หลักการลงทุนระยะยาวดีจริงหรือเปล่า
ทำไมต้องอดทนรอ ทั้งๆ ที่มูลค่าพอร์ตหายไปมากมาย
ทำไมไม่รีบขายหุ้นทั้งที่ขาดทุน แล้วเมื่อไรตลาดหุ้นจะเป็นขาขึ้น
นี่เป็นข้อกังวลของนักลงทุนส่วนใหญ่ ที่กระโดดเข้ามาลงทุนในหุ้น แล้วคาดหวังว่า เมื่อลงทุนแล้ว พอร์ตจะต้องเติบโต มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ
การลงทุนเป็นความเสี่ยง เพราะต้องเผชิญความไม่แน่นอนต่างๆ เศรษฐกิจแย่ วิกฤต ภาวะตลาดหุ้น อารมณ์ของนักลงทุน และพื้นฐานหุ้นบริษัทแย่ลง
แต่ทำไมนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ สร้างสินทรัพย์ได้เป็นหลักหมื่นล้าน หลักแสนล้าน หรือหลักล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ พวกเขาเผชิญภาวะแบบเดียวกับที่นักลงทุนทั่วโลกเจอกัน
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมพวกเขาสร้างพอร์ตให้โตเอาๆ แล้วทำไมคุณทำไม่ได้แบบนั้น
บทความนี้ เราจะพาคุณไปสำรวจชีวิตการลงทุนของสุดยอด ‘เซียนหุ้น Wall Street’ ทั้ง 10 คน ทำความรู้จักมุมมองและวิธีคิดของพวกเขา รวมไปถึงประโยคเด็ดๆ ที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลก
เพราะความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ลงมือทำเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ Mindset การลงทุนด้วย ถ้าหลักการถูกต้อง สินทรัพย์มีคุณภาพ ต่อให้เผชิญความไม่แน่นอนสักกี่ครั้ง พอร์ตลงทุนที่ดีจะผ่านไปได้อย่างแข็งแกร่ง
หากคุณอยากลงทุนให้ประสบความสำเร็จ ลองปรับ Mindset ไปกับ 10 ข้อคิดเด็ดๆ จาก ‘เซียนหุ้น Wall Street’ และเรียนรู้ประสบการณ์ลงทุนอันยาวนานไปกับพวกเขา
แล้วคุณจะเข้าใจว่า ลงทุนระยะยาวผ่านสินทรัพย์ที่ดี และได้กำไรที่ดี…มีอยู่จริง
เซียนหุ้น คนที่ 1 – Warren Buffett
คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากสำหรับ Warren Buffett คุณคงรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของ ‘เซียนหุ้น Wall Street’ คนนี้เป็นอย่างดี
ตอนเริ่มลงทุน ปู่ Buffett ในวัยหนุ่ม เริ่มซื้อหุ้นคุณภาพปานกลางในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าเป็นหลักตามแนวทางของ Benjamin Graham ผู้เป็นอาจารย์และเซียนหุ้นเช่นเดียวกัน
ก่อนจะนำสไตล์การลงทุนมาผสมผสานกับแนวทางของ Philip A. Fisher (เซียนหุ้นที่จะกล่าวถึงอีกคน) และแนวคิดเรื่องความได้เปรียบในการแข่งขันของกิจการ จนเกิดเป็นแนวทางการลงทุนที่มีความสมบูรณ์ในแบบของตัวเอง
ตลอดชีวิตการลงทุนนานกว่าครึ่งศตวรรษ ปู่ Buffett ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ +20.1% ต่อปี เอาชนะผลตอบแทนจากดัชนี S&P500 ที่ +10.5% ต่อปีไปได้แบบขาดลอย สิ่งนี้เองที่ทำให้ปู่เป็นตำนานการลงทุนที่ยังมีชีวิต
นอกจากเรื่องลงทุนแล้ว ปู่ Buffett ยังชอบเล่นไพ่บริดจ์ออนไลน์กับเพื่อนซี้ต่างวัยอย่าง Bill Gates (ผู้ก่อตั้ง Microsoft) ปู่ชอบดื่มโค้กเชอร์รี่ และมักยิงมุกตลกในที่ประชุมหรือจดหมายถึงผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway เป็นประจำ
ปู่ Buffet ถูกขนานนามว่า Oracle of Omaha โดยรวมเอาเมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา บ้านเกิดของเขา มากับความสำเร็จในฐานะนักลงทุนตลอดชีวิตของเขานั่นเอง
แพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta ได้นำสไตล์การลงทุนของ Buffett มาเป็นรากฐานในการพัฒนา AI และอัลกอริทึมมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงต่อยอดออกแบบพอร์ตลงทุน Jitta Ranking ที่ลงทุนได้ผ่าน Jitta Wealth
“ปิดประตูซะ…ผมจะบอกวิธีที่จะทำให้คุณรวยให้ฟัง จงกลัวเวลาที่คนอื่นโลภ และจงโลภเวลาที่คนอื่นกลัว”
“I will tell you how to become rich. Close the doors. Be fearful when others are greedy. Be greedy when others are fearful.”
