Jitta Signs และ Jitta Factors เป็นตัวบ่งชี้จุดอ่อนจุดแข็งของธุรกิจ ที่นักลงทุนนิยมดูควบคู่กับ Jitta Score เพื่อค้นหาว่าธุรกิจที่สนใจอยู่นั้น มีมิติไหนที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษบ้าง
โดย Jitta Signs จะทำหน้าที่เหมือนกับปากกาเน้นข้อความ ที่ไฮไลท์ผลประกอบการทั้งด้านบวกและลบของหุ้น สรุปให้คุณทราบในเบื้องต้นก่อน คุณจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไล่อ่านงบตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นหรือลดลงใน 5 ปีที่ผ่านมา กำไรเติบโตสม่ำเสมอหรือไม่ หนี้สินระยะยาวมากหรือน้อย หากแนวโน้มดี คุณจะเห็น Jitta Signs ขึ้นเป็นสีเขียว และถ้าไม่ดี คุณจะเห็น Jitta Signs ขึ้นเป็นสีแดง
ในอีกด้านหนึ่ง Jitta Factors จะทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพธุรกิจใน 5 มิติสำคัญๆ ได้แก่ โอกาสการเติบโตในอนาคต ผลประกอบการล่าสุด ความแข็งแกร่งทางการเงิน ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น และความสามารถในการแข่งขัน คำนวณออกมาเป็นคะแนนจาก 0-100 คะแนนยิ่งสูง คุณภาพธุรกิจในมิตินั้นๆ ยิ่งดี
ซึ่งล่าสุด ทีมงานได้อัปเดตทั้ง Jitta Signs และ Jitta Factors ให้ช่วยนักลงทุนวิเคราะห์หุ้นได้ละเอียดและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดย
- เพิ่ม Jitta Signs ใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์หุ้นเข้ามา ซึ่งหลายค่าใหม่ๆ นั้นเป็นค่าที่ใช้กับหุ้นกลุ่มการเงินโดยเฉพาะ ช่วยให้คุณทำความเข้าใจธุรกิจการเงินได้ง่ายขึ้นมาก
- ปรับวิธีการคำนวณ Jitta Factors ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับอัลกอริทึมวิเคราะห์ Jitta Score ที่เราได้อัปเดตไปเมื่อปลายปี 2562 ทำให้คุณคัดกรองหุ้นดีๆ เพื่อลงทุนได้แม่นยำยิ่งขึ้น
เพิ่ม Jitta Signs เห็นแววหุ้นการเงินในพริบตา
วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถือหุ้นการเงินเป็นส่วนใหญ่ของพอร์ต หรือประมาณ 40%
แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หุ้นเทคโนโลยีจะขยายสัดส่วนในพอร์ตมากขึ้นเรื่อยๆ จนตีตื้นขึ้นมาสูสีกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวอร์เรน บัฟเฟตต์นั้นเป็นแฟนตัวยงของธุรกิจการเงินมาโดยตลอด
นั่นก็เพราะเงินเป็นเสาหลักของโลกใบนี้ และไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน บริการทางด้านการเงินก็ยังจำเป็นอยู่เสมอ ที่สำคัญธุรกิจการเงินยังเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ดี ขยายตัวได้ในระยะยาว ตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ
บัฟเฟตต์จึงมักช้อนซื้อหุ้นการเงินเหล่านี้ในช่วงวิกฤตที่มูลค่าหุ้นตกต่ำสุดๆ อย่างวิกฤต Covid-19 ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ ราคาหุ้นกลุ่มการเงินร่วงลงต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน เป็นโอกาสให้นักลงทุนเข้าครอบครองธุรกิจ “อมตะ” ในราคาถูกจนแทบไม่เชื่อสายตา
อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างรายได้ที่ไม่เหมือนธุรกิจประเภทอื่นๆ ทำให้การวิเคราะห์หุ้นกลุ่มการเงินนั้นแตกต่างจากการวิเคราะห์หุ้นทั่วๆ ไป กล่าวคือ การวิเคราะห์รายได้จากการขาย ต้นทุน ค่าใช้จ่าย กำไรสุทธิ ใช้กับหุ้นกลุ่มการเงินไม่ได้
ดังนั้น เพื่อให้คุณแกะงบของหุ้นกลุ่มการเงินได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เราได้ดึงเอาค่าทางการเงินที่สำคัญๆ สำหรับวิเคราะห์หุ้นการเงินโดยเฉพาะ เพิ่มเข้าไปใน Jitta Signs ให้คุณเห็นไฮไลท์งบของหุ้นการเงินในพริบตา ตามรายละเอียดต่อไปนี้
- Total deposit วัดอัตราการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของเงินฝากของหุ้นกลุ่มธนาคาร
- Loan to deposit วิเคราะห์เสถียรภาพของหุ้นกลุ่มธนาคาร
- Net interest margin วัดอัตราการทำกำไรจากดอกเบี้ยของหุ้นกลุ่มธนาคาร
- Investment yield (ROI) วัดผลตอบแทนที่ทำได้ของหุ้นกลุ่มประกันภัย
- Loan yield วัดรายได้จากดอกเบี้ยของหุ้นกลุ่มสินเชื่อ
นอกจากอัตราส่วนสำคัญของหุ้นกลุ่มการเงินแล้ว การอัปเดตครั้งนี้ยังครอบคลุมถึงอัตราส่วนอื่นๆ ที่สำคัญต่อการวิเคราะห์สมรรถภาพและความมั่นคงของธุรกิจโดยทั่วไปอีกด้วย ได้แก่
- Interest coverage ratio วัดความสามารถของบริษัทในการจ่ายดอกเบี้ย
- Cash conversion cycle วัดสภาพคล่องของบริษัท
- SG&A to sales วัดประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริการ
ปรับแนวทางคำนวณ Jitta Factors
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา Jitta ได้พัฒนาอัลกอริทึมวิเคราะห์ Jitta Score และ Jitta Line โดยให้น้ำหนักกับความสม่ำเสมอของผลประกอบการในแต่ละปีมากกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถแยกหุ้นดีราคาเหมาะสม ออกจากหุ้นไม่น่าลงทุนได้แม่นยำยิ่งขึ้น คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากโพสต์นี้
ในการอัปเดตครั้งนี้ เราจึงปรับการคำนวณ Jitta Factors ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือให้น้ำหนักกับความสม่ำเสมอของผลประกอบการมากยิ่งขึ้น คุณจึงมั่นใจได้ว่า หุ้นที่ได้คะแนน Jitta Factors แต่ละมิติสูงๆ นั้น ต้องเป็นหุ้นที่เพิ่มสมรรถภาพของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ใช้เป็นพื้นฐานประเมินแนวโน้มในอนาคตของธุรกิจได้เป็นอย่างดี
หวังว่าการอัปเดต Jitta Signs และ Jitta Factors ครั้งนี้จะช่วยคุณคัดกรองหุ้นดีราคาเหมาะสมเพื่อลงทุนได้สะดวกรวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น หากคุณมีข้อสงสัยหรือเสนอแนะเพิ่มเติมใดๆ เกี่ยวกับ Jitta สามารถแจ้งทีมงานได้ตลอดเวลาที่ wonderful@jitta.com ไลน์ @Jittaway และ Facebook: Jitta Thailand