by Monsicha Hoonsuwan
วันที่ 17 ส.ค. 2563 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 21 ส.ค. 2563
ยังไปต่อ! อัปเดตงบไตรมาส 2 หุ้นเทคสหรัฐฯ

ไฮไลท์

  1. หุ้นเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่รายได้ในช่วงปิดล็อกดาวน์จาก Covid-19 เติบโต ส่งผลให้ดัชนี Nasdaq ที่สะท้อนผลตอบแทนของกลุ่มเทคโนโลยี เป็นดัชนีเดียวที่กำไรในขณะที่ S&P 500 และ Dow Jones ยังอยู่ในเเดนลบ
  2. กลุ่ม Big Tech ทำรายได้ทะลุเป้าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ นำโดย Amazon ที่รายได้เพิ่มขึ้นถึง 40% ในขณะที่ Google รายได้ลดลงมาจากปีที่แล้วเล็กน้อย แต่ก็ยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
  3. ไม่ใช่หุ้นเทคโนโลยีทุกตัวจะได้รับอานิสงส์จาก Covid-19 หากดูสัดส่วนรายได้ของหุ้น Big Tech แล้วจะพบว่า ธุรกิจที่เติบโตได้ดีในช่วง Covid-19 คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบ cloud และเก็บค่าบริการแบบ subscription
  4. หุ้นซอฟต์แวร์ SaaS ที่ให้บริการผ่านระบบ cloud และสร้างรายได้จาก subscription สร้างรายได้ได้ดีเกินเป้าหมายที่นักวิเคราะห์คาดการณ์หลายบริษัท ทำให้ราคาหุ้นของธุรกิจซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในกลุ่มเทคโนโลยีด้วยกันเอง

สรุปงบหุ้นเทคโนโลยี ไตรมาส 2 ปี 2563

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์ต่างเตรียมใจกันไว้แล้วว่า น่าจะเป็นไตรมาสที่ผลประกอบการออกมาแย่ที่สุด เพราะเป็นช่วงปิดล็อกดาวน์ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับมรสุมที่สาหัสที่สุดในประวัติกาล GDP ทรุดฮวบ 32.9% หรือลดลง 9.5% จากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูล GDP เมื่อ 70 ปีก่อน

แต่กลับมีหุ้นกลุ่มหนึ่งทำรายได้เติบโตเกินความคาดหมาย

นั่นก็คือกลุ่มเทคโนโลยี นำโดย Big Tech อย่าง Apple Amazon และ Facebook ที่แม้จะมีประเด็นผูกขาดทางการค้ามาทำให้ตลาดหวั่นไหว

แต่งบไตรมาส 2 ออกมาได้จังหวะพอดี นักลงทุนพบว่ารายได้สูงเกินคาด แถมยังเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอีกด้วย ราคาหุ้นทั้ง 3 บริษัทจึงพากันวิ่งขึ้นต่อ

ทำให้ตั้งแต่ต้นปี ดัชนี Nasdaq ที่สะท้อนผลตอบแทนกลุ่มหุ้นเทคโนโลยี เป็นดัชนีเดียวที่ให้ผลตอบแทนจากเป็นบวกในขณะที่ S&P 500 และ Dow Jones ยังอยู่ในเเดนลบ

และดัชนี Nasdaq 100 Tech Sector ไตรมาส 2 เติบโตขึ้นถึง 29.38%

สรุปงบ Big Tech

Amazon

เริ่มจาก Amazon ที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าจะได้กำไรถล่มทลายจากสถานการณ์ Covid-19

ไม่น่าเชื่อว่ายังจะทำเซอร์ไพรส์ได้อีก!

