by Jitta
วันที่ 5 เม.ย. 2560 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 19 ธ.ค. 2562
การคำนวณสัดส่วนการลงทุนด้วย Loss Chance

เมื่อนักลงทุนค้นพบกิจการที่ดีในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าและพร้อมจะลงทุนแล้วนั้น คำถามนึงที่ต้องเกิดขึ้นตามมาเสมอก็คือ “เราจะลงทุนในหุ้นนี้เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของพอร์ตดี”

ซึ่งคำถามนี้ก็เป็นคำถามที่ตอบได้ยากมากและขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของนักลงทุนแต่ละคนว่า มองเห็นโอกาสในการลงทุนนั้นๆมากน้อยแค่ไหน ยิ่งมั่นใจมากก็ลงทุนได้มากขึ้น แต่หลักการโดยทั่วไปแล้ว ก็ควรจะลงทุนในหุ้นแต่ละตัวไม่น้อยกว่า 10% และไม่มากเกิน 50% ของพอร์ต เพื่อให้เราได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าและไม่เสี่ยงมากจนเกินไป

ทั้งนี้เรื่องที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือ เราสามารถใช้ค่า Loss Chance บน Jitta เพื่อคำนวณสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมในหุ้นแต่ละตัวได้ทันทีครับ โดยใช้สูตรคำนวณดังนี้ครับ

สัดส่วนเงินลงทุน (Bet Sizing) = 50% – Loss Chance

เช่น ถ้าหากหุ้น A มี Loss Chance อยู่ที่ 35% แสดงว่า เราสามารถลงทุนได้ 50% – 35% = 15% ของมูลค่าพอร์ตทั้งหมดครับ ถ้ามีพอร์ตมูลค่า 1,000,000 บาท ก็ลงหุ้นนี้ได้ 150,000 บาท เป็นต้นครับ

ถ้าหุ้น B มี Loss Chance อยู่ที่ 20% ก็แสดงว่า เราลงทุนได้ประมาณ 30% ของพอร์ตเราครับ

สำหรับที่มาที่ไปของสูตรนี้ ก็อ้างอิงและพัฒนามาจาก Kelly Criterion ซึ่งเป็นสมการที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในโลกของการลงทุนครับ

โดยแรกเริ่ม Kelly Criterion ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อใช้ในการพนันทุกรูปแบบครับ เพื่อหาให้ได้ว่า ถ้าหากเรามีโอกาสที่จะชนะ x% ควรจะต้องลงเงินพนันแต่ละครั้งเท่าไหร่ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาวครับ

ซึ่ง Kelly Criterion ก็จะมีสูตรแบบย่อดังนี้ครับ

f = 2p – 1

โดย p คือ โอกาสที่จะชนะ

ดังนั้นถ้าหากว่า เรามีโอกาสที่จะชนะ 70% แสดงว่า ทุกๆ 10 ครั้ง เรามีโอกาสชนะและได้เงิน 7 ครั้ง ดังนั้นจำนวนเงินที่ลงได้ในแต่ละครั้งคือ

f = 2p – 1
f = 2*(0.7) – 1
f = 1.4 – 1
f = 0.4 = 40%

ดังนั้นถ้าหากเรามีโอกาสชนะ 70% เราควรจะลงเงินแต่ละครั้ง 40% ของเงินทั้งหมดที่มี ก็จะทำให้ได้รับผลตอบแทนมากที่สุดในระยะยาวครับ

ทีนี้เมื่อมีการนำมาใช้ในการลงทุนนั้น ก็ได้มีการปรับมาใช้สูตรที่เรียกว่า Half Kelly Criterion กันแทน เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนครับ เพราะนักลงทุนส่วนมากมักจะมีความมั่นใจมากไปเสมอ ทำให้มักจะมองว่าตนเองมีโอกาสชนะมากกว่าที่ควรจะเป็นครับ

ซึ่งนั่นคือความเสี่ยง เพราะถ้าหากเราคิดว่าโอกาสชนะของเราคือ 80% เราจะคำนวณเงินที่จะลงทุนได้เป็น 60% ของพอร์ต แต่ถ้าในความเป็นจริงเรามีโอกาสชนะเพียง 70% เราจะลงทุนได้เพียงแค่ 40% ของพอร์ตเท่านั้นเอง และถ้าหากเราลงทุนมากเกินไปและผิดพลาด อาจจะทำให้พอร์ตการลงทุนเสียหายหนักได้ครับ

