by Jitta
วันที่ 5 เม.ย. 2560 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 17 เม.ย. 2560
ควรขายหุ้นตอนไหนดี

คำถามนึงที่มักจะมีคนสงสัยเสมอก็คือ “ถ้าหากเราลงทุนแนวเน้นคุณค่า เราจะขายหุ้นได้ตอนไหน และ เราจะได้ใช้เงินเมื่อไหร่”

หลายๆคนที่หาคำตอบไม่ได้ ก็เลยทำให้ไม่อยากลงทุนแนวนี้ไปเลย เพราะกลัวจะไม่ได้ใช้เงิน

จริงเป็นเพราะคนส่วนมากยังไม่ค่อยเข้าใจหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่าสักเท่าไหร่ และมักจะเข้าใจไปในทางที่คนส่วนมากในตลาดหุ้นพูด เช่น ถือยาว ไม่ขายไม่ขาดทุน เป็นต้น เลยทำให้เกิดความสับสน

จริงๆการลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องว่าจะต้องถือยาวไปหลายปีนะครับ อาจจะถือไม่กี่เดือนแล้วขายออกไปก็ได้ เพราะแก่นจริงๆแล้วก็คือ การซื้อทรัพย์สินในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าของทรัพย์สิน หลังจากนั้นก็ค่อยขายเมื่อราคาสูงขึ้น หรือ เมื่อราคาเข้าใกล้มูลค่าที่เหมาะสมของทรัพย์สินนั้นๆ

เพียงแต่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอนเท่านั้นเองว่า ราคาจะเข้าใกล้มูลค่าของทรัพย์สินเมื่อไหร่ ทำให้บางครั้งถ้าสถานการณ์ไม่เป็นใจ ตลาดหุ้นโดยรวมไม่ดี ก็อาจจะต้องใช้เวลานานหน่อย ในขณะที่บางครั้ง หลังจากซื้อไปไม่นาน ราคาหุ้นก็อาจจะวิ่งขึ้นมาเข้าใกล้ราคาที่เหมาะสม เราก็อาจจะขายหุ้นนั้นออกไปได้เหมือนกันครับ

มีกรณีที่เราจะถือครองหุ้นยาวๆมากๆหลายๆปี กรณีเดียวนั่นก็คือ เมื่อเราได้มีโอกาสลงทุนในธุรกิจที่ยอดเยี่ยมมากๆ ได้ในราคาที่เหมาะสมหรือต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงในขณะที่เราลงทุน เพราะเมื่อมองในระยะยาวแล้ว ธุรกิจจะเติบโตและสร้างกำไรได้มากขึ้นทุกปี มูลค่าที่แท้จริงก็จะสูงขึ้นไปได้อีกมากในอนาคต และราคาหุ้นก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆตามมูลค่าที่แท้จริงไปด้วยนั่นเอง (เลยทำให้ไม่เคยต้องขายหุ้นออกมาเลยในระยะสั้น เพราะราคาในปัจจุบันจะต่ำมากเสมอ เมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริงในระยะยาว)

ดังนั้นการตัดสินใจที่จะขายหุ้นออกไปนั้น ปัจจัยหลักที่เราต้องนำมาพิจารณาควบคู่กันเสมอก็คือ

  1. คุณภาพของกิจการ
  2. ราคาหุ้นเข้าใกล้มูลค่าที่เหมาะสมมากแค่ไหน (ราคาหุ้นถูกแพงแค่ไหนแล้ว)
  3. ทางเลือกในการลงทุนอื่นๆที่ดีกว่า

ซึ่งเราก็ควรจะตอบคำถาม 3 ข้อนี้ เรียงลงมาตั้งแต่ข้อ 1-3 ก็จะทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะขายหุ้นดีไหม และถ้าขายจะไปลงทุนที่ไหนต่อ

เช่น เราคิดว่าอยากจะขายหุ้นบริษัท A ก็มาคิดว่า

  • คุณภาพของกิจการ : ดี (Jitta Score 6.5)
  • ราคาเทียบกับมูลค่า : สูงกว่ามูลค่า 12% (12% above Jitta Line)
  • ทางเลือกในการลงทุนที่ดีกว่า : หุ้น B, หุ้น P, หุ้น S