ขนาด CEO เจฟฟ์ เบโซสยังบอกว่าเป็นไตรมาสที่ “ผิดธรรมดา” ด้วยรายได้รวมที่เพิ่มขึ้น 40% เย้ยไวรัส

หลักๆ มาจาก e-commerce เพราะจำนวนคนซื้อของชำผ่านเว็บไซต์ Amazon เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงที่ผ่านมา

ส่วน cloud solutions ของ Amazon Web Services หรือ AWS นั้น แม้รายได้รวมจะเพิ่มขึ้นแค่ 29% แต่กำไรจากการดำเนินงาน (operating profit) กระโดดขึ้นถึง 60% แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจ cloud ของ Amazon มีศักยภาพจะขึ้นแท่นธุรกิจหลักแทน e-commerce ได้ในอนาคต

Apple

สำหรับ Apple ที่ตอนแรกคาดว่ารายได้จะหดตัว เนื่องจากการปิดล็อกดาวน์ กลายเป็นว่ารายได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 11% ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยสำหรับบริษัท “รุ่นใหญ่” เพราะธุรกิจในเครือเติบโตเกือบทั้งหมด

ต้องขอบคุณยอดขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เติบโต 10% และคิดเป็นสัดส่วน 78% ของรายได้รวม นำโดย iPhone SE รุ่นใหม่ราคาย่อมเยาที่ดันยอดขาย iPhone ขึ้น 2% ในขณะเดียวกันยอดขาย iPad และ Mac ก็เพิ่มขึ้น 31% และ 22% ตามลำดับ คาดว่าเป็นผลมาจากการกักตัวอยู่บ้าน ควบกับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มเข้าบัญชีประชาชนอเมริกันในไตรมาสที่ผ่านมา

ฝั่งของ Apple Services (22% ของรายได้รวม) ครอบคลุมบริการ subscription อย่าง App Store บริการ Apple Music และ cloud ก็เติบโตไม่น้อยหน้า ยอดขายเพิ่มขึ้น 15% และมีจำนวนผู้สมัครสมาชิกถึง 550 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30% ทำให้รายได้ Services ปีนี้ เพิ่มเป็นสองเท่าของรายได้ปี 2559 ก่อนเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 6 เดือน

Facebook

ส่วน Facebook ที่รายได้หลักมาจากการโฆษณา และคาดกันว่าน่าจะได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ ต่างพากันลดค่าใช้จ่ายเพื่อประคองตนเองให้อยู่รอด

ยังไม่นับเรื่องที่โดนลูกค้าอย่าง Microsoft Unilever Starbucks Coca-Cola และอื่นๆ รวมกว่า 1,100 องค์กร แบนโฆษณา เพราะนโยบายจัดการกับข่าวลวงและข้อความประทุษร้าย เหยียดผิว เพศ ชาติพันธุ์ ศาสนา ของเฟซบุ๊ก นั้นขัดแย้งกับปรัชญาของแบรนด์

แต่เฟซบุ๊กก็ยังสู้อุตส่าห์ฝ่ามรสุมมาได้ด้วยรายได้ที่เติบโต 11% และยอดผู้ใช้งานรายวันที่เพิ่มขึ้น 12% เป็น 1.79 พันล้านคน

Google

อีกบริษัทที่รายได้ 80% มาจากการโฆษณาอย่าง Google นั้น ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่หดตัวมากกว่าเล็กน้อย รายได้ลดลงมา -1.5% จากปีที่แล้ว แต่ก็ยังทำเงินได้สูงเกินเป้าที่นักวิเคราะห์ตั้งไว้ โดยรายได้จากโฆษณาบน YouTube เพิ่มขึ้น 6% และ Google Cloud Platform ซึ่งเป็นบริการ cloud solutions ของ Google นั้นทำยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 43% ทีเดียว

Microsoft

จึงเป็นจุดแข็งของ Microsoft อย่างยิ่งที่รายได้หลักไม่ได้มาจากการโฆษณา แต่มาจากการให้บริการ cloud solutions และซอฟต์แวร์ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ทำให้มีภูมิต้านทาน Covid-19 พอสมควรa

รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 13% นั้นเกินเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ตั้งไว้ หลักๆ มาจาก Azure ซึ่งเป็นบริการ cloud computing ของ Microsoft ทำรายได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 47%

แม้ 47% ที่ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตที่ลดลง (ปีที่แล้วอัตราการเติบโตของรายได้ Azure อยู่ที่ 64%) แต่ก็ทำให้รายได้รวม 1 ปีจากธุรกิจ cloud ทะลุ $50,000 ล้านเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ Microsoft

นอกจากนี้ยอดขาย Surface ที่เพิ่มขึ้น 28% บวกกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจาก Windows (OEM และ Commercial) Microsoft Office 365 และ Xbox ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการล็อกดาวน์อยู่บ้านไปเต็มๆ ทำให้ไตรมาสที่ผ่านมาเป็นนาทีทองของ Microsoft อย่างแท้จริง

