by Natchaipat Somchun
วันที่ 25 ก.ค. 2563 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 26 ก.ค. 2563
สรุป Live “ปั้นพอร์ตโตด้วยหุ้นเทค เมกะเทรนด์ขับเคลื่อนโลก”
ดู Live “ปั้นพอร์ตโตด้วยหุ้นเทค เมกะเทรนด์ขับเคลื่อนโลก” ย้อนหลัง

ไฮไลท์

  1. จะมีหรือไม่มี Covid-19 หุ้นกลุ่มเทคก็โตมาตลอด Covid-19 เป็นเพียงเเค่ตัวเร่งให้หุ้นเทคโนโลยีเติบโตไวขึ้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ต้องระมัดระวังในการเลือกหุ้นเทคโนโลยีในช่วงนี้ เพราะส่วนหนึ่งที่ตลาดพุ่งขึ้นสูง อาจจะมาจากนโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบของธนาคารกลางสหรัฐฯ และเมื่อธนาคารกลางออกมาตรการดึงเงินออกจากระบบเมื่อไหร่ หุ้นเทคโนโลยีที่ไม่แข็งแกร่งจริง หรือซื้อขายกันเกินพื้นฐานมากเกินไป ก็อาจจะพาคุณขาดทุนหนักได้
  2. คุณสามารถเริ่มค้นหาหุ้นเทคโนโลยีที่น่าสนใจได้ 2 ทาง คือ ค้นหาบริการหรือผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันที่น่าสนใจ แล้วลองมองหาบริษัทเทคโนโลยีที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กัน หรือ คุณจะมองหาว่าธุรกิจใดกำลังโดนแทนที่ด้วยธุรกิจเทคโนโลยี แล้วไปดูว่าธุรกิจที่กำลังจะโดนแทนที่นั้น มีมูลค่าเท่าไหร่ ส่วนแบ่งการตลาดเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้คุณเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีได้
  3. หุ้นเทคโนโลยีกลุ่ม SaaS ที่ผลิตซอฟต์แวร์ออกมาให้คน “เช่า” ใช้ เป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีต้นทุนในการทำธุรกิจต่ำจากการใช้ cloud computing เข้ามาพัฒนาเทคโนโลยี แต่สามารถสร้างรายได้เติบโตได้มากขึ้นเรื่อยๆ จากการเก็บค่าใช้จ่ายแบบ subscription และ upsell ขายบริการเสริมหรืออัปเกรด
  4. หุ้นเทคโนโลยีที่มีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งและอยู่เป็นเสาหลักของโลกไปได้นานๆ จะต้องประกอบไปด้วย 6 คุณสมบัติ ได้แก่ ต้นทุนต่ำ ผลิตภัณฑ์หลากหลายขายเพิ่มได้ดี จำนวนผู้ใช้งานเยอะ มีการประหยัดจากขนาด ลูกค้า “ติด” และโดดเด่นกว่าคู่แข่ง
  5. นอกจากวิเคราะห์หุ้นในเชิงคุณภาพแล้ว ยังต้องวิเคราะห์เชิงประมาณประกอบกันไปด้วย ซึ่งอัตราส่วนสำคัญที่นักลงทุนชอบใช้ ก็ประกอบไปด้วย มูลค่าสุทธิของกิจการ อัตราส่วนราคาต่อยอดขาย อัตราการเติบโตของรายได้ กระแสเงินสดอิสระ ค่าใช้จ่ายในการบริหารต่อยอดขาย net dollar expansion และ retentio rate
  6. ความกังวลว่าราคาหุ้นเทคโนโลยีที่พุ่งขึ้นสูงในปัจจุบันเป็นผลมาจากฟองสบู่เหมือนสมัยดอทคอมนั้น ค่อนข้างไกลความเป็นจริงอยู่มาก เพราะปัจจุบันหุ้นเทคโนโลยีมีรายได้และกำไรที่ชัดเจน ไม่เหมือนหุ้นดอทคอมสมัยก่อนที่ไม่มีรายได้หรือกำไร เน้น IPO มากกว่าทำธุรกิจ แต่นักลงทุนให้มูลค่าสูงมาก จน P/E หุ้นดอทคอมสมัยนั้นอยู่ที่ 72 เท่า แต่ P/E ของหุ้นเทคโนโลยีปัจจุบันอยู่ที่ 32 เท่านั้น

สรุปเนื้อหา Live

โลกทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมเทคโนโลยี จนทำให้กลุ่มเทคโนโลยีกลายมาเป็นผู้นำในตลาดหุ้น เรียกได้ว่าเป็นเมกะเทรนด์เเห่งการลงทุนในปัจจุบัน