– Warren Buffett
เซียนหุ้น คนที่ 2 – Charlie Munger
คู่หูเจนเนอเรชันเดียวกับปู่ Buffett ผู้เปลี่ยนแนวคิดการลงทุน จากเดิมที่เน้นหาหุ้นราคาต่ำกว่ามูลค่าจริง มาเป็นการซื้อหุ้นของบริษัทที่ยอดเยี่ยมในราคาที่เหมาะสม
ปู่ Charlie Munger ใฝ่รู้ในศาสตร์แขนงต่างๆ แล้วนำมาประกอบร่างเป็นไอเดียการลงทุนอยู่เสมอ เขาเป็นคนพูดขวานผ่าซาก แม้แต่ปู่ Buffett เองก็ยังไม่วายโดน Munger พูดแซะอยู่เป็นประจำ ตอนประชุมผู้ถือหุ้นของ Berkshire Hathaway
แม้ Munger จะไม่เคยพูดถึงหลักการลงทุนส่วนตัวแบบชัดเจน แต่เราพอปะติดปะต่อได้จากข้อมูลหลายๆ แหล่งว่า เขาชอบลงทุนในบริษัทที่เติบโตในราคาที่เหมาะสม มีข้อได้เปรียบทางธุรกิจ และให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลของผู้บริหารเป็นอย่างมาก
ระหว่างปี 2505-2518 ปู่ Munger บริหารกองทุนของตัวเองและทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ +19.8% ต่อปี ชนะดัชนี S&P500 ได้เยอะมาก ก่อนจะมานั่งเป็นรองประธานกรรมการ (Vice Chairman) ของ Berkshire Hathaway ตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา
นอกจากตำแหน่งที่ Berkshire Hathaway แล้ว ปู่ Munger ยังรับหน้าที่บริหารเงินลงทุนของสำนักข่าว Daily Journal และเป็น Co-founder ของบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย Munger, Tolles & Olsen ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ
ที่สำคัญที่สุด เขาเป็นเพื่อนรักตลอดกาลของ Warren Buffett และมีส่วนสำคัญต่อการลงทุนของ Berkshire Hathaway อย่างมาก
“การรอคอยคือสิ่งที่ช่วยให้คุณเป็นนักลงทุนที่ดี และคนส่วนใหญ่มักอดทนรอไม่ได้”
“It’s waiting that helps you as an investor, and a lot of people just can’t stand to wait.”