เวทีแจ้งเกิดของหุ้น SaaS

ผลประกอบการของ Big Tech แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีจะได้รับอานิสงส์จากการใช้ชีวิตแบบ new normal

ธุรกิจที่ดูจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ล็อกดาวน์เป็นพิเศษ นอกจาก e-commerce แล้ว ก็จะเป็นธุรกิจบริการด้านซอฟต์แวร์เช่น Microsoft Office 365 และ Apple Music

ส่งผลให้ราคาหุ้นของธุรกิจเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นด้วย โดยสถิติจาก Morningstar ชี้ว่า หุ้นเทคโนโลยีกลุ่มซอฟต์แวร์ทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจากต้นปีประมาณ 25% ตามมาด้วยหุ้นเทคโนโลยีกลุ่มฮาร์ดแวร์ ที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมาประมาณ 13% และกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 5%

กุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจซอฟต์แวร์ต้านทานมรสุม Covid-19 ได้ค่อนข้างดี เห็นจะเป็นการให้บริการบนอินเทอร์เน็ตผ่านระบบ cloud computing และระบบเก็บค่าบริการแบบ subscription ซึ่งเป็นคุณลักษณะของธุรกิจ software as a service หรือ SaaS อย่าง Microsoft Office 365 และ Apple Music รวมถึง Netflix และ Zoom ด้วย

Cloud computing ช่วยให้ธุรกิจ SaaS สามารถขยายตัวได้เร็วโดยไม่ต้องลงทุนเยอะ ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการจากที่ไหนก็ได้ที่มีอินเทอร์เน็ต จึงทำให้ซอฟต์แวร์เหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างมากในช่วงกักตัว

ในขณะที่ระบบการจัดเก็บค่าสมาชิกแบบ subscription ก็ทำให้ธุรกิจมีรายได้ที่ค่อนข้างคาดการณ์ได้ ทั้งยังเพิ่มรายได้ขึ้นเรื่อยๆ จากลูกค้าที่อัปเกรดเพื่อใช้ฟีเจอร์ขั้นสูง หรือลูกค้าจำเป็นต้องใช้พื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มขึ้น หรือในทีมมีจำนวนผู้ใช้งานร่วมกันมากขึ้น

ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จึงมีหลายบริษัท SaaS ที่บันทึกรายได้สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ เช่น

Netflix

หลังจากทำสถิติ ยอดผู้ใช้งานไตรมาสแรกของปี 2563 พุ่งกระฉูด เกือบ 16 ล้านคน หรือเกือบสองเท่าของที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ยอดสมาชิกใหม่ในไตรมาส 2 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เพิ่มมาอีก 10 ล้านคน พร้อมรายรับค่าสมาชิกที่สูงกว่าปีที่แล้ว 25%

โดยรวมแล้ว ครึ่งปีแรก Netflix ได้ยอดสมาชิกใหม่ไปแล้ว 26 ล้านคน หรือประมาณ 2.1 เท่าของยอด 12 ล้าน แม้ในครึ่งปีหลังนี้อัตราการเติบโตของสมาชิกอาจจะช้ากว่าครึ่งปีแรก แต่ยอดสมาชิกรวมทั้งปี 2563 ก็น่าจะสูงกว่า 2562 พอสมควร เพราะขาดอีกแค่ 2 ล้านคน ก็จะได้ยอดของปี 2562 แล้ว

ไม่ใช่แค่ยอดสมาชิกเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น แต่กำไรต่อหุ้น (EPS) ของ Netflix ก็เติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า (165%) เช่นกัน จาก $0.60 ต่อหุ้นปีที่แล้ว เป็น $1.59 ต่อหุ้น หรือ $720 ล้าน

แม้จะประสบปัญหาด้านการถ่ายทำบ้าง เนื่องจากการปิดล็อกดาวน์ แต่ Netflix ก็ยืนยันว่าแผนการเปิดตัวรายการใหม่ๆ ในปีนี้ยังเหมือนเดิม แถมปีหน้ามีแผนปล่อย Netflix Originals ออกมามากกว่าปีนี้อีกด้วย