เเต่การลงทุนหุ้นเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ธุรกิจ หาแนวโน้มการเติบโต และประเมินมูลค่าหุ้นเทคโนโลยีที่ใครต่อใครก็บ่นอุบว่า “แสนแพง”

แล้วเหตุใด Berkshire Hathaway ของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ จึงยังซื้อหุ้น Amazon ไปที่ช่วงราคา $1,500-$1,700 หรือ P/E 70 กว่าๆ

พบกับ 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและเทคโนโลยี

  1. คุณโต กิตติศักดิ์ โควินท์ทวีวัฒน์ เจ้าของเพจ Billionaire VI และนักลงทุนหุ้นต่างประเทศ ที่มาพร้อมประสบการณ์ทำงานในวงการ cloud computing และ AI
  2. คุณหลิน วีระพงษ์ ธัม เลขาธิการสมาคม Thai VI และนักลงทุนเน้นคุณค่า ผู้เขียนหนังสือดัง 30 กลยุทธ์หุ้นเปลี่ยนชีวิต
  3. คุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Fintech เพื่อการลงทุน Jitta และ Jitta Wealth และมีประสบการณ์ลงทุนหุ้นสหรัฐฯ มากว่า 10 ปี

ที่ได้มาพบกันใน Facebook Live “ปั้นพอร์ตโตด้วยหุ้นเทค เมกะเทรนด์ขับเคลื่อนโลก” เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 เพื่อพูดคุยกันในประเด็นร้อนของหุ้นเทคโนโลยี ตอบข้อสงสัยของนักลงทุนที่กำลังศึกษาหรือกำลังหาตัวช่วยในการลงทุนกับกลุ่มหุ้นเมกะเทรนด์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น

  • ทำไม Covid-19 ระบาดหนัก แทบทุกอุตสาหกรรมซบเซา แต่ดัชนี Nasdaq ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กลับพุ่งทะลุ 10,000 จุด
  • วิถีชีวิต new normal มีผลต่อพื้นฐานหุ้นเทคโนโลยีในระยะยาวอย่างไร และเทคโนโลยีกลุ่มไหนได้อานิสงส์สูงสุด
  • คุณจะคัดกรองหาหุ้นเทคโนโลยีที่น่าลงทุน ตามแนวเน้นคุณค่าได้อย่างไร ต้องพิจารณาอะไรเป็นพิเศษบ้าง

นอกจากนี้ยังได้เปิดตัว Jitta Ranking – U.S. Tech กองทุนส่วนบุคคลเพื่อการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีระดับโลก บริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีโดย Jitta Wealth เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาวิเคราะห์หุ้นเทคโนโลยีรายตัวด้วยตนเอง หรือรีวิวพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ พิสูจน์ผลตอบแทนแล้วว่าชนะดัชนี Nasdaq และ S&P 500 ในระยะยาว

สนใจลงทุนหุ้นเทคโนโลยีต่างประเทศด้วยเทคโนโลยี Jitta Wealth ใช้อัลกอริทึม Jitta Ranking คัดสรรหุ้นเทคพื้นฐานดี เติบโตสูง ปรับพอร์ตอัตโนมัติทุก 3 เดือน ค่าธรรมเนียมต่ำและยุติธรรม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและเปิดบัญชีได้ที่ https://bit.ly/32MGIWM

หุ้นเทคโนโลยีกับ Covid-19

วิกฤต Covid-19 ที่ส่งผลรุนแรงกระทบธุรกิจแทบทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงประมาณ 0.7% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2563

แต่ดัชนี Nasdaq ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กลับปรับตัวขึ้นมา 15% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ซึ่งวิทยากรทั้ง 3 ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ดังนี้