– Charlie Munger
เซียนหุ้น คนที่ 3 – Benjamin Graham
ผู้ได้รับฉายาว่า บิดาแห่งการลงทุนเน้นคุณค่า ผู้เป็นอาจารย์คนโปรดของ Buffett และผู้เขียนหนังสือ The Intelligent Investor ที่ Buffett ยกให้ว่าเป็นหนังสือการลงทุนที่ดีที่สุดในโลกตลอดกาล
Benjamin Graham เป็นผู้นำเสนอวิธีการลงทุนใหม่ๆ ให้กับโลก เขาเป็นผู้เปลี่ยนแนวคิดการลงทุนในหุ้นจากรูปแบบ ‘การเก็งกำไร’ สู่ ‘การลงทุน’ โดยเขาสามารถทำผลตอบแทนได้สูงถึง +20% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าดัชนีตลาดหุ้นอย่างมาก
ทุกทฤษฎีการลงทุนของ Graham จะใช้เหตุผลในการตัดสินใจลงทุน เขาทำให้นักลงทุนทั่วโลกได้รู้จักกับ Mr.Market หรือนายตลาด ซึ่งเป็นตัวแทนของตลาดหุ้นที่มีความผันผวนไม่แน่นอน โดยนักลงทุนต้องหาโอกาสเพื่อเอาประโยชน์จากความผันผวนของนายตลาดให้ได้
สิ่งที่ Graham บอกอยู่เสมอคือ หุ้นเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ คุณจึงควรตัดสินใจให้ดีก่อนที่จะลงทุนอยู่เสมอ อย่าเข้าไปซื้อเพราะคิดแค่ว่า ราคาหุ้นจะสูงขึ้นโดยไม่สนใจพื้นฐานใดๆ ของธุรกิจที่คุณกำลังจะเข้าไปเป็นเจ้าของ
สำหรับ Graham แล้ว นักลงทุนผู้ชาญฉลาด คือ นักลงทุนที่มีความอดทน มีวินัยในการลงทุน ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ และตัดสินใจอย่างรอบคอบก่อนที่จะลงทุนทุกครั้ง
“อย่าจริงจังกับผลตอบแทนรายปีมากไป แต่ให้โฟกัสที่ผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะ 4-5 ปีแทน”
“Do not take yearly results too seriously. Instead, focus on four or five-year averages”
– Benjamin Graham
เซียนหุ้น คนที่ 4 – Philip A. Fisher
บุคคลสำคัญผู้คิดค้นแนวคิดการลงทุนในหุ้นเติบโตที่ Buffett นำมาต่อยอด ซึ่งตัวปู่ Buffett เองเคยบอกว่า ตัวผมมีแนวทางการลงทุน 85% จาก Graham และ 15% จาก Fisher
Philip A. Fisher มีใจรักการลงทุนมาตั้งแต่เด็กและสนใจเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นอย่างมาก เขาศึกษาในคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย Stanford ซึ่งมักจะพาเขาไปเยี่ยมชมบริษัทต่างๆ ทุกสัปดาห์ ซึ่งจุดประกายแนวทางการลงทุนของเขา
แนวทางการลงทุนของ Fisher จะให้ความสำคัญกับ ‘ปัจจัยเชิงคุณภาพ’ สูงมาก โดยที่เขามีวิธีหาข้อมูลของธุรกิจที่โด่งดังชื่อว่า ‘Scuttlebutt’ โดยเป็นการสัมภาษณ์แบบเชิงลึก เพื่อรวบรวมข้อมูลของบริษัทที่จะลงทุน
หากคุณถาม Fisher ว่าควรจะถือหุ้นนานแค่ไหน จะได้คำตอบว่า ‘ตลอดไป’ หากปัจจัยพื้นฐานและคุณภาพของบริษัทที่ลงทุนยังดี ซึ่งตัว Fisher เองมีแนวทางการลงทุนในหุ้นน้อยตัว ตามธุรกิจที่ตัวเขาเองเข้าใจมากที่สุด
“ตลาดหุ้นเต็มไปด้วยคนที่คิดว่า ตัวเองรู้ราคาของทุกสิ่งทุกอย่าง แต่กลับไม่รู้มูลค่าของอะไรสักอย่างเลย”
“The stock market is filled with individuals who know the price of everything, but the value of nothing.”