ซึ่งการสร้างสรรค์รายการใหม่ๆ ออกมาให้ดีและเร็วกว่าคู่แข่งอย่าง Disney+ TikTok และ HBO Max นั้น เป็นกลยุทธ์การแข่งขันที่สำคัญของ Netflix เลยทีเดียว

Zoom

ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ video conference สุดฮิตที่ทุกคอมพิวเตอร์ต้องมีติดไว้ ประกาศรายได้ไตรมาสที่แล้ว สิ้นสุดเดือนเมษายน 2563 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 169%

การที่คนทั่วโลกหันมาใช้ Zoom กันอย่างถ้วนหน้า ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายเมื่อเทียบกับยอดขาย (SG&A to sale) ของ Zoom ลดลง และทำให้กำไรเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยกำไรสุทธิเติบโตขึ้นมากว่า 1,000%

ในแง่ผลิตภัณฑ์ Zoom ก็สามารถดึงลูกค้าให้อยู่กับแพลตฟอร์มได้มากขึ้น โดยบัญชีผู้ใช้งานประเภททีมที่มีสมาชิก 10 คนขึ้นไป เพิ่มมา 354% เป็นทั้งหมด 265,400 บัญชี ยิ่งผู้ใช้ในทีมเยอะ ยิ่งส่งผลให้เกิด network effect ทำให้เปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอื่นยากขึ้นนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้งานกันเป็นทีมแบบหลายๆ คน ทำให้ Zoom สร้างรายได้จากบัญชีลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้วได้มากขึ้นอีก กลายมาเป็น net dollar expansion rate ที่สูงกว่า 130% เป็นไตรมาสที่ 8 ติดต่อกัน

DocuSign

DocuSign เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี e-signature อันดับหนึ่งของโลก ไตรมาสล่าสุด (งบไตรมาส 1 ปี 2564 สิ้นสุดเดือนเมษายน 2563) รายรับรวมอยู่ที่ $297 ล้าน เพิ่มขึ้น 39% จากปีก่อน แบ่งเป็นรายได้จากค่าสมาชิก $280.9 ล้าน ที่เพิ่มขึ้น 39% รายได้บริการและอื่น ๆ $16.1 ล้าน เพิ่มขึ้น 29%

รายได้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี มาพร้อมจำนวนลูกค้ารายใหญ่ที่ทำสัญญาขั้นต่ำ $300,000 ต่อปี และกระแสเงินสดอิสระที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน โดยกระแสเงินสดอิสระอยู่ที่ $32.8 ล้านเทียบกับ $30.4 ล้านในช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าบริษัทนั้นสามารถสร้างกระแสเงินสดเพียงพอต่อการดำเนินงาน แต่ก็อยู่ในช่วงนำรายได้ไปลงทุนเพื่อต่อยอดการเติบโตให้สูงมากยิ่งขึ้น จึงยังไม่บันทึกกำไร

แม้จะเพิ่ง IPO ได้ไม่กี่ปี แต่ DocuSign บุกเบิกเทคโนโลยี e-signature และการทำเอกสารสัญญาแบบดิจิทัลมาแล้วประมาณ 17 ปี โด่งดังเป็นพลุแตกในช่วงล็อกดาวน์ ก็เพราะ DocuSign ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นแม้จะต้องเว้นระยะห่าง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมอบความสะดวกสบาย เชื่อมต่อกับยักษ์ใหญ่อย่าง Google Microsoft Oracle SAP และ Salesforce ได้

ล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา DocuSign ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี Nasdaq 100 แทนที่สายการบิน United Airlines ไปเรียบร้อย

Zendesk

ไม่ใช่แค่เอกสารสัญญาเท่านั้นที่พบกับ digital transformation แต่งานบริการลูกค้าก็เช่นกัน ธุรกิจต่างๆ ที่เคยให้บริการลูกค้าแบบตัวต่อตัว ต้องย้ายการทำงานทั้งหมดมาออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มเพื่อการดูแลลูกค้าอย่าง Zendesk ที่มีองค์กรหลากหลายขนาด เช่น Tesco Vimeo และ Uber เป็นลูกค้าอยู่