  • จะมี Covid-19 หรือไม่ หุ้นเทคโนโลยีก็โตอยู่แล้ว ก่อนจะเกิด Covid-19 กลุ่มเทคโนโลยีเป็นกลุ่มเดียวที่เติบโตดี โดย “เติบโต” ในที่นี้หมายถึงการเติบโตของรายได้ ซึ่งสูงถึง 19% ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 เมื่อ Covid-19 เริ่มระบาดหนัก อัตราการเติบโตก็ยังสูงถึง 17.08%
  • Covid-19 เป็นเพียงเเค่ตัวเร่ง Covid-19 ทำให้ทุกคนต้องดำเนินชีวิตแบบ new normal เป็นชีวิตวิถีใหม่ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเกือบแทบจะทุกอย่าง ทำให้ธุรกิจเทคโนโลยีหลายแห่งได้รับอานิสงส์ รายได้เติบโต และได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น เช่น DocuSign ซอฟต์แวร์เพื่อการลงนามเอกสารแบบดิจิทัล หรือ e-signature ต้องเข้าไปช่วยองค์กรหลายแห่งปรับตัวรับ digital transformation แบบเร่งรัด ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3,000 ต่อไตรมาส เป็น 10,000 และรายได้ไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 39% เป็น $297 ล้าน
  • หุ้นเทคโนโลยีฟื้นตัวดีที่สุดจากวิกฤตการเงินปี 2552 ดัชนี Nasdaq 100 ที่มีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอยู่เป็นส่วนใหญ่ ฟื้นตัวกลับมากว่า 700% เมื่อเทียบกับ S&P 500 ที่ฟื้นกลับมาได้ 400% หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
  • ธุรกิจที่มูลค่าสูงที่สุดในโลกปัจจุบันอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีทั้งหมด สังเกตได้ว่า หลังวิกฤตดอทคอม ยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดหุ้นจะมาจากหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น Walmart ที่มาจากกลุ่มค้าปลีก Citibank ที่มาจากกลุ่มการเงิน เเต่ไม่ถึง 2 ทศวรรษต่อมา ยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดหุ้นกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook Apple Amazon หรือ Alphabet (Google) โดยมีมูลค่ารวมกันเป็นสองเท่าของกลุ่มยักษ์ใหญ่เดิม

อย่างไรก็ตาม ที่หุ้นเทคโนโลยีราคาสูงขึ้นในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางสหรัฐฯ การลงทุนที่ถูกต้อง จึงควรเลือกหุ้นพื้นฐานดีลงทุนระยะยาวเป็นหลัก เพราะถ้าธนาคารสหรัฐฯ ออกนโยบายดึงเงินออกจากระบบในอนาคต หุ้นบางตัวที่พื้นฐานไม่ดีจริง ราคาจะตกอย่างเเน่นอน

รูปแบบธุรกิจหุ้นเทคโนโลยี

จริงอยู่ว่าตอนนี้บริษัทเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตสูงนั้นมีอยู่เยอะมากๆ เเต่บริษัทที่จะอยู่ไปนานๆ สามารถกอบโกยส่วนแบ่งตลาด หรือเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจในวงกว้างได้นั้น มีเพียงบริษัทที่โมเดลธุรกิจดีเเละแข็งแกร่งเท่านั้น

หุ้นเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่หลากหลาย แบ่งได้หลายประเภทแล้วแต่ใครจะถนัดมองแบบไหน เช่น ธุรกิจ e-commerce ก็แบ่งเป็นกลุ่มมีแพลตฟอร์มเเละจัดจำหน่ายเอง เรียกว่าทำหมดเองทุกอย่าง เเบบ Amazon หรือ JD เเละกลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นตลาดนัดให้คนเข้ามาซื้อขายกันอย่าง Alibaba หรือ Ebay ซึ่งสิ่งที่เเตกต่างกันของ 2 กลุ่มนี้คือวิธีการหารายได้

บริการแบบ freemium หรือให้บริการฟรี เช่น YouTube ให้คนเข้ามาดูวิดีโอโดยไม่คิดค่าบริการ รายได้หลักก็จะมาจากการขายโฆษณา ซึ่งผู้ใช้บริการอย่างเราควรตระหนักว่า แพลตฟอร์มไหนที่ใช้ฟรี ตัวเรานี่เองเป็นสินค้าของบริษัทนั้นๆ อย่าง YouTube ก็เก็บข้อมูลของผู้ใช้งานเพื่อไปขายโฆษณา เเละที่คุณต้องทนดูโฆษณาก็ถือว่าตอบโจทย์บริษัทที่จ่ายเงินให้ YouTube เเล้ว

โลกเสมือน

ในอดีตโลกของเรามีธุรกิจใด หรือสินทรัพย์ใดที่คนต่างต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ บริษัทเทคโนโลยีก็จะทำเเบบเดียวกัน เพียงแต่ทำบนอินเทอร์เน็ต เรียกได้ว่าเป็น “โลกเสมือน”

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการ cloud solutions ลงทุนสร้างเครือข่ายเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ กำลังประมวลผลและสมรรถนะในการจัดเก็บข้อมูลรวมแล้วมหาศาล เพื่อปล่อยให้ธุรกิจอื่นๆ มาเช่าใช้ จะได้ไม่ต้องไปลงทุนด้วยตัวเอง ในที่นี้ ผู้ให้บริการ cloud solutions ก็เปรียบเสมือนผู้ปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์

