิเคราะห์ธุรกิจ SaaS โดยดูรายได้และกระแสเงินสด มากกว่ายอดกำไร-ขาดทุน ตราบใดที่กระแสเงินสดเป็นบวก ก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่ดี
ค้นหาหุ้นเทคโนโลยีคงกระพัน
การลงทุนมีความเสี่ยงอยู่เเล้ว ยิ่งความรู้น้อย ความเสี่ยงยิ่งสูง ในทางกลับกัน ถ้าคุณศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหุ้นเทคโนโลยีเยอะๆ เริ่มจากศึกษาธุรกิจเทคโนโลยีที่คุณรู้จักให้ลึกซึ้งว่าเขาทำอะไร มีโมเดลธุรกิจเป็นอย่างไร หารายได้มาจากไหน รักษาฐานลูกค้าไว้ได้หรือไม่ ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
แต่ก็อย่าลืมความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งของหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งก็คือเทคโนโลยีนั่นเอง
เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไว หุ้นเทคโนโลยีจึงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาได้ยาก และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากจนแทบตั้งตัวไม่ทัน
ดังนั้น อย่าลืมอัปเดตเทรนด์โลก และข้อมูลหุ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจเทคโนโลยีที่คุณสนใจในอนาคต
ทั้งหมดนี้จะช่วยให้คุณสามารถเลือกหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีลงทุนได้ดียิ่งขึ้น เเละอาจจะได้พบหุ้นเทคโนโลยีที่คุณสามารถเติบโตไปกับมันได้เป็นเวลานาน
วิธีลดความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งก็คือการเพิ่ม margin of safety หรือการซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะสม
ในบทความต่อไปจะพูดถึงวิธีการประเมินมูลค่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีว่ามีวิธีการอย่างไร เเละอัตราส่วนทางบัญไหนที่สำคัญ
หรือหาคำตอบได้ใน Jitta Live: ปั้นพอร์ตโตด้วยหุ้นเทค เมกะเทรนด์ขับเคลื่อนโลก ในวันพุธที่ 22 กรกฎาคม เวลา 19:00 น.