– Philip A. Fisher
เซียนหุ้น คนที่ 5 – Peter Lynch
ผู้จัดการกองทุนระดับตำนานของ Fidelity Magellan Fund ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนแบบเข้าใจง่ายผ่านการเล่าเรื่อง และหนังสือต่างๆ ที่เขาเขียนขึ้น
Peter Lynch เข้าใจตลาดหุ้นเป็นอย่างดี จนสามารถแยกประเภทของหุ้นให้ผู้คนเข้าใจได้ง่ายๆ และยังบอกถึงความได้เปรียบของนักลงทุนรายย่อยที่มีโอกาสทำผลตอบแทนได้ดีกว่าผู้จัดการกองทุนระดับเทพแบบเขาด้วย
Lynch สามารถทำผลตอบแทนให้ Fidelity Magellan Fund ได้ถึง +29.2% ต่อปี ในช่วง 14 ปีที่เขาบริหาร (ปี 2520-2533) และกลายมาเป็นกองทุนที่ทำกำไรได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลาออกและกลายมาเป็นผู้จัดการกองทุนในตำนานของโลก
นอกจากนี้ Lynch ได้เขียนหนังสือการลงทุนมากมาย ซึ่งก็กลายมาเป็นหนังสือการลงทุนที่ขายดีที่สุดในโลกอย่าง อย่าง One Up on Wall Street ที่จะทำให้คุณได้รู้จักกับคำว่าหุ้นเด้ง และกลยุทธ์การลงทุนในรูปแบบที่คุณไม่คาดคิดมาก่อน
“การขายหุ้นที่ดีทิ้งและถือหุ้นที่แย่ไว้ ก็เหมือนกับการเด็ดดอกไม้ในสวนของคุณทิ้งและรดน้ำให้กับวัชพืช”
“Selling your winners and holding your losers is like cutting the flowers and watering the weeds.”
– Peter Lynch
เซียนหุ้น คนที่ 6 – John C. Bogle
นักลงทุนชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งบริษัทจัดการกองทุน Vanguard ที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก ซึ่งปู่ Buffett เองก็เคยชื่นชมว่า John C. Bogle คือฮีโร่ของชาวอเมริกันอย่างแท้จริง’
เพราะ Bogle คือ ผู้คิดค้นการลงทุนเชิงรับ (Passive Investment) ซึ่งเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนตามดัชนีตลาดหุ้น เมื่อกองทุนนำหลักการนี้มาใช้ในการบริหารสินทรัพย์ จะคิดค่าธรรมเนียมต่ำ ซึ่งปู่ Buffett เคยท้าพนัน เพื่อการกุศลกับผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์หลายๆ คน มาแล้ว
การลงทุนในกองทุนดัชนี (Index Fund) คือการลงทุนในหุ้นทุกบริษัทตามดัชนีอ้างอิง ทำให้คุณไม่จำเป็นต้องเสียเวลาค้นหาหรือวิเคราะห์หุ้นบริษัทที่มีผลประกอบการดี เพราะคุณได้กระจายเงินซื้อหุ้นทุกบริษัทที่อยู่ในดัชนีนั้นแล้ว
Bogle เชื่อว่า มันเป็นเรื่องยากมากที่จะสามารถเอาชนะตลาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดคือ ซื้อทั้งดัชนีและทำผลตอบแทนได้ตามดัชนีนั้นๆ ซึ่งในตอนแรกเป็นวิธีการลงทุนที่กูรูสายลงทุนหลายๆ คนดูถูก
กองทุนดัชนีกองแรกที่ Bogle ตั้งขึ้นมีชื่อว่า Vanguard 500 Index Fund (VFINX) โดยคิดค่าธรรมเนียมต่ำมากเพียง 0.25% ในขณะที่กองทุนอื่นๆ ที่บริหารเชิงรุกจะคิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่ 1.5-2.5% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
ในระยะยาว VFINX ทำผลตอบแทนได้อย่างน่าประทับใจและชนะกองทุนเชิงรุกได้ถึง 90% ในตลาดกองทุน ทำให้ผู้คนเริ่มยอมรับหลักการลงทุนเชิงรับกันมากขึ้น ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นเลยหากโลกนี้ไม่มีชายที่ชื่อ John C. Bogle ครับ
“อย่าพยายามมองหาเข็มที่อยู่ในกองฟาง แค่ซื้อทั้งกองฟางนั้นก็พอแล้ว”
“Don’t look for the needle in the haystack. Just buy the haystack!”