หรือแม้แต่ตำรวจในโลกแห่งความจริง พอไปอยู่บน “โลกเสมือน” ก็จะเป็นหุ้น Cloudstrike ที่ทำหน้าที่ดูเเลความเรียบร้อยของระบบ cloud computing

ธุรกิจหรือบริการในโลกแห่งความจริง กลายมาเป็นธุรกิจเทคโนโลยีในโลกเสมือนได้แทบจะทั้งหมด พูดได้เลยว่า “โลกจริงมีอะไร โลกเสมือนก็มีอย่างนั้น” ก็ขึ้นอยู่กับนักลงทุน ที่ต้องวิเคราะห์ว่าบริการใดในโลกจริงมีรูปเเบบที่น่าสนใจ เเละสามารถไปได้ไกลในอนาคต เพื่อที่จะเเสวงหาบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจเหมือนกัน เเต่อยู่ในโลกเสมือน

ธุรกิจเเทนที่

หุ้นเทคโนโลยีที่มาใหม่ จะมาทดเเทนธุรกิจไหน หรือมาทำหน้าที่เเทนอะไร ขึ้นอยู่กับว่าทำได้ดีกว่าหรือราคาถูกกว่าหรือเปล่า

คุณสามารถไปดูธุรกิจเก่าที่เทคโนโลยีกำลังจะมาเเทนที่ ว่ามีมูลค่าตลาด (market cap.) เท่าไหร่ เพื่อที่จะได้เห็นภาพว่า ถ้าหากสามารถเข้ามาแทนที่ธุรกิจแบบเก่าได้ โอกาสการเติบโตของหุ้นเทคโนโลยีนั้นมีมากน้อยแค่ไหน และจะมีรายได้ประมาณเท่าไหร่

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีดโกนที่ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์บอกว่าไม่มีอะไรมาทดเเทนได้อย่าง Gillette ที่ครองตลาดมานาน วันดีคืนดี ก็มี Dollar Shave Club เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปได้ จนสุดท้าย Unilever ต้องขอซื้อไปในราคา $1 พันล้าน เพื่อไปต่อยอดธุรกิจของตัวเอง

คำเเนะนำ คือ คุณควรเลือกดูกลุ่มอุตสาหกรรมที่คุณถนัดเเละสนใจ เพราะในตอนนี้ในกลุ่มเทคโนโลยีเเทบจะมีทุกรูปเเบบธุรกิจ

SaaS

ธุรกิจแบบ SaaS หรือ Software as a Service คือ บริษัทเทคโนโลยีที่สร้างซอฟต์แวร์ขึ้นมาแล้วให้ลูกค้า “เช่า” ใช้บริการ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้โอกาสเติบโตสูงมาก เพราะรวมๆ แล้วต้นทุนต่ำ ขยายตัวได้เยอะ มีแนวโน้มทำกำไรให้นักลงทุนได้มหาศาล ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้

Subscription

SaaS เก็บค่าบริการเหมือนค่าเช่า ทำให้มีรายได้ค่อนข้างมั่นคงและคาดการณ์ได้ คุณแค่ผูกบัตรเครดิตครั้งเดียว บริษัท SaaS ก็จะตัดเงินคุณไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่คุณยังต้องใช้บริการ

เมื่อก่อนปู่บัฟเฟตต์บอกว่า หุ้นเทคโนโลยีประเมินมูลค่าได้ยาก เนื่องจากไม่รู้ว่าในอนาคตรายได้จะเป็นเท่าไร แต่พอใช้ระบบสมาชิกแบบนี้ ก็สามารถประเมินมูลค่าได้ง่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ยังสามารถขายบริการเสริมและฟังก์ชันขั้นสูง หรือ upsell ได้ แถมยังมีการประหยัดจากขนาด หรือ economies of scale สูง เพราะฐานลูกค้าที่มีอยู่ จะเป็นเเหล่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของบริษัทจากการอัปเกรด ทางบัญชีจะเรียกว่า net dollar expansion

Stickiness

Stickiness คือ การที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากจนขาดไม่ได้ หรือ “ติด” นั่นเอง บริษัทที่มี stickiness สูง ลูกค้าไม่ค่อยเปลี่ยนไปใช้เจ้าอื่น แสดงว่าสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณค่ากับลูกค้าและตอบโจทย์การใช้งานได้ดีมาก หนึ่งในกุญแจทำให้ลูกค้า “ติด” ก็คือ ข้อมูล ยิ่งลูกค้าเก็บข้อมูลไว้ในผลิตภัณฑ์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งยากที่จะเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มคู่แข่ง หรือเรียกว่ามี switching cost ที่สูง นอกจากนี้ ข้อมูลยังช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้ามากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

