by Thatree Homsirikamol
วันที่ 20 ม.ค. 2563 • อัปเดตล่าสุดเมื่อ: วันที่ 24 ม.ค. 2563
ไฮไลท์ 10 อันดับหุ้นพื้นฐานเด่น 2019 พร้อมแนวทางล้วงหาหุ้นแกร่งลงทุนปี 2020 (Part 4)

RETURN ON ASSETS
10 อันดับบริษัทที่อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สูงที่สุด

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (return on assets หรือ ROA) บอกคุณว่าทรัพย์สินที่บริษัทมีแต่ละบาท สามารถนำไปแปรสภาพเป็นกำไรได้ดีแค่ไหน หรือพูดง่ายๆ คือ บริษัทใช้ทรัพย์สินที่ตนเองมีอยู่แล้วไปต่อยอดทำธุรกิจได้มีคุ้มค่ามั้ย ดังนั้น ROA ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะแสดงว่าบริษัทสามารถทำกำไรและสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ในบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

แต่มีข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ ถ้า ROA สูงๆ มาพร้อมกับหนี้สินสูงๆ ด้วยแล้วละก็ แสดงว่าผลตอบแทนที่ได้สร้างมาจากการกู้ยืม ไม่ใช่เงินลงทุนครับ แบบนี้ค่อนข้างอันตรายเหมือนกัน

ประเด็นนี้ดูคร่าวๆ ได้จากการเปรียบเทียบ ROA กับ ROE ครับ ถ้าทั้งสองค่าเท่ากัน แสดงว่าบริษัทไม่มีหนี้ แต่ถ้ามีหนี้ ROE จะมากกว่า ROA ครับ

นอกจากนี้ การวัด ROA ที่ดีที่สุด คือการดูแนวโน้มของ ROA ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของบริษัท พร้อมนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย เพื่อให้เห็นสมรรถภาพของธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
จากตารางนี้ จะเห็นว่าหุ้น AUCT นั้น ROA ดีเป็นอันดับ 1 (19.7) ในขณะที่ ROE ดีเป็นอันดับ 3 (48.7) แถมค่า PEG ก็ยังต่ำเป็นอันดับ 7 หมายความว่าเป็นหุ้นที่มีสมรรถภาพบริหารจัดการเงินลงทุน สินทรัพย์ดี และแม้ราคาจะเพิ่มขึ้นมาแล้ว 42% ในปีที่แล้ว แต่ก็ถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับการเติบโตของกำไรครับ

RETURN ON INVESTMENT CAPITAL (ROIC)
10 อันดับบริษัทที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงานสูงที่สุด

อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงาน (ROIC) จะคล้ายๆ กับ ROE ตรงที่เอาไว้ดูว่าบริษัทเอาเงินลงทุนไปแล้วทำผลตอบแทนกลับมาได้เท่าไหร่ แต่มีมิติมากกว่า ROE ตรงที่จะคำนึงถึงหนี้สินด้วย

เพราะ ROE แค่ดูว่าเอาเงินของนักลงทุนอย่างเราไปลงทุนได้กำไรเท่าไหร่ แต่ในความเป็นจริง บริษัทคงไม่ได้ระดมทุนจากนักลงทุนอย่างเราไปเท่านั้นครับ คงต้องมีการไปกู้หนี้ยืมสินมาทำธุรกิจด้วย

มาตรฐานของตัว ROIC ควรมากกว่า Cost of Capital (WACC) 2% ขึ้นไปครับ ยิ่งสูง ยิ่งหมายความว่าบริษัทสามารถทำผลตอบแทนได้ดีจากเงินลงทุน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็จะเห็นว่าบริษัทที่มี ROIC สูงกว่าจะได้เปรียบกว่า เพราะสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่าด้วยเงินลงทุนที่เท่ากัน นอกจากนี้ยังสามารถดูแนวโน้ม ROIC ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของบริษัท เพื่อดูความสม่ำเสมอของการบริหารจัดการเงินทุนได้ด้วยครับ

ส่วนใหญ่แล้ว นักลงทุนจะดูค่า ROIC คู่กับ WACC หรือ weighted average cost of capital เพราะ ROIC แสดงถึงผลตอบแทน ในขณะที่ WACC แสดงถึงต้นทุนที่ใช้ไป ถ้า ROIC สูงกว่า WACC ก็แปลว่าบริษัทหาผลตอบแทนได้สูงกว่าต้นทุนที่ต้องจ่ายไปครับ