ซึ่งแน่นอนครับว่า เราต้องมีเหตุผลรองรับด้วยว่า ทำไมหุ้น B, หุ้น P, หุ้น S ถึงเป็นการลงทุนดีที่ดีกว่า เช่น หุ้นทั้ง 3 ตัวนี้ มี Jitta Score มากกว่า 7 และราคายังต่ำกว่า Jitta Line ทั้งหมด เป็นต้น

จากนั้นค่อยมาดูรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆเพิ่มเติมว่า ระหว่างหุ้น B, หุ้น P, หุ้น S นั้น ตัวไหนน่าลงทุนมากที่สุด ด้วย Jitta Factor, Jitta Signs หรือตัวเลขทางการเงินต่างๆในหน้า FactSheet ครับ

ด้วยวิธีนี้จะเห็นว่า การขายหุ้นของเราจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับราคาหุ้น หรือ กำไรที่ทำได้เลย และจะทำให้เราไม่มึนงง เพราะเรากรองหุ้นจาก 500 ตัว ลงมาเหลือทางเลือกการลงทุนที่ดีกว่า (การถือหุ้น A ต่อไป) ให้เรามาวิเคราะห์ต่อเพียงแค่ 3 ตัวเท่านั้นครับ และเมื่อขายหุ้น A ไปแล้ว ก็สามารถนำเงินไปลงทุนต่อได้ทันที ทำให้เงินเราทำงานตลอดเวลาครับ

ถ้าเผอิญเราวิเคราะห์แล้วว่า หุ้น S น่าลงทุนที่สุด และเผอิญเรามีหุ้น S อยู่ใน Portfolio แล้ว เราก็อาจจะขายหุ้น A ไปเพิ่มสัดส่วนหุ้น S ใน Portfolio จนถึงจุดสูงสุดที่เรากำหนดไว้ (เช่น ถือหุ้นตัวใดตัวนึงไม่เกิน 30% ของพอร์ต) จึงค่อยนำเงินที่เหลือไปลงทุนในหุ้นที่น่าลงทุนอันดับ 2 ครับ

ถ้าถัดมาอีก 7 เดือน ราคาหุ้น S เพิ่มสูงขึ้น เราอยากจะขายหุ้น S ก็มานั่งคิดต่อ 3 ข้อเหมือนเดิม

  • คุณภาพกิจการ : ดีมาก (Jitta Score 8)
  • ราคาเทียบกับมูลค่า : สูงกว่ามูลค่า 5% (5% above Jitta Line)
  • ทางเลือกการลงทุนที่ดีกว่า : ไม่มี

ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ก็เท่ากับว่า เราก็ยังไม่ควรขายหุ้น S ออกไป แม้ราคาจะขึ้นมาสูงว่ามูลค่าที่เหมาะสมพอสมควรแล้ว เพราะขายไปแล้วก็ไม่รู้จะเอาเงินไปลงทุนที่ไหนต่อ ก็อยู่เฉยๆดีกว่าครับ

(แน่นอนครับว่า ในกรณีที่เราลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ยอดเยี่ยมไว้แล้วนั้น ทางเลือกในการลงทุนที่ดีกว่า แทบจะไม่ค่อยมีอยู่แล้ว ก็จะทำให้เราถือหุ้นนั้นต่อไปเรื่อยๆเองครับ วิธีนี้จะช่วยลดความโลภจากการมองเห็นกำไรที่ทำได้ตรงหน้าแล้วอยากจะขายหุ้นเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ค่อนข้างดีครับ)

ด้วยหลักการเลือกลงทุนในทรัพย์สินที่ดีที่สุดอยู่เสมอ ก็จะทำให้เราสามารถทำผลตอบแทนชนะตลาดได้ในระยะยาวแน่นอนครับ (ระยะยาวตลาดจะมีผลตอบแทนราวๆ 12% ต่อปี)

เมื่อเรามีความสามารถในการทำผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวชนะตลาดแล้ว เช่น ทำได้ประมาณ 15% ต่อปี การนำเงินจากการลงทุนมาใช้ก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้วครับ อยู่ที่การเป้าหมายและแผนการทางการเงินให้ชัดเจนแค่นั้นเอง

ซึ่งวิธีการวางเป้าหมายการลงทุนและการนำเงินลงทุนออกมาใช้มีหลายแบบมาก ผมได้อธิบายเรื่องเหล่านี้ไว้เรียบร้อยแล้วใน Jitta 101 Part 5 ในนาทีที่ 9.25 นะครับ ใครที่สนใจก็ลองไปดูได้ครับ