การเพิ่มฐานลูกค้าจึงเป็นอีกส่วนสำคัญ โดยบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะมี revenue run rate คือการหักรายได้ออกไปส่วนหนึ่ง เพื่อนำไปขยายฐานลูกค้า

Cloud computing

Cloud computing ช่วยให้บริษัทเทคโนโลยีสามารถดึงเอาสมรรถนะในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์หลายๆ แห่งที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกมาใช้งานพร้อมๆ กัน เพิ่มความรวดเร็วให้การจัดการข้อมูล และประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้ลูกค้า บริษัทไม่ต้องลงทุนซื้อฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์มาติดตั้งเอง จ่ายค่าบริการตาม “พื้นที่” เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้จริง (pay per use) จึงยืดหยุ่น ลดต้นทุนไปได้มาก

Upsell

การขายสินค้าหรือบริการที่มีราคาสูงกว่าให้ลูกค้าที่กำลังตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่มีคุณสมบัติเหนือกว่าที่ลูกค้ากำลังจะซื้อ ซึ่งข้อมูลของเราที่บริษัท SaaS มีอยู่นั้น ถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้ามาขึ้นไปอีก ทำให้สามารถ upsell และเพิ่มรายได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรณีศึกษา Salesforce

Salesforce เป็นผู้บุกเบิกแพลตฟอร์ม CRM (customer relationship management) และโมเดลธุรกิจแบบ SaaS โดยการยกระบบจัดการลูกค้าขึ้นไปไว้บน cloud และให้บริการลูกค้าผ่านอินเทอร์เน็ต Salesforce IPO ในปี 2547 พร้อมๆ กับ Google เเต่ราคาหุ้นของ Salesforce สูงกว่า Google ถึง 2 เท่า

แม้ดูแล้วจะยังไม่มีกำไร (net income margin อยู่ที่ -0.92%) แต่รายได้ค่อนข้างดี และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ Salesforce นำรายได้เหล่านี้ไปต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น จากเดิมโฟกัสที่ด้านการขาย ตอนนี้หันมาจับทางการตลาดมากขึ้น โดยใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูล ช่วยลูกค้าเพิ่มยอดขายของตนเอง ถือเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งจะช่วยให้ Salesforce สามารถกินส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนธุรกิจขยายใหญ่ เมื่อไหร่ที่ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดลง กำไรของ Salesforce จะมีมูลค่ามาก

6 ปัจจัยวิเคราะห์หุ้นเทคเชิงคุณภาพ

ก่อนจะเริ่มวิเคราะห์ธุรกิจเทคโนโลยีที่คุณสนใจ ควรศึกษาก่อนว่า ขนาดของตลาดที่ธุรกิจต้องการจะครอบครองนั้น ใหญ่มากแค่ไหน นั่นคือ TAM หรือ total addressable market เมื่อคุณรู้ขนาดของตลาดแล้ว คุณก็จะเห็นภาพอนาคตของธุรกิจได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถเจาะลึกดู 6 ปัจจัยที่สำคัญ ที่จะช่วยดันให้ธุรกิจเทคโนโลยีเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ได้แก่

1. ต้นทุนในการขยายฐานลูกค้าสูงแค่ไหน

ธุรกิจเทคโนโลยีที่ดีควรมีต้นทุนในการขยายฐานลูกค้าต่ำ เพราะชี้ให้เห็นว่าธุรกิจมีคุณค่าสำหรับลูกค้า ลูกค้าไม่ไปใช้ของเจ้าอื่น ซึ่งช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ส่งผลให้ต้นทุนในการเพิ่มฐานลูกค้าของหุ้นเทคโนโลยี โดยเฉพาะ Software as a Service (SaaS) ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะคนจำนวนมากเลือกเข้ามาใช้งานเองโดยไม่ต้องทุ่มงบทำการตลาด

2. ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากแค่ไหน (Product Variety)

เมื่อลูกค้าสนใจสมัครใช้บริการแล้ว บริษัทจะเพิ่มยอดขายได้อย่างไร วิธีหนึ่งก็คือเสนอขายบริการเสริมอื่นๆ เข้าไปด้วย (Upsell) จะทำให้บริษัทสร้างรายได้ได้มากขึ้นจากจำนวนลูกค้าที่มีเท่าเดิม

3. มีจำนวนผู้ใช้งานมากน้อยแค่ไหน (Network Effect)