DEBT TO EQUITY RATIO
10 อันดับบริษัทที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำที่สุด

อัตราส่วนยอดฮิตของนักลงทุนตัวนี้แสดงสัดส่วนการกู้หนี้ยืมสินว่าเป็นกี่เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้นครับ

การพิจารณาค่า D/E ไม่มีค่าตายตัวว่าสามารถกู้เกินได้กี่เท่าของสินทรัพย์ครับ แต่หลักๆ คือบริษัทที่มี D/E ต่ำๆ ค่อนข้างมีความมั่นคงกว่าบริษัทที่ D/E สูงๆ เจอวิกฤตก็น่าจะสามารถกู้เงินมาใช้ในยามคับขันได้อยู่ แต่ถ้า D/E สูง บริษัทก็มีโอกาสที่จะไม่สามารถชำระดอกเบี้ย จนอาจถูกฟ้องล้มละลายได้ และถ้าสูงกว่า 2 เท่าก็เริ่มกู้เงินยากแล้ว เกิดวิกฤตขึ้นมาก็ย่ำแย่ได้ง่ายๆ เลยครับ

แต่ว่า ก็ต้องดู business model ประกอบกันไปด้วยนะครับ เช่น บริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโต จำเป็นต้องกู้เงินมาใช้ดำเนินงานเพื่อให้บริษัทเติบโตได้เต็มที่ ซึ่งถ้าบริษัทความคุมความเสี่ยงได้ การที่ D/E สูงหน่อยก็น่าจะมองเป็นโอกาสมากกว่า กลับกัน ถ้า D/E เป็น 0 แสดงว่าบริษัทไม่ใช้ประโยชน์จากการกู้เงินมาเพิ่มอัตราการเติบโตของตนเอง เป็นการเสียโอกาสครับ

นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มธนาคารที่ธุรกิจมีการกู้เงินมาเพื่อปล่อยกู้ ก็อาจจะมีค่า D/E สูงถึง 10 เท่าได้ครับ

หมายเหตุ: หุ้นที่ D/E เป็น 0 และ Jitta Score สูงกว่าหรือเท่ากับ 5 มีทั้งหมด 36 หุ้น ปีที่แล้วราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% หรือ 3% ถ้าตัด SPVI ออก

JITTA FACTOR: COMPETITIVE ADVANTAGE
10 อันดับบริษัทที่คะแนน Jitta Factor หมวด Competitive Advantage สูงที่สุด

เพราะธุรกิจคือการแข่งขัน ใครที่ชอบธุรกิจที่มีปราการดีๆ มีจุดขายโดดเด่นที่คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ หรือเป็นธุรกิจแบบ blue ocean ที่มี barrier of entry สูง คู่แข่งน้อย มีศักยภาพเติบโตต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องกลัวคู่แข่งมาแย่งส่วนแบ่งการตลาด สามารถดู Jitta Factor: Competitive Advantage ตัวนี้ก่อนได้เลยครับ 

หลักการที่ Jitta ใช้คำนวณ Competitive Advantage นั้นซับซ้อนที่สุดในหมู่ Jitta Factors เลยทีเดียวครับ เพราะใช้ตัวเลขและอัตราส่วนทางการเงินเยอะมาก และมีตรรกะวิธีวิเคราะห์ที่ลึกล้ำไม่แพ้ Jitta Score โดยจะดูข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรายได้และกำไรเติบโตขึ้นมากแค่ไหน มากหรือน้อยกว่าอุตสาหกรรมโดยรวม และถ้าหากว่ารายได้และกำไรเติบโตเท่ากัน บริษัทไหนที่กระแสเงินสดดีกว่า บริษัทไหนที่ควบคุมต้นทุนและมี economies of scale ที่ดีกว่า ถ้าหากทุกอย่างเหมือนกัน บริษัทไหนใช้หนี้สินน้อยกว่าในการสร้างกำไรที่เท่ากัน และบริษัทไหนที่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าเพื่อสร้างกำไรที่เท่ากัน บริษัทเหล่านั้นก็ย่อมจะต้องมี Competitive Advantage ที่ดีกว่า เป็นต้น

ทำให้ Competitive Advantage เป็นค่าแรกๆ ที่นักลงทุนนิยมเข้ามาดูกัน ก่อนที่จะเข้าไปวิเคราะห์หุ้นลงรายละเอียดใน Jitta FactSheet ต่อไปครับ


อ่านต่อ