รายได้ไตรมาสที่ 2 ของ Zendesk ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์ตั้งเป้าไว้ เพิ่มจากปีที่แล้ว 27% เป็น $246.7 ล้าน แม้ Zendesk จะมีนโยบายปรับสัญญาและค่าบริการเพื่อช่วยเหลือลูกค้ากว่า 4,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและกลางที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19

แต่ลูกค้ารายใหญ่ก็ยังเป็นฐานรายได้ที่มั่นคง บวกกับการขยายธุรกิจในแถบยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาที่เติบโตสูงกว่าช่วงก่อน Covid-19 ระบาด ทำให้ Zendesk เชื่อว่าปี 2563 นี้จะทำรายได้ทะลุเป้า $1,000 ล้านได้ไม่ยาก

Adobe

สำหรับรุ่นใหญ่อย่าง Adobe ผู้อยู่เบื้องหลังโปรแกรม Photoshop และไฟล์ PDF แม้จะอยู่ในตลาดหุ้นมานาน แต่ก็ยังเติบโตเรื่อยๆ ล่าสุด Adobe ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ของปี 2563 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โชว์รายได้รายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติกาล ที่ $3,130 ล้าน เติบโตจากปีที่แล้วประมาณ 14% พร้อมกำไรต่อหุ้นที่ $2.45 สูงกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ และโตขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 34%

การที่คนสมัยนี้นิยมเสพสื่อจำพวกภาพและวิดีโอเป็นหลัก ทำให้ซอฟต์แวร์ของ Adobe ยังคงมีความสำคัญ และการเปลี่ยนมาให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านระบบ cloud แบบเต็มตัว พร้อมคิดค่าใช้บริการแบบ subscription ก็ทำให้ Adobe ยังสามารถขยายตัวได้เรื่อยๆ อย่างในไตรมาสที่ 2 บริษัทสร้างรายได้จากค่าสมาชิกเพิ่มขึ้น 17% เป็น $2,870 ล้าน

หุ้นเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไรหลัง Covid-19

ตอนนี้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคลุมเครือ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ในสหรัฐฯ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ Covid-19 ทะลุ 5 ล้านคน หรือเกือบ 2% ของประชากร ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ และอัตราการว่างงานสูงเกือบ 15% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

แม้จะได้รับประโยชน์จากการล็อกดาวน์ หลายๆ บริษัทเทคโนโลยีมองว่า ตัวเลขการเติบโตของผู้ใช้งานใหม่ที่สูงน่าประทับใจในครึ่งปีแรกนี้ น่าจะเพลาลงในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะคนส่วนใหญ่ผ่านช่วงปรับตัวเข้าสู่ digital transformation กันไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่คนจะเลิกใช้ซอฟต์แวร์ผ่านระบบ cloud หรือยุติการทำธุรกรรมออนไลน์หลังจากสถานการณ์คลี่คลายแล้วนั้น เป็นไปได้ค่อนข้างยาก

ทำให้หุ้น SaaS ที่เก็บค่าใช้จ่ายแบบ subscription นั้นเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจลงทุนในยามนี้ และหลังจากนี้ไปอีกยาวๆ

แต่บริษัท SaaS นั้นมีทั้งธุรกิจที่ดีและไม่ดี นักลงทุนจึงควรศึกษาโมเดลธุรกิจของบริษัทที่สนใจให้ถ้วนถี่ และพิจารณาราคากับอัตราการเติบโตของธุรกิจประกอบการลงทุนด้วย เพื่อไม่ให้ซื้อหุ้นมาในราคาที่แพงจนเกินไป

หากไม่ต้องการวิเคราะห์หุ้นด้วยตนเอง และสนใจกองทุนบริหารจัดการให้ Jitta Wealth ก็มีบริการใหม่ Jitta Ranking – U.S. Tech ที่จะพาคุณไปลงทุนหุ้นเทคโนโลยี cloud และ SaaS ในสหรัฐฯ โดยใช้อัลกอริทึม Jitta Ranking คัดเลือกธุรกิจเทคโนโลยีที่พื้นฐานดี เติบโตสูง พร้อมปรับพอร์ตให้ทุก 3 เดือน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.jittawealth.com/ustech

รวบรวมข้อมูลโดย ณัฐชัยพัฒน์ ส้มฉุน