ถ้าทั้งโลกมีคนใช้โทรศัพท์เพียงแค่คนเดียว โทรศัพท์ของคุณก็ไม่มีประโยชน์ เพราะคุณโทรหาใครไม่ได้ จำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นจึงส่งผลให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะคน “ติด” กับผลิตภัณฑ์หรือบริการมากขึ้นนั่นเอง

4. บริษัทมีการประหยัดจากขนาดมากแค่ไหน (Economies of Scale)

บริษัทเทคโนโลยีที่ดี สินค้าหรือบริการ 1 อย่างต้องสามารถเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองได้ กล่าวคือ สามารถหารายได้เพิ่มเข้ามาได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องพัฒนาอะไรเพิ่มเติมมากนัก ในกรณีนี้ หุ้นดังบางตัว คุณหลินบอกว่าไม่ค่อยมี economies of scale เท่าไหร่ เพราะต้องคอยผลิตของใหม่ๆ ออกมาอยู่เรื่อยเพื่อรักษาลูกค้า และดึงดูดลูกค้าใหม่

อย่าง Netflix เป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยมี economies of scale เพราะต้องผลิตรายการใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ถ้าผลิตออกมาสู้คู่เเข่งไม่ได้ ลูกค้าก็พร้อมจะเลิกใช้บริการเเล้วหันไปใช้บริการของคู่เเข่งที่น่าสนใจกว่า

5. ลูกค้า “ติด” ผลิตภัณฑ์หรือบริการมากแค่ไหน (Stickiness)

สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจเทคโนโลยีต้องคำนึงถึง คือ switching cost หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากลูกค้าเปลี่ยนไปใช้บริการบริษัทอื่น ถ้า switching cost ต่ำ ก็หมายความว่า ลูกค้าไม่ค่อย “ติด” เท่าไหร่ อยากจะเปลี่ยนใจไปใช้บริการอื่นง่ายนิดเดียว ในทางกลับกัน หาก switching cost สูง การเปลี่ยนผู้ให้บริการยุ่งยาก ไม่คุ้มค่า หรือมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ต้องไตร่ตรองหนัก สุดท้ายลูกค้าก็อาจจะเลือกใช้บริการต่อไปดีกว่า บริษัทเทคโนโลยีที่มี switching cost สูงจะได้เปรียบกว่า และมีแนวโน้มที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีกยาวนาน

6. บริการโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งมากแค่ไหน (Unique Abilities)

บริษัทที่ให้บริการในลักษณะของ SaaS จะมีคู่เเข่งอยู่มากในปัจจุบัน การที่จะทำให้ตัวเองโดดเด่นหรือเเตกต่างจากคนอื่นนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ความเเตกต่างนี้ เรียกว่า unique abilities ยิ่งมีมาก ก็ยิ่งทำให้คู่แข่งขโมยส่วนแบ่งการตลาดไปจากบริษัทได้ยากขึ้น

อัตราส่วนสำคัญสำหรับการประเมินมูลค่าหุ้นเทคโนโลยี

การประเมินหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่หนังสือให้ไปอ่านหาคำตอบ หรือวิธีการที่แน่นอนให้ทำตาม ในเบื้องต้น จึงต้องลองฟังจากนักวิเคราะห์หลายๆ คนและสังเกตดูว่า เวลาพูดถึงหุ้นเทคโนโลยีนั้น เขาพิจารณาตัวเลขใด อัตราส่วนใดกันบ้าง แล้วจึงลองนำมาปรับใช้สร้างเป็นโมเดลของตนเองดู

โดยอัตราส่วนหลักๆ ที่นักวิเคราะห์ชอบใช้กัน ได้แก่

Enterprise value (มูลค่าสุทธิของกิจการ)

มูลค่าสุทธิของกิจการ = มูลค่าตามตลาด + หนี้สิน – เงินสด

มูลค่าสุทธิของกิจการ จะปรับมูลค่าตลาด (market cap.) ให้เหมาะสมต่อการวิเคราะห์บริษัทเทคโนโลยี ที่ปกติแล้วหนี้สินน้อย เงินสดเยอะ

Price to sales (ราคาต่อยอดขาย)

ราคาต่อยอดขาย = ราคาหุ้น / ยอดขายต่อหุ้น

คล้ายๆ กับ P/E เเต่เนื่องจากหุ้นเทคโนโลยีหลายๆ ตัวยังไม่มีกำไร จึงไม่สามารถคำนวณ eps ได้ ต้องใช้ P/S ค่านี้แทน หากอัตราส่วนนี้ต่ำ แปลว่าหุ้นยังราคาถูกอยู่ แต่หากแพงกว่าค่าเฉลี่ย ก็เป็นไปได้ว่าหุ้นแพงเกินไปแล้ว

