by Krit Hoonsuwan
วันที่ 22 มี.ค. 2561 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 23 มี.ค. 2561
3 สัญญาณเตือนภัยหุ้นอันตราย

“จะรู้ได้อย่างไร ว่าบริษัทที่คุณกำลังเข้าไปลงทุนจะไม่กลายเป็นหุ้นชวนผวาแห่งปี”

factsheetweek5(edited2)Blog

ยังจำปีที่แล้วได้ใช่ไหมครับ…

ปีที่หุ้นขวัญใจนักลงทุนหลายตัวจู่ๆ ก็โดนห้อยป้าย SP (Trading Suspension หรือระงับการซื้อขาย) เนื่องจากบริษัทมีปัญหา นักลงทุนจำนวนมากสตั๊น ขายหุ้นทิ้งไม่ได้

ทิ้งไว้เพียงกรณีศึกษาอย่าง RICH และ EARTH ที่คอยเตือนใจให้นักลงทุนอย่างเรา ต้องโฟกัสกับการลดความเสี่ยงขาดทุน ก่อนการสร้างผลตอบแทนสูงๆ เสมอ

อย่างที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ย้ำนักย้ำหนาว่า “กฎข้อที่ 1 คือ อย่าขาดทุน

จะไม่ขาดทุน ต้องดูให้ละเอียดถี่ถ้วนว่าบริษัทที่คุณคิดจะลงทุนด้วยนั้นมีสัญญาณไม่ดีอะไรบ้าง ได้ยินชื่อ สนใจบริษัทไหน ก็มาดู Jitta Score Jitta Line รวมทั้ง Jitta Factors และ Jitta Signs ประกอบการตัดสินใจในเบื้องต้นก่อน

ถ้าอยากวิเคราะห์ลงลึกไปอีก ค่อยเข้าไปดูงบการเงินและอัตราส่วนที่สำคัญต่างๆ ใน Jitta FactSheet ย้อนหลัง 10 ปี หรือ 10 ไตรมาส ซึ่งดูได้ทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ คุณจะได้เห็นสภาวะทางธุรกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ใครวิเคราะห์งบ RICH และ EARTH ไว้ก่อนจะโดนแขวนป้าย จะเห็นเลยครับ ว่าสัญญาณเตือนภัยหลายๆ อย่างที่ทั้งสองบริษัทนั้นมีเหมือนกัน เอามาใช้เป็นแนวทางวิเคราะห์หุ้นอื่นๆ เพื่อประเมินความเสี่ยง ลดโอกาสในการเจ็บตัวภายหลังได้  

สัญญาณเตือนภัยที่ว่า…มีดังนี้ครับ

1. บริษัททำธุรกิจอะไร

อย่างแรกที่นักลงทุนทุกคนควรทราบก่อนตัดสินใจลงทุนกับบริษัทนั้นๆ คือบริษัททำอะไร ข้อมูลนี้คุณตรวจสอบได้ง่ายๆ ในกล่อง Company Description ที่มีเว็บไซต์ของบริษัทให้คุณคลิกเข้าไปดูเพิ่มเติมด้วย

for blog-01.png

RICH เป็นบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายเหล็ก ส่วน EARTH เป็นผู้นำเข้าและส่งออกถ่านหิน สิ่งที่ทั้งสองบริษัทมีคล้ายกันคือการทำธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ อันเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างผันผวน คาดการณ์ยาก

แต่เท่านี้ก็ยังไม่สามารถตัดสินได้ครับว่า บริษัทประเภทนี้ควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ เพราะบริษัทประเภทนี้หลายๆ แห่งก็มีความมั่นคงสูงมาก

ดังนั้น สิ่งที่คุณควรจะดูต่อไปคือ…

2. บริษัทมีความมั่นคงมากแค่ไหน

คุณบอกได้ง่ายๆ ว่าบริษัทมั่นคงหรือไม่ เพียงดูตัวเลขไม่กี่ตัวในงบการเงินเท่านั้นครับ

ตัวเลขที่ถูกใช้กันมากที่สุดคือ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีสัดส่วนหนี้สินเมื่อเทียบกับเงินทุนของบริษัทเป็นอย่างไร

หากมีหนี้สินมากกว่าเงินทุน ก็แสดงว่าบริษัทกู้เงินมาใช้ในอัตราส่วนที่มากกว่าส่วนทุนของบริษัทเองมีอยู่

ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนก็จะมากกว่า 1 ถือเป็นสัญญาณที่ต้องให้ความสำคัญตัวหนึ่ง

EARTH – D/E

คลิกที่ภาพเพื่อดูงบ EARTH บน Jitta FactSheet

RICH – D/E

Screen Shot 2561-03-22 at 3.40.10 PM

คลิกที่ภาพเพื่อดูงบ RICH บน Jitta FactSheet

เมื่อเข้าไปดูใน Jitta FactSheet จะพบว่า EARTH มีอัตราส่วน D/E เฉลี่ยประมาณ 2 เท่า ส่วน RICH ก็เคยสูงสุดถึง 10 เท่า แถมปี 2016-2017 กลายเป็นติดลบ เพราะผิดนัดชำระหนี้จนถูกฟ้อง ต้องนำเงินส่วนของผู้ถือหุ้นไปจ่ายหนี้จนหมด

แม้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจะช่วยให้คุณเห็นภาพรวมของธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่หนี้สินนั้นมีหลากหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีระดับความเสี่ยงแตกต่างกันไป ทำให้ต้องดูรายละเอียดลึกลงมาอีกขั้นหนึ่ง  