– John C. Bogle
เซียนหุ้น คนที่ 7 – Joel Greenblatt
นักลงทุนเน้นคุณค่าผู้ก่อตั้งบริษัทจัดการลงทุน Gotham Asset Management และเป็นผู้คิดค้นสูตร Magic Formula ที่ใช้อัตราส่วนทางการเงินเพียงแค่ 2 ตัวก็สามารถเอาชนะดัชนีตลาดหุ้นได้
ความสำเร็จและทักษะของ Joel Greenblatt ทำให้เขาสามารถสร้างผลตอบแทนรายปีสูงถึง +50% ก่อนหักภาษี หรือ +30% หลังหักภาษีและค่าธรรมเนียมกองทุนให้แก่นักลงทุนของเขาในช่วงปี 2531-2537
เขาเป็นผู้ก่อตั้งชมรมพิเศษ The Value Investor Club โดยรับนักลงทุนเน้นคุณค่าเพียง 250 คน เพื่อให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อตลาดหุ้น
ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาคือ หนังสือ The Little Book That Beats Market ที่นำเสนอแนวคิดและสูตร Magic Formula ของเขาต่อโลกแห่งการลงทุน
สูตร Magic Formula ของ Greenblatt ใช้ตัวแปรทางการเงินเพียงแค่ 2 ตัว คือ อัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (Return on Capital) และ ผลตอบแทนของกำไร (Earning Yield) เพื่อค้นหาหุ้นดีราคาถูก แต่สามารถสร้างผลตอบแทนชนะตลาดได้ในระยะยาว
Greenblatt ได้สร้างเว็บไซต์ https://www.magicformulainvesting.com/ ขึ้นมาให้นักลงทุนใช้งานได้ฟรี เพื่อค้นหาหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตามสูตร Magic Formula อันโด่งดังของเขา
“การเลือกหุ้นโดยไม่มีหลักการ ก็เหมือนกับการถือไม้ขีดไฟวิ่งผ่านโรงงานระเบิด คุณอาจจะรอดตายแต่คุณก็ยังดูโง่อยู่ดี”
“Choosing individual stocks without any idea of what you’re looking for is like running through a dynamite factory with a burning match. You may live, but you’re still an idiot.”
– Joel Greenblatt
เซียนหุ้น คนที่ 8 – Sir John Templeton
ชายผู้ก่อตั้ง Templeton Growth Fund ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง +15% ต่อปีในช่วง 39 ปีของกองทุน (ปี 2497-2535) และเป็นศิษย์ก้นกุฏิของ Graham สำนักเดียวกับปู่ Buffett
แนวทางการลงทุนของ Sir John Templeton จึงถอดแบบมาจากแนวทางของ Graham นั่นคือ การเน้นหาหุ้นที่ขายในราคาต่ำกว่ามูลค่าจริง แต่ที่ต่างกันคือ Templeton เสาะหาหุ้นจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ใช่เฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
Templeton อาศัยอยู่ที่เกาะบาฮามาสเป็นหลักตลอดชีวิตการทำงาน เพราะต้องการปลีกตัวจากโลก Wall Street และลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ให้ไกลที่สุด
เขาเป็นผู้ริเริ่มการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยกองทุนของเขาเป็นนักลงทุนสถาบันกลุ่มแรกที่ลงทุนในญี่ปุ่นเมื่อนานมาแล้ว และเป็นผู้คิดค้นกองทุนรวมรายอุตสาหกรรมอีกด้วยครับ
ก่อนเกิดวิกฤต Subprime ประมาณ 3 ปี เขาได้คาดการณ์ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดวิกฤตครั้งใหญ่จากตลาดที่อยู่อาศัย และทำนายว่า อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรจะตกลงจนเหลือศูนย์ได้อย่างแม่นยำจนน่าเหลือเชื่อมาแล้ว
หากคุณรู้จักอัตราส่วน P/E (Price-to-Earnings) Ratio และแนวคิดการปรับพอร์ตลงทุน (Portfolio Rebalance) แล้วละก็ Templeton ก็เป็นคนที่คิดค้นสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า วิชา Quantitative Finance
“ตลาดกระทิงเกิดขึ้นจากการมองโลกในแง่ร้าย เติบโตจากความสงสัย โตเต็มวัยจากการมองโลกในแง่ดี และตายจากไปเพราะความเคลิบเคลิ้ม”
“Bull markets are born on pessimism, grow on skepticism, mature on optimism, and die on euphoria.”