อัตราการเติบโตของรายได้

กระแสเงินสดที่กิจการได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการ การเติบโตหลักๆ ของบริษัทนั้นเราจะรู้ได้จากการเติบโตของยอดขาย หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีหลายตัว อย่างเช่น Salesforce ที่ได้ยกตัวอย่างไป ยังไม่มีกำไรเลยเพราะนำรายได้ที่ได้มาไปพัฒนาธุรกิจต่อ

Free cash flow (กระแสเงินสดอิสระ)

กระแสเงินสดอิสระ = กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน – ค่าใช้จ่ายในการลงทุนซื้อสินทรัพย์เพื่อใช้ในการดําเนินงาน (capital expenditure)

ใช้ดูว่าหลังจากหักเงินที่ต้องเอาไปหมุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ และค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นเงินเดือน ภาษี ดอกเบี้ย แล้ว เหลือเป็นเงินสดที่เอาออกมาจ่ายปันผล ซื้อหุ้นคืน หรือเก็บไว้ขยายธุรกิจ เท่าไหร่ เงินไหลเวียนในบริษัทมาก ก็สามารถนำไปลงทุนต่อยอดธุรกิจได้ แต่ถ้าเงินหมดเมื่อไหร่ ธุรกิจก็ไม่สามารถไปต่อ

SG&A to sales (ค่าใช้จ่ายในการบริหารต่อยอดขาย)

ค่าใช้จ่ายในการบริหารต่อยอดขาย (%) = ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายทั่วไปและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการทำธุรกิจ / รายได้

รายได้ 1 บาทที่บริษัททำได้ จะต้องใช้จ่ายเป็นค่าเกี่ยวกับการบริหารจัดการ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าโฆษณาสินค้า ค่าซื้ออุปกรณ์สำนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ เท่าไหร่ ยิ่งสัดส่วนค่าใช้จ่าย SG&A น้อยเท่าไหร่ ยิ่งดี บ่งบอกถึงการใช้จ่ายที่ไม่ฟุ่มเฟือย เหลือกำไรให้ธุรกิจนำไปต่อยอดเยอะขึ้น แถมถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทก็ยังคงประคับประครองตัวเองไปได้โดยต้องปลดพนักงาน

Net dollar expansion

ลูกค้าเก่าจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ โดยเฉลี่ยแล้วบริษัทกลุ่ม SaaS จะมี net dollar expansion ประมาณ 105-110% หมายความว่า บริษัทเหล่านี้ทำรายได้จากลูกค้าเก่าได้เพิ่มมากขึ้น โดยที่ยังไม่รวมรายได้จากลูกค้าใหม่ด้วยซ้ำไป หากต่ำกว่า 100% แสดงว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการอาจจะมีปัญหา ไม่สามารถรักษาฐานลูกค้าไว้ได้

Retention rate

การกลับมาใช้บริการของลูกค้า คล้ายกับ net dollar expansion เเต่จะวัดความ “ติด” ของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการมากกว่า หากธุรกิจดี มี switching cost สูงๆ คนไม่ค่อยย้ายไปใช้คู่แข่ง retention rate ควรที่อยู่ประมาณ 90-95%

ฟองสบู่หรือไม่ ดูจากอะไร?

ปัจจุบัน หลายคนกลัวว่าการที่หุ้นเทคโนโลยีพุ่งสูงมาก จะเกิดเป็นฟองสบู่ คล้ายกับในยุค 90 จนทำให้กลายเป็นวิกฤตดอทคอมรอบ 2

แต่หากลองมองให้ลึกลงไปแล้วจะเห็นว่า การที่หุ้นเทคโนโลยีพุ่งสูงขึ้นในปัจจุบันนี้ ไม่ได้แพงเหมือนหุ้นดอทคอมสมัยก่อนเลย โดย P/E ปัจจุบันของกลุ่มเทคโนโลยีอยู่ที่ 32 ในขณะที่สมัยดอทคอมนั้นขึ้นไปสูงถึง 72 ส่วนค่า P/S ตอนนี้ก็ต่ำกว่าตอนวิกฤตดอทคอมเป็น 100 เท่า

นั่นก็เพราะบริษัทดอทคอมสมัยก่อนส่วนใหญ่ไม่มีรายได้หรือกำไร แต่แย่งกัน IPO เข้าตลาดเพื่อที่จะทำกำไรกลายเป็นเศรษฐีอินเทอร์เน็ต ส่วนนักลงทุนก็มองว่าหุ้นเหล่านั้นเป็น “หุ้นอนาคต” แย่งกันซื้อ จนราคาพุ่งขึ้นสูงเกินกว่าพื้นฐาน กลายเป็นฟองสบู่อย่างที่เราทราบกันดี

ความเเตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบัน

โมเดลธุรกิจ

ในช่วงฟองสบู่ดอทคอม หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีไม่สามารถหากำไรที่เเน่นอนได้ ทำให้ตอบไม่ได้ว่าทำไมราคาหุ้นถึงขึ้นไปสูงขนาดนั้น ในขณะที่ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ มีโครงสร้างรายได้ที่ชัดเจน เเละมีอัตราการเติบโตที่สูงควบคู่ไปด้วย

นอกจากนี้ หลายๆ บริษัทเมื่อเห็นว่าวิธีการสร้างรายได้ปัจจุบันเริ่มอิ่มตัว ก็เริ่มสร้างสรรค์วิธีการหารายได้แนวใหม่ๆ ขึ้นมาได้เรื่อยๆ ทำให้บริษัทยังเติบโตต่อไปได้อีก เช่น YouTube Premium ที่เป็นระบบสมาชิก ให้คนจ่ายเงินเพื่อปิดโฆษณา

IPOism

จุดหมายที่ยิ่งใหญ่ของบริษัทดอทคอมสมัยก่อน คือการ IPO เมื่อเห็นบริษัทก่อนหน้า IPO แล้วราคาหุ้นพุ่งสูงมาก บางบริษัทสูงถึง 3 เท่าในวันเดียว เหล่า venture capitalist หรือ VC ที่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจเทคโนโลยีมากพอที่จะประเมินมูลค่าอย่างถูกต้อง ก็ประเมินมูลค่าธุรกิจดอทคอมกันแพงมาก และแข่งกันเข็นสตาร์ทอัพเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นว่าเล่น จนถึงจุดที่บริษัทดอทคอม IPO กัน 400 หุ้นในปีเดียว เรียกได้ว่าทุกคนเน้นเก็งกำไรกันหมด ไม่ได้สนใจทำธุรกิจกันเเม้เเต่น้อย

แต่ปัจจุบัน ทุกคนเข้าใจลักษณะธุรกิจเทคโนโลยีมากขึ้น และประเมินมูลค่ากันบนพื้นฐานรายได้ที่ธุรกิจสร้างได้จริง และส่วนใหญ่ไม่ได้มีจุดประสงค์เข้าทำกำไรจากการ IPO เหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว

ปัจจัยที่ 5 ของชีวิต

ยุค 90 เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิต คนยังใช้งานอินเทอร์เน็ตกันน้อยมาก ตื่นเต้นที่สุดก็น่าจะเป็นการส่งอีเมล แต่สมัยนี้ ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน จนทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต นั่นหมายถึง ขนาดของตลาดที่ใหญ่ ครอบคลุมทั่วโลก ส่งผลให้ธุรกิจเทคโนโลยีที่มีความสามารถ ขยายตัวได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด

เมื่อคุณลองเปรียบเทียบสถานการณ์ตลาดทั้งสองแล้ว จะเห็นว่าความกังวลเรื่องฟองสบู่แตกแบบยุคดอทคอมนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวนักในยุคปัจจุบัน

ดังนั้น หุ้นเทคโนโลยี จึงเป็น “หุ้นแห่งอนาคต” ที่ทุกคนควรหาโอกาสจับจอง และแนวทางวิเคราะห์หุ้นที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะช่วยให้คุณสามารถคัดกรองหุ้นที่ดี น่าลงทุน มาเสริมพอร์ตให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น

แต่หากไม่สะดวกลงทุนด้วยตนเอง คุณสามารถวางใจให้ Jitta Wealth ช่วยจัดการให้ได้ ผ่านกองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking – U.S. Tech ที่จะพาคุณเป็นเจ้าของหุ้นเทคโนโลยีพื้นฐานดี เติบโตสูง น่าลงทุน ในตลาด Nasdaq และ NYSE ของสหรัฐฯ โดยการใช้เทคโนโลยีคัดเลือกหุ้น และปรับพอร์ตอัตโนมัติ พิสูจน์แล้วว่าสร้างผลตอบแทนระยะยาวชนะดัชนีตลาด

สนใจลงทุนหุ้นเทคโนโลยีต่างประเทศด้วยเทคโนโลยี Jitta Wealth ใช้อัลกอริทึม Jitta Ranking คัดสรรหุ้นเทคพื้นฐานดี เติบโตสูง ปรับพอร์ตอัตโนมัติทุก 3 เดือน ค่าธรรมเนียมต่ำและยุติธรรม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและเปิดบัญชีได้ที่ https://bit.ly/32MGIWM


อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