ดังนั้น Half Kelly ก็เลยช่วยลดความเสี่ยงไปครึ่งนึง โดยการนำสัดส่วนเงินลงทุนที่หาได้จาก Kelly Criterion ไปหาร 2 ซะ

ดังนั้นถ้าหากเราคิดว่าโอกาสชนะคือ 80% และลงทุนตาม Kelly Criterion ได้ 60% ของพอร์ต เราจะป้องกันความเสี่ยงโดยลงทุนเพียงแค่ Half Kelly คือ 30% ครับ ทำให้โอกาสที่จะขาดทุนหนักๆจากความมั่นใจมากเกินไปน้อยลงมากครับ

ซึ่งสูตรของ Half Kelly นั้น ก็คือการนำสูตร Kelly Criterion มาหาร 2 หรือ ก็คือ

hf = f/2 = (2p – 1)/2
hf = p – 1/2
hf = p – 0.5

ทีนี้จำกันได้นะครับว่า p คือโอกาสชนะ ซึ่งถ้าหากเรามีโอกาสชนะ 70% ก็คือ เรามีโอกาสแพ้อยู่ที่ 100% – 70% = 30% หรืออีกนัยน์นึงก็คือ ถ้า q คือโอกาสที่จะแพ้นั้น แสดงว่า p = (1 – q)

เมื่อแทนค่า p = (1 – q) ลงในสูตร Half Kelly ด้านบนก็จะได้

hf = p – 0.5
hf = 1 – q – 0.5
hf = 0.5 – q

เป็นไงบ้างครับ ตอนนี้คิดว่าหลายๆคนคงร้องอ๋อกันแล้ว เพราะว่าค่า q หรือโอกาสที่จะแพ้นั้น บน Jitta ก็คือ Loss Chance นั่นเองครับ

ดังนั้นนี่ก็เลยเป็นที่มาของสูตรการคำนวณขนาดเงินลงทุนที่เหมาะสมจาก Jitta ด้วยการใช้ Loss Chance มาช่วย ที่ผมเขียนไว้ด้านบนนั่นเองครับ ก็ขอนำมาเขียนตรงนี้อีกทีเพื่อให้เทียบกับสูตร Half Kelly ได้ง่ายๆครับ

สัดส่วนเงินลงทุน (Bet Sizing) = 50% – Loss Chance

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางง่ายๆที่จะช่วยให้เราสามารถคำนวณสัดส่วนเงินที่จะลงทุนในหุ้นแต่ละตัวได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นเราก็อาจจะไปปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามประสบการณ์ของเราอีกทีครับ

และแน่นอนครับว่าจากสูตรนี้ทำให้เราเห็นได้ว่า หุ้นที่เราจะลงทุนนั้นควรจะมี Loss Chance อย่างมากสุดไม่เกิน 40% เพื่อให้เราลงทุนได้ในสัดส่วนอย่างน้อย 10% ของพอร์ตครับ ซึ่งก็ตรงตามที่ Peter Lynch และปู่ Warren Buffett สอนไว้ครับ

สรุปว่า นอกจาก Jitta จะช่วยให้เราค้นหา “บริษัทที่ยอดเยี่ยมในราคาที่เหมาะสม” ได้ง่ายขึ้นด้วย Jitta Score, Jitta Line แล้ว ก็ยังช่วยให้เราจัดสรรเงินลงทุนในแต่ละบริษัทได้อย่างเหมาะสมอย่างรวดเร็วด้วย Loss Chance อีกด้วยครับ

ก็หวังว่าทุกคนจะรัก Loss Chance เหมือนที่รัก Jitta Score และ Jitta Line กันเสมอมานะครับ 🙂

ใครสนใจศึกษาเรื่องไหนเพิ่มเติมลองดูด้านล่างได้เลยนะครับ

Kelly Criterion : http://en.wikipedia.org/wiki/Kelly_criterion
Jitta Loss Chance : Loss Chance มีประโยชน์อย่างไร
Asset Allocation : Jitta Portfolio Series # 2