– Sir John Templeton
เซียนหุ้น คนที่ 9 – Mohnish Pabrai
อดีตพนักงานและเจ้าของบริษัท IT ชาวอินเดียที่ผันตัวมาเป็นนักลงทุน ผู้เขียนหนังสือ The Dhandho Investor: The Low-Risk Value Method to High Returns หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘นักลงทุนดันโด’ นั่นเอง
โดยในหนังสือ เขาได้อธิบายแนวคิดการลงทุนของเขาพร้อมยกตัวอย่างการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ นอกเหนือจากหุ้นเพื่อถ่ายทอดแนวคิดของเขาเอาไว้ด้วย ถือเป็นหนังสือที่ด้านการลงทุนที่น่าอ่านมาก
แนวทางการลงทุนของ Mohnish Pabrai ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปู่ Buffett และนักลงทุน VI (Value Investing) คนอื่นๆ และนำมาต่อยอดจนกลายเป็นแนวทางการลงทุนของตัวเอง
แนวคิดการลงทุนของ Pabrai สามารถสรุปเป็นประโยคสั้นๆ ได้ว่า มองหาการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงอยู่เสมอ
ปัจจุบัน Pabrai บริหารกองทุนของตัวเองชื่อว่า Pabrai Investment Fund ที่มีแนวทางการลงทุนหุ้นคุณค่าแบบโฟกัส โดยจะลงทุนหุ้นอยู่เพียงไม่กี่บริษัทในช่วงเวลานั้นๆ
“คุณไม่ได้ทำเงิน ด้วยการซื้อหรือขายหุ้น แต่คุณทำเงินได้ด้วยการเฝ้ารอ”
“You don’t make money when you buy stocks. And you don’t make money when you sell stocks. You make money by waiting.”
– Monish Pabrai
เซียนหุ้น คนที่ 10 – Ray Dalio
ชายผู้ร่วมก่อตั้งและบริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในโลกชื่อ Bridgewater Associates ซึ่งตัวเขาไม่ได้ใช้แนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่าเท่าไรนัก
แต่ Ray Dalio ถือเป็นผู้ปลุกปั้นแนวคิดการกระจายความเสี่ยง (Asset Allocation) ในปัจจุบัน ซึ่งถูกนำไปต่อยอดอีกมากมาย เช่น กองทุนรวมที่เน้นเรื่อง Asset Allocation เพื่อทำผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาด
แนวทางการลงทุนของ Bridgewater Associates จะเน้นลงทุนตามหลักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ Dalio เชี่ยวชาญ โดยมักลงทุนในตราสารทางการเงินที่ผูกโยงกับอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยพันธบัตรของประเทศต่างๆ
ซึ่งที่จริง ก็เป็นแนวคิดเดียวกับนักลงทุน VI คนอื่นๆ ที่มุ่งเน้นลงทุนในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจอย่างถ่องแท้เท่านั้น
ตัว Dalio เองยังเขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น หนังสือ How The Economic Machine Works หนังสือ Principles: Life and Work, Principles For Success หนังสือ Big Debt Crises และหนังสือ The Changing World Order
ในแง่การบริหารธุรกิจ Dalio ก็คิดค้นหลักการที่ถูกนำมาใช้อยู่เสมอ เรียกว่า Radical Transparency เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้ไอเดียที่ดีสุด ซึ่งเขาอธิบายไว้อย่างละเอียดในหนังสือเช่นเดียวกัน
และตัว Dalio เองยังนั่งสมาธิแบบ Transcendental Meditation อยู่เป็นประจำ โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า การนั่งสมาธิมีส่วนสำคัญอย่างมากกับทุกความสำเร็จในชีวิตของเขา
“คุณควรกระจายการลงทุนให้เหมือนกับว่าคุณไม่รู้อนาคต”
“You should have a strategic asset allocation mix that assumes that you don’t know what the future is going to hold.”
– Ray Dalio
นี่คือ 10 ข้อคิดเด็ดๆ จาก ‘เซียนหุ้น Wall Street’ เป็นวิธีคิดหรือ Mindset ของพวกเขา ที่ทำให้ประสบความสำเร็จสูงจากการลงทุนในตลาดหุ้น
หากคุณต้องการลงทุนให้สำเร็จ สร้างความมั่งคั่งจากหุ้นบริษัท พื้นฐานดี กองทุนดัชนี และ ETF (Exchange Traded Fund) นอกจากนี้ความเข้าใจในสินทรัพย์ที่คุณเลือกลงทุนแล้ว Mindset ที่ดีและโฟกัสที่เป้าหมาย เป็นสิ่งที่คุณต้องมีเช่นเดียวกัน
ถ้าอยากสำเร็จ ก็ต้องเอาตัวคุณเอง ไปสัมผัสและเรียนรู้จากคนที่สำเร็จแล้ว การลงทุนในหุ้น…ฉันใดฉันนั้น
เหล่า ‘เซียนหุ้น Wall Street’ นี้ กว่าเขาจะสำเร็จ บริหารเงินลงทุนมหาศาล พวกเขาล้วนเรียนรู้และผิดพลาดกันมาก่อนทั้งนั้น เส้นทางของพวกเขาในโลกการลงทุนหลายๆ ทศวรรษ เป็นบทพิสูจน์ได้ดี
และหลักการลงทุนจาก 10 เซียนหุ้น Wall Street กลุ่มนี้ เป็นพื้นฐานพันธกิจของ Jitta และ Jitta Wealth ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีวิเคราะห์หุ้นพื้นฐานดี และออกแบบหลักการลงทุนระยะยาว ที่มีประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนทบต้นอย่างยั่งยืน
ถ้าวิธีคิดและหลักการเหล่านี้ ไม่มีข้อพิสูจน์และวัดผลสำเร็จได้จริง แพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta ไม่อยู่กับนักลงทุนทั่วโลกมาได้นานถึง 10 ปีอย่างแน่นอน
จากทศวรรษแรก สู่ทศวรรษที่ 2 ทั้ง Jitta และ Jitta Wealth จะพิสูจน์หลักการลงทุนจาก 10 ข้อคิด ‘เซียนหุ้น Wall Street’ เป็นเพื่อนร่วมเส้นทางการลงทุนไปพร้อมกับคุณ
เพราะหลักการลงทุนที่ดี จะพอร์ตลงทุนของคุณให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
อ่านบทความดีๆ และหลักการลงทุนจาก Jitta
1 ทศวรรษ กว่าจะเป็นฟินเทคไทย Jitta และ Jitta Wealth
Jitta Ranking ปี 2564 ผลตอบแทนชนะดัชนีตลาดหุ้น
Jitta เลือกหุ้นดี กับความเสี่ยงที่ลดลง ด้วยอัลกอริทึมใหม่ เวอร์ชัน 4.0