3. บริษัทมีหนี้สินความเสี่ยงสูงมากแค่ไหน

หนี้สินที่เสี่ยงมากที่สุดคือหนี้สินระยะสั้นที่มีดอกเบี้ย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี สาเหตุที่เสี่ยงมากที่สุด ก็เป็นเพราะหากไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ภายในกำหนด ก็อาจจะถูกฟ้องล้มละลาย

แต่หนี้สินระยะสั้นที่มีดอกเบี้ยจริงๆ แล้วจะไม่เป็นปัญหาเลย ถ้าบริษัทหาเงินสดมาจ่ายหนี้ได้

เงินสดที่ว่านี้ควรจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท (cash from operating activities) ไม่ควรมาจากการเพิ่มทุน หรือการกู้ยืม เพราะหากเป็นสองอย่างหลังแปลว่าบริษัทน่าจะมีปัญหา

มาดู cash from operating activities ของ RICH บนหน้า Jitta FactSheet กันก่อนครับ

RICH – Cash from Operating Activities

จากนั้นคลิกไปที่แท็บ FINANCIALS แล้วคลิกปุ่ม BALANCE SHEET จะเห็นช่องที่แสดงค่า Notes Payable/Short Term Debt กับ Current Port. of LT Debts/Capital Leases ซึ่งทั้งสองค่านี้ เป็นหนี้สินระยะสั้นที่มีดอกเบี้ยครับ

RICH – Short-term debts with interests

for blog-03

จะเห็นว่า RICH มีทรัพย์สินรวมประมาณ 2,800 ล้านบาท แต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นหนี้สินระยะสั้นที่มีดอกเบี้ยมากถึง 2,300 ล้านบาท ในขณะที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไม่สม่ำเสมอและมีหลายปีติดลบ เท่านี้ก็น่าจะเห็นภาพบ้างแล้วว่าบริษัทนี้น่าจะมีปัญหาในการชำระหนี้แน่ๆ

คราวนี้มาดู EARTH กันบ้าง

EARTH – Cash from Operating Activities

Screen Shot 2561-03-22 at 4.45.17 PM.png

EARTH – Short-term debts with interests

for blog-02.png

ส่วน EARTH มีทรัพย์สินรวมทั้งหมด 34,000 ล้านบาท แต่มีส่วนหนี้สินระยะสั้นที่มีดอกเบี้ยมากกว่า 14,000 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีกระแสเงินสดติดลบหลายปี ดูท่าแล้วก็น่าจะมีปัญหาในการชำระหนี้เช่นกัน

สรุป

สังเกตได้เลยครับว่า บริษัทที่มีปัญหาอย่าง EARTH และ RICH มีหนี้สินระยะสั้นที่มีดอกเบี้ยสูง แต่หาเงินมาจ่ายหนี้ไม่ได้ เพราะกระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบหรือไม่สม่ำเสมอ

แล้วยิ่งเป็นธุรกิจโภคภัณฑ์ ที่กำไรขึ้นอยู่กับขึ้นอยู่กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขึ้นลงตลอดเวลา แบบนี้ยิ่งเสี่ยงหนักเลยครับ

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเจอบริษัทไหนเข้าข่ายเหล่านี้ ควรวิ่งหนีไปให้ไกล ในตลาดหุ้นยังมีบริษัทดีๆ รอให้คุณลงทุนอีกมากมาย ไม่ต้องเสียดาย

เพราะการขาดทุนน่าเสียดายกว่าเยอะ!

เมื่อเงินต้นหายไปแล้ว จะเอากลับคืนมามันยากยิ่งกว่าตอนเสียไปหลายเท่า ลองคิดง่ายๆ ครับ สมมติคุณขาดทุน 50% เหลือเงินอยู่อีก 50% จะใช้เงินเพียงครึ่งเดียวที่เหลืออยู่ ทำกำไรให้เงินกลับมาเท่าเงินต้นเดิม คุณต้องทำกำไร 100%

ลำบากรากเลือดแน่ๆ ครับแบบนั้น…

ดังนั้นการ “ไม่ขาดทุน” จึงต้องมาก่อนการ “ทำกำไร” เสมอ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหุ้นที่คุณซื้อจะขาดทุนไม่ได้นะครับ…

ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาในตลาดหุ้นที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ไม่คาดฝัน มี “ได้” ก็ต้องมี “เสีย” จะให้ซื้อหุ้นกี่ตัวก็ได้กำไรทุกครั้งคงเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่นักลงทุนเก่งๆ จะวางแผนเลยว่า ต้องทำอย่างไรให้ความผิดพลาด หรือหุ้นที่ขาดทุน ส่งผลกระทบต่อพอร์ตโดยรวมน้อยที่สุด ผลการลงทุนยังออกมากำไร

นั่นหมายความว่า นอกจากจะต้องเข้าใจลักษณะของธุรกิจที่คุณจะเข้าไปลงทุนแล้ว ควรหมั่นบริหารและจัดพอร์ตให้ดีด้วยครับ พยายามกระจายความเสี่ยงให้หุ้นแต่ละตัวให้เหมาะสม สุดท้ายแล้ว…ต่อให้มีหุ้นตัวใดตัวหนึ่งขาดทุน ตัวที่เหลือจะทำกำไรมาชดเชยได้ เงินต้นของคุณก็ยังคงปลอดภัยครับ

ส่วนใครมีสัญญาณเตือนภัยอื่นๆ ที่คอยสังเกตอยู่ ก็มาแชร์กันนะครับ จะได้หลีกเลี่ยงบริษัทแย่ๆ เหล่านี้ไปด